09 ธันวาคม 2561

ตรวจสุขภาพ

เมื่อวานได้มีประสบการณ์ไปรับปรึกษากลุ่มผู้มาตรวจสุขภาพ เพราะมีเพื่อนรายหนึ่งขอร้องในกรณีเร่งด่วน ปกติไม่เคยทำงานตรงนี้เลย ไม่ใช่ทางที่ถนัด เมื่อวานนี้ลองทำดู พบสิ่งที่น่าจะเป็นข้อคิดกับทุกคนได้บ้าง
กลุ่มคนที่มาตรวจเท่าที่ผมสัมผัส (ฮ่า ๆ ครั้งเดียวในชีวิตนี่แหละ) คือกลุ่มที่สมัครใจมาตรวจเองและกลุ่มที่ถูกข้อบังคับเช่นทำประกันหรือข้อบังคับจากบริษัทต่าง ๆ กลุ่มคนที่สมัครใจมักจะเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเริ่มมีความกังวลกับร่างกาย ส่วนกลุ่มที่มีข้อบังคับมักจะอยู่ในวัย 20-40 สุขภาพค่อนข้างดี
90% ของคนที่เข้ามาตรวจเป็นคนที่ไม่มีอาการใด ๆ จึงต้องบอกก่อนว่าโอกาสจะแปลผลได้แม่นยำจะน้อยลง เพราะเริ่มต้นที่ปรกติดี ค่าเลือดต่าง ๆ ที่ผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ คงจะแปลผลยากมากและใช้การติดตามผลเพื่อประเมินความผิดปกติ คราวนี้ผลที่ผิดจาก "ค่าปรกติ" ไม่ได้หมายความว่าเราต้อง "ผิดปกติ" เสมอไปนะครับ ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า การวินิจฉัยทางการแพทย์ทุกสาขาต้องตั้งต้นด้วยความน่าจะเป็นก่อนตรวจก่อน (pretest probability) ว่ามีมากเพียงใดและจะเพิ่มโอกาสมากแค่ไหนเมื่อผลตรวจออกมา
ตัวอย่างคือ คุณไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่ ต่อให้เลขที่คุณคิดมันถูกรางวัล โอกาสที่คุณจะได้รางวัลก็เป็นศูนย์ แต่ถ้าคุณซื้อเลขท้าย 90 หมายเลข โอกาสที่คุณจะถูกรางวัลเลขท้ายสองตัวย่อมสูงกว่าโอกาสแรก
ถามว่าการตรวจสุ่มและหว่านหมดแบบนี้มีเจอโรคบ้างไหม คำตอบคือเจอได้ครับ เช่นอาการปรกติตรวจแล้วพบค่าการทำงานตับ ALT สูงแล้วตรวจต่อไปพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือพบโลหิตจาง ตรวจไปเรื่อยๆ พบเป็นทาลัสซีเมีย
ก็ต้องบอกว่าถ้าเทียบสัดส่วนคนที่เข้ามาตรวจมากมายนั้นจะเจอโรคจนถึงสุดท้ายนั้นน้อยมาก ๆ เลย เราจึงไม่ใช้วิธีแบบนี้เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยครับ
และนี่คือประเด็นสำคัญ เมื่อตรวจพบความผิดปกติตรงนี้ มันจะต้องเข้าพบแพทย์และตรวจต่อไปอีกหลายประการ หลายคนก็ไม่ได้ไปพบแพทย์ต่อทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยไปจนถึงปลายทางได้ เนื่องจากไม่มีเวลาหรือว่าบางครั้งการตรวจรักษาต่อจะเสียเงินมากขึ้นหรือมีการรุกล้ำรุกรานร่างกายจนตัดสินใจไม่ตรวจต่อ ... เพราะอย่าลืมว่า เริ่มต้นจากไม่มีอาการ
คำแนะนำของผม แม้ผมจะไม่ได้แนะนำเรื่องการตรวจสุขภาพแบบทุกอย่าง แต่ในเมื่อตรวจแล้วและได้ผลมาแล้ว เราควรใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ เมื่อผิดปกติควรเข้ารับการปรึกษาว่าความผิดปกตินั้น เป็นความผิดปกติจริงหรือไม่ ต้องตรวจต่อไหม หรือเป็นแค่ความแปรปรวนเท่านั้น ไม่ต้องกังวล
และบางคนตรวจทุกปี มีผลต่อเนื่องที่สามารถมาพิจารณาความผิดปกติได้ ขอให้นำผลนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยครับ จะได้ประโยชน์สูงสุด
และถ้าต้องตรวจต่อ ให้คุยเรื่องความคุ้มค่าคุ้มทุนของการตรวจต่อที่ต้องชั่งน้ำหนักกับอันตรายที่จะเกิดหากตรวจต่อไป ทั้งอันตรายทางกายและความไม่สบายใจด้วย
อีก 10% คือคนที่เจ็บป่วยและมีอาการใด ๆ แต่เลือกไม่เข้ารับการรักษา เลือกที่จะมาตรวจสุขภาพหวังที่จะเจอบางอย่างที่อธิบายโรคได้ง่าย ๆ ครั้งเดียวจบ เป็นสิ่งที่จับต้องได้คือมีผลพิมพ์ออกมาให้เห็น อันนี้ถือว่าผิดนะครับ โอกาสพบโรคจะน้อยมากเพราะไม่ได้ตรวจตรงกับสิ่งที่เป็น ที่แย่กว่านั้นคือ อาจจะเจออะไรผิดปรกติเล็กน้อยแล้วไปตีขลุมว่า อันนี้แหละเป็นโรคที่เราเป็น และที่แย่ที่สุดคือ ตัวเองไม่เป็นอะไรเลยแล้วไปเจอบางอย่างที่ผิดปกติเล็กน้อย ยังไม่ได้รับการตรวจหรือปรึกษายืนยัน ก็คิดว่าตัวเองเป็นโรคแล้วดำเนินการรักษาเอง ไม่ว่าเชื่อตามสื่อต่าง ๆ หรือแจ้งในประวัติว่ามีโรคประจำตัวแบบนั้นแบบนี้
คำแนะนำคือถ้าคุณป่วย ให้เข้ารับการซักประวัติและตรวจร่างกายก่อนเสมอ การตรวจพิเศษอื่น ๆ ใช้เพื่อประกอบการคิดวินิจฉัยจากข้อมูลทางคลินิกเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น