10 มกราคม 2562

สมาคมโรคติดเชื้ออเมริกาออกแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2018

ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องได้รับยาต้านไวรัสในการรักษาไข้หวัดใหญ่
สมาคมโรคติดเชื้ออเมริกาออกแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2018 ออกมาใหม่ ผมทำลิ้งก์ฉบับฟรีมาให้ด้านล่างและสรุปความสำคัญที่ประชาชนควรทราบมาสั้น ๆ เหมือนเดิม 10 ข้อ
1. ไข้หวัดใหญ่มีอาการได้หลากหลายตั้งแต่น้ำมูกใส ไข้สูง ไปจนถึงหายใจล้มเหลว เหมือนกับการติดเชื้อไวรัสอีกหลายอย่างและเหมือนกับการติดเชื้อแบคทีเรียปอดอักเสบอีกหลายอย่าง รวมทั้งมีอาการระบบอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะอาการระบบหัวใจและหลอดเลือดที่แย่ลงต้องคิดถึงตรงนี้ด้วย อาการสมองอักเสบก็พบได้เช่นกัน แต่ส่วนมากเลยนะครับ คือ อาการทางระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข้สูงและไอมาก
2. ในเมื่ออาการมันแยกยาก สิ่งสำคัญคือ ความน่าจะเป็นการเกิดโรคในขณะนั้น ความถี่ความชุกของโรค แปลอีกคิอว่า ตอนนั้นอยู่ในฤดูระบาดประจำปีหรือไม่ มีการระบาดนอกฤดูแบบวิสามัญหรือไม่ หรือไปเที่ยวในแดนระบาด หรือสัมผัสคนที่เป็นโรคมาโดยตรง กลุ่มนี้คือมีความน่าจะเป็นสูง ถ้ามีอาการในข้อหนึ่ง ก็ต้องนึกถึงการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากขึ้น
3. ถึงแม้จะเป็นจริงจากข้อมูลตามข้อหนึ่งและข้อสอง ก็ต้องบอกว่าเกือบทั้งหมดจะอาการไม่รุนแรง หายเองได้ หรือมาหาหมอแบบผู้ป่วยนอก ที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือรุนแรงนั้นพบน้อย ไม่เกิน 10% แล้วใครที่จะรุนแรงล่ะ มีไม่กี่กลุ่มคือ ภูมิคุ้มกันไม่ดีเช่นเป็นมะเร็ง ให้ยาเคมีบำบัด ปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่าสองปีหรือสูงวัยมากกว่า 65 กลุ่มคนท้องและคนอ้วน สุดท้ายคือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวรุนแรง ไตเสื่อมตับไม่ดีหัวใจวาย เป็นต้น
4. เราจะให้การรักษาเมื่อโรครุนแรงหรือโอกาสจะเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคในข้อสาม การพิจารณารักษาอาจเป็นได้ทั้งพิสูจน์พบเชื้อชัดเจนหรือแค่มีความเป็นไปได้สูงจากข้อหนึ่งถึงสามมารวมกัน ส่วนคนที่ไม่เข้าข่ายอาจทำการทดสอบให้ชัด ๆ ก่อนหรือรักษาประคับประคองไปก่อนก็ได้ หรือถ้าอาการไม่มากและแข็งแรงดีจะเลือกติดตามผลก็ได้ การรักษาโดยการกินยาป้องกันเชื้อกระจายนั้น ไม่ได้ช่วยลดเชื้อ ลดการเกิดโรคกับคนอื่น จะแพร่เชื้อไหมขึ้นกับการป้องกัน ใส่หน้ากาก การล้างมือ ฉีดวัคซีนต่างหาก
5. แล้วถ้าจะทดสอบจะทำอย่างไร เราเลือกทำการทดสอบเมื่อผลแห่งการทดสอบจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการรักษา ถ้าตัดสินว่าไม่จำเป็นต้องให้ยา หรือต้องให้ยาแน่ ๆ ก็ไม่ต้องทดสอบก็ได้ อย่าลีมว่าในข้อสี่เราให้ยาโดยสงสัยมาก ๆ ได้ ไม่ต้องรอผลยืนยัน (แต่ถ้ายืนยันได้ก็ดี) จะมีผลในเชิงการศึกษาโรคและการป้องกันโรคด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของการทดสอบทำให้ต้องคิดเล็กน้อยเพราะว่าข้อ 6 ที่จะกล่าวต่อไป
6. คำแนะนำการทดสอบให้ใช้การตรวจสารพันธุกรรม nucleic acid test โดย RT-PCR จากการเก็บสิ่งส่งตรวจหลังโพรงจมูก เพราะความไวสูงความจำเพาะดี แยกชนิดไวรัสได้ แต่ราคาแพงและ "นาน" เพราะทำไม่ได้ทุกที่ต้องส่งต่อ การทดสอบที่ใช้มาก ๆ ตอนนี้คือหาแอนติเจนของไวรัสที่มีความไวต่ำแต่ความจำเพาะสูง พูดง่ายๆคือถ้าโอกาสเกิดโรคตามข้อสองมันน้อยเกิดผลเป็นบวกจะเชื่อยาก และถ้าโอกาสเกิดโรคสูงเกิดผลเป็นลบก็ของปลอม ต้องส่งตรวจสารพันธุกรรมยืนยัน
ก่อนไปข้อเจ็ด...เพราะประเทศไทยมีการทดสอบแอนติเจนมากมายและพร้อมในทุกโรงพยาบาล จึงต้องเข้าใจข้อดีและข้อจำกัดของการทดสอบนี้ ถ้าเข้าใจข้อดีข้อจำกัดและแปลผล PPV NPV ได้ดี ส่วนตัวคิดว่ายังเกิดประโยชน์มากเพราะราคาถูก พร้อมใช้ และเร็ว
7. การทดสอบและการรักษาควรทำรวดเร็วเพราะยิ่งรักษาเร็วยิ่งเกิดประโยชน์ (ถ้าจำเป็นต้องให้ยานะ) ยิ่งตัดสินใจช้า การให้ยายิ่งลดประโยชน์ลง ดังนั้นความเร็วในข้อหกจึงสำคัญเช่นกัน การรักษาเมื่อผ่านไปสี่ห้าวันประโยชน์ลดลงมากจะดีแค่บางกลุ่มเท่านั้น คำแนะนำตามข้อสี่จึงสำคัญ อ้อ..อย่าลืมแยกโรคอื่น ไวรัสตัวอื่นและแบคทีเรียไปพร้อม ๆ กันและให้การรักษาโรคอื่นที่เป็นไปได้ร่วมกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย
8. ยาที่ใช้ ยากิน oseltamivir หนึ่งเม็ดเช้าเย็นเป็นเวลาห้าวัน ง่ายสุดสะดวกสุดประสิทธิภาพดี ยาพ่นจมูก zanamivir และยาฉีด peramivir เลือกใช้ได้ ห้าวันเหมือนกันใช้เมื่อไม่สามารถใช้ยากินได้ (ยาฉีดให้แค่ครั้งเดียว) อย่าลืมปรับยาตามการทำงานของไต ผลข้างเคียงของยาที่สำคัญคือ คลื่นไส้อาเจียน อาจต้องใช้ยาแก้อาเจียนถ้าจำเป็น การให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนหรือหลังสัมผัสโรคคำแนะนำยังไม่หนักแน่น ให้เลือกใช้ในบางกรณี
9. สิ่งที่ดีในการป้องกันคือการฉีดวัคซีน หลายกรณีในการให้ยาป้องกันเมื่อสัมผัสโรคจะต้องพิจารณาเรื่องการได้รับวัคซีนมาก่อนด้วย และตามข้อสามแสดงว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมักไม่รู้ตัวและแพร่กระจายโรคได้ง่าย การฉีดวัคซีนนอกจากลดโอกาสติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค ลดผลแทรกซ้อนที่จะเกิดยังสามารรถลดการแพร่กระจายจากเราเองนี่แหละครับที่เป็นพาหะนำโรค
10. เรื่องเชื้อดื้อยา การรักษาในกรณีไม่ดีขึ้น การดูแลในภาวะพิเศษเช่นตั้งครรภ์ สูงวัย อ้วนมาก เด็ก การควบคุมการระบาดในโรงพยาบาล การติดเชื้อในโรงพยาบาล มีอยู่ในคำแนะนำและอ้างอิง หรือปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านท่าน (ผมไม่ได้ลงลึกโดยเฉพาะรักษาและยาในเด็กครับ) และอยากจะย้ำว่าการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อป้องกันติดเชื้อซ้ำยังไม่ต้องทำทันทีครับ เพื่อให้ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลพอ ๆ กับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้เช่นกัน
ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก แต่ผมคั้นเอาเนื้อหาที่ประชาชนทั่วไปน่าจะรู้ เราจะได้ไม่งงเวลาหมอวินิจฉัย แถมมีพ็อดคาสต์ให้อีกตอน (ตอนบันทึกจะง่วง ๆ งง ๆ เพราะฤทธิ์ยาแก้หวัด แล้วจะปรับปรุงนะครับ)
ที่มา โหลดอ่านฟรี
Timothy M Uyeki, Henry H Bernstein, John S Bradley, Janet A Englund, Thomas M File, Alicia M Fry, Stefan Gravenstein, Frederick G Hayden, Scott A Harper, Jon Mark Hirshon, Michael G Ison, B Lynn Johnston, Shandra L Knight, Allison McGeer, Laura E Riley, Cameron R Wolfe, Paul E Alexander, Andrew T Pavia; Clinical Practice Guidelines by the Infectious Diseases Society of America: 2018 Update on Diagnosis, Treatment, Chemoprophylaxis, and Institutional Outbreak Management of Seasonal Influenza, Clinical Infectious Diseases, , ciy866, https://doi.org/10.1093/cid/ciy866

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น