24 พฤศจิกายน 2561

air embolism

ฟองอากาศนั้นสำคัญไฉน
คุณนึกภาพคุณพยาบาลใจดี หยิบหลอดฉีดยาขึ้นมาพร้อมปลายเข็มแหลมเฟี้ยว ตั้งเข็มขึ้น ดีดหลอดฉีดยาปุ่ก ๆ ๆ ดีดไล่อากาศ ไล่ทำไมล่ะ
ในหลอดเลือดมนุษย์เราเป็นที่อยู่ของของเหลว การที่มีฟองอากาศเข้าไปอาจทำให้ระบบปิดอันนี้มีการอุดตันได้ มันอุดตันได้อย่างไร คือเมื่อท่อหลอดเลือดยิ่งเล็ก อากาศจะถูกอัดเล็กปริมาตรเล็ก ความหนาแน่นและแรงดันสูงมาก สูงพอที่จะต้านการไหลของเลือดได้
ฟองเล็กก็อุดหลอดเลือดเล็ก ฟองใหญ่ก็อุดหลอดเลือดใหญ่ ฟองเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับปริมาณอากาศนั่นเอง
อ้าว..ลุงหมอ อากาศมันเข้าไปได้ไง ?? มันก็เข้าได้สองทาง ทางแรกเข้าโดยเจตนา เช่นการใส่สายสวนหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือด มีโอกาสอากาศเล็ดรอดเข้ามาได้แม้จะใช้วิธีที่ปลอดภัยแค่ไหนก็ตาม แต่ส่วนมากอากาศที่เข้ามาในกรณีนี้ปริมาณจะไม่มากมายนัก
ทางที่สองเข้าโดยไม่เจตนา เช่นอุบัติเหตุและมีการฉีกขาดของหลอดเลือด หรือทำผ่าตัดข้อสะโพก ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ผ่าตัดสมอง อาจไปโดนหลอดเลือดและมีอากาศรั่วเข้าหลอดเลือดได้
เข้าไปแล้วอันตรายทุกคนไหม ?? มันก็ไม่ทุกคนนะครับ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรุนแรงคือปริมาณอากาศ ยิ่งมากยิ่งอันตรายและอัตราเร็วของการเข้าสู่กระแสเลือดของฟองอากาศ ฟองอากาศขนาด 200 ซีซี อัดเข้าหลอดเลือดอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที ทำให้เสียชีวิตได้ทันที แต่ในขณะที่ฟองอากาศเป็นลิตรแต่หากค่อย ๆ เข้าหลอดเลือดก็จะมีโอกาสรอดมากกว่า หมายถึงสองปัจจัยที่มีผลคือปริมาณอากาศและอัตราเร็วที่เข้าสู่ร่างกาย (ปริมาณอากาศเป็นซีซีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมจะมีอันตรายที่แตกต่างกันออกไปครับ)
อีกอย่างคือ มันจะไปอุดที่ไหน ไปอุดในที่ที่อันตราย ที่สำคัญก็โป้งเดียวจอด เช่นอากาศปริมาณมากเข้าไปอุดล็อกที่หัวใจห้องขวา รองลงมาก็ไปอุดหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจไปปอดทำให้หายใจล้มเหลวได้ จะเห็นว่าอันตรายส่วนมากเกิดจากอากาศเข้าหลอดเลือดดำและลอยเข้าสู่หัวใจและปอด มันจะไม่ข้ามไปหัวใจฝั่งซ้ายเพราะจากหัวใจขวาไปปอดแล้วจะไปหัวใจฝั่งซ้ายนั้นต้องผ่านหลอดเลือดฝอยที่ปอดที่ลมจะผ่านไปไม่ได้..อุดตันเสียก่อนหรือไม่ก็ถูกดูดซับไปจนหมดเสียก่อน
แต่ก็มีบางกรณีที่จะไปอุดหลอดเลือดแดงเช่น อากาศที่แทรกมาในหลอดเลือดจากโรคน้ำหนีบ (decompression sickness) เวลาดำน้ำ หรือมีทางเชื่อมผิดปกติระหว่างหลอดเลือดดำและแดง (intracardiac or intrapulmonary shunt)
ทำให้ฟองอากาศหลุดไปอุดตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือหลอดเลือดสมอง เป็นอัมพาตได้เลย ส่วนมากทางเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำและแดงที่ฟองอากาศจะหลุดข้ามไปได้มักจะอยู่ที่ระดับหัวใจ เช่นผนังกั้นห้องหัวใจรั่วเป็นต้น
แม้ฟองอากาศจะเล็กน้อยแต่ก็อาจเกิดอันตรายใหญ่หลวงได้ การทำหัตถการ การผ่าตัด การฉีดยาเข้าหลอดเลือดจึงต้องระวังฟองอากาศเสมอ
แต่ว่าเราสามารถฉีดฟองอากาศเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อทำการวินิจฉัยบางโรคบางภาวะได้นะครับ แล้วจะมาเล่าให้ฟัง
ที่มาจาก
1.Ganong review of medical physiology
2.Thai J Anesthesiology, 2013; 39(2): 137-150

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 เมษายน 2565 เวลา 19:54

    ฟองอากาศเมื่ออเข้าไปในร่างกาย มันจะหายไปได้อย่างไรค่ะ

    ตอบลบ