06 ตุลาคม 2561

การใช้ยา zoledronic ในการป้องกันกระดูกหักในผู้ป่วยกระดูกบาง (osteopenia)

journal club จากงานประชุม ASBMR American Society for Bone and Mineral Research 2018 ลงพิมพ์ใน New England Journal of Internal Medicine ล่าสุด การใช้ยา zoledronic ในการป้องกันกระดูกหักในผู้ป่วยกระดูกบาง (osteopenia) 

  แพทย์และนักวิจัยที่นิวซีแลนด์ ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่าในหญิงที่กระดูกบางไม่ถึงขั้นกระดูกพรุน การให้ยาจะมีประโยชน์ในการป้องกันกระดูกหักหรือไม่ เดิมทีนั้นการป้องกันกระดูกหักในหญิงที่กระดูกพรุนได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนด้วยยากลุ่ม Bisphosphonates แต่สำหรับคนที่กระดูกบางคือ T-score มากกว่า -2.5 การให้ยายังมีข้อมูลไม่ชัดเจนมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล หรือคนที่มีความเสี่ยงกระดูกหักในกลุ่มกระดูกบาง (risk score เช่น FRAX) ก็ยังให้ข้อมูลไม่พอ
  พวกเขาจึงทำการศึกษาโดยใช้ยา bisphosphonates ตัวหนึ่งคือ zoledronate เป็นยาให้ทางหลอดเลือดปีละหนึ่งครั้ง ประสิทธิภาพในการปกป้องดีและผลข้างเคียงต่ำ นำมาเทียบกับยาหลอกคือ น้ำเกลือ ว่าผลการปกป้องจะเป็นอย่างไร

  ถ้าถามว่าทำไมมาเทียบกับยาหลอกได้ คนที่ได้ยาหลอกไม่เสียประโยชน์หรือ ก็คงบอกว่าในกลุ่มกระดูกบางนั้นยังไม่มีข้อสรุปและแนวทางที่ชัดเจนว่าต้องให้ยา bisphosphonate การทำทดลองโดยเทียบยาหลอกจึงไม่ผิดกติกาและสมเหตุสมผล

   การศึกษาทำเป็น Randomized Controlled Trials โดยมีระบบการปกปิดที่ดี มีการสุ่มตัวอย่างจากหน่วยสุ่มกลาง การให้ยาถูกปกปิด รูปแบบยาเหมือนกัน คนให้ไม่รู้ คนเลือกสุ่มไม่รู้ คนคำนวณผลก็ไม่รู้
   เกณฑ์การเลือกคือ เป็นสุภาพสตรีอายุตั้งแต่ 65 ปี ตรวจวัดมวลกระดูกและคิดค่า T-score ของกระดูกสะโพกอยู่ระหว่าง -2.5 ถึง -1.0  ไม่เคยได้ยา ไม่มีข้อห้ามการให้ยา  ค่าการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 30  ไม่มีโรคหรือการใช้ยาที่มีผลต่อกระดูก ก็สามารถเข้าร่วมการศึกษา (ใช้การเชิญชวน)
   ประเด็นอันหนึ่งในการเลือกคนเข้าการศึกษาที่อาจมีปัญหาคือ ถ้าค่า T-score ของสะโพกข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวน้อยกว่า -2.5 ส่วนอีกข้างเข้าเกณฑ์ หรือหากค่า T-score ของกระดูกสันหลังมากกว่า -3.0 ก็สามารถเข้าสู่การศึกษาได้ ถ้าเกณฑ์อันอื่นเข้าได้และไม่มีเกณฑ์ใด ๆ ที่ขัด

  เนื่องจากจะมีการปะปนของผู้ที่มีกระดูกพรุนตามเกณฑ์ T-score เข้ามาสู่การศึกษาส่วนหนึ่ง เป็น contamination ของการศึกษาที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ osteopenia จึงต้องระมัดระวังการแปลผลหากผลออกมาเป็นบวก

  ผู้ที่เข้าสู่การทดลองทั้งสองกลุ่มจะได้รับการแบ่งด้วยสัดส่วน 1:1 กลุ่มควบคุมได้ยาหลอกน้ำเกลือ ส่วนกลุ่มทดลองได้ยา zoledronate ขนาด 5 มิลลิกรัมหยดเข้าหลอดเลือดทุก 18 เดือน  โดยที่ทั้งสองกลุ่มจะได้รับคำแนะนำการกินอาหารให้ได้แคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ไม่ใช้แคลเซียมเม็ด) ทุกคนจะได้รับวิตามินดีจนจบการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าได้วิตามินดีเพียงพอ คนที่ไม่เคยได้มาก่อนจะมีการให้ในขนาดสูงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้วิตามินดีได้ระดับก่อนได้รับยาที่จะทำการศึกษา
  หลังจากนั้นก็แบ่งกลุ่มและให้ยาตามกลุ่ม โดยจะติดตามการศึกษาเป็นเวลาทั้งสิ้น 6 ปี

  สิ่งที่ผู้วิจัยต้องการวัดผลหลักคือ จำนวนคนที่กระดูกหักในระยะเวลาที่ศึกษา เรียกว่า fragility fracture ทั้งกระดูกสันหลังและกระดูกอื่น ๆ (เว้นกระดูกมือ กระดูกเท้าและกะโหลก) ไม่นับกระดูกหักจากอุบัติเหตุรุนแรง  โดยวิเคราะห์แบบ Time to Events analysis เกิดกระดูกหักเมื่อไรก็ออกจากการศึกษาเลย
  ส่วนผลรองเช่นระยะเวลาที่หัก การหักที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ความสูง (โดยเฉพาะกระดูกสันหลังหักอาจจะไม่มีอาการใด ๆ มีแค่ความสูงลดลง)

  ในตัววารสารไม่ได้กล่าวถึงการทำ prespecified analysis เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มี T-score เกิน -2.5 ที่รวบรวมเข้ามา แต่มีการแสดงไว้ในผลการศึกษา

   จากการคำนวณปริมาณกลุ่มตัวอย่างเมื่อต้องการความแตกต่างคนที่เกิดกระดูกหักประมาณ 30% ต้องใช้ปริมาณตัวอย่างกลุ่มละ 921 คน โดยตั้งตัวเลขกลุ่มควบคุมที่กระดูกหักไว้ที่ 16%  ใช้การวิเคราะห์แบบ intention to treat (เดี่ยวเราจะมาคิด drop out rate กันอีกครั้ง) และสถิติคำนวณก็ใช้ regression analysis ตัดความแปรปรวนเรื่องเวลาโดย Cox Proportional Hazard Model

  ก่อนจะไปดูผลการศึกษา เรามาดูกลุ่มคนที่รวบรวมเข้ามาได้กลุ่มละ 1,000 คน พบว่าลักษณะโดยรวมไม่แตกต่างกันเลย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ปี เป็นเชื้อสายยุโรปเกือบทั้งหมด อย่าลืมว่าทำในนิวซีแลนด์ ดัชนีมวลกายประมาณ 26 ถือว่าไม่ผอมมากไปเพราะผอมมากโอกาสกระดูกหักจะเพิ่มขึ้น เคยมีกระดูกหักมาแล้ว 23%  .. อ๊ะๆๆ ตรงนี้ไม่ได้แจกแจงว่าเป็นกระดูกหักจากกระดูกพรุนหรือไม่ เพราะถ้าหักจากกระดูกพรุน จะเป็นเกณฑ์การให้ยาเพื่อป้องกันไปเลย ถ้ามีคนที่กระดูกหักจากกระดูกพรุนมาปะปนในกลุมกระดูกบางที่เราสนใจ จะมีการปนเปื้อนของคนที่ "จำเป็น"ต้องได้ยาและเกิดประโยชน์จากยามาอยู่ในกลุ่มศึกษาอยู่แล้ว ทำให้ผลการศึกษาจะเบ้ไปทางได้ประโยชน์ ...

   จากการคำนวณความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักในช่วง 10  ปี อยู่ที่ 12% พอ ๆ กัน และโอกาสกระดูกสะโพกหักอยู่ที่ 2.3% พอ ๆ กัน เรียกว่าก็ปานกลางพอ ๆ กันทั้งสองกลุ่ม  ทั้งสองกลุ่มกินแคลเซียมเฉลี่ยอยู่ที่ 880 มิลลิกรัมต่อวัน ต่ำกว่าที่เขากำหนดทั้งสองกลุ่ม (หรือเราจะต้องให้กินแคลเซียมเม็ดกันจริง ๆ ขนาดในการศึกษายังกินอาหารแคลเซียมไม่ถึงเลย มีชีสมีนมเพียบนะ) 
   และสามารถติดตามทำตามการศึกษาจนจบการศึกษาได้ถึง 97% ดีมากเลย แสดงว่าไม่ค่อยมีผลข้างเคียงจนต้องออกจากการศึกษานะเนี่ย แบบนี้ intention to treat analysis สามารถบอกได้ดีไม่จำเป็นต้องคิดแยก per protocol analysis อีก

  มาดูผลการศึกษากัน ผมขอวิจารณ์ไปพร้อม ๆ กันเลยนะครับ

  เป้าวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือกันการเกิดกระดูกหักได้ต่างกันไหม พบว่ากลุ่มควบคุมมีคนกระดูกหัก 190 ราย และคิดเป็นกระดูกหักทั้งสิ้น 227 จุดหัก (หนึ่งคนอาจหักมากกว่าหนึ่งที่หนึ่งครั้ง) หรือคิดเป็น 19% ของกลุ่มตัวอย่างควบคุม ซึ่งพบมากกว่าอัตราขั้นต่ำที่บอกไว้คืออย่างน้อย 16% แสดงว่าการศึกษานี้ไม่ได้ underpower แต่อย่างใด ส่วนกลุ่มที่ได้รับยานั้นเกิดกระดูกหักน้อยกว่า มีคนกระดูกหัก 122 ราย คิดเป็น 131 จุดหัก หรือเป็นสัดส่วน 12.2%
  ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นเป็น hazard ratio 0.65 95% CI (0.5-0.77), p<0.001  กลุ่มที่ได้รับยาป้องกันในกลุ่มกระดูกบางนั้นมีกระดูกหักน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ น้อยกว่าถึง 35%
   หากคิดเป็น number needed to treat จะดูคุ้มค่ามาก ให้ยา 15 รายสามารถป้องกันกระดูกหักได้หนึ่งราย และให้ยา 10 รายสามารถป้องกันกระดูกหักได้หนึ่งครั้ง  และไปชำเลืองมองดูผลเสียรุนแรงพบว่าไม่ต่างกันเลยในกลุ่มที่ได้ยาหรือกลุ่มควบคุม

  ** อย่าลืม confouder และ contamination กล่าวไปตอนต้นด้วย มันจะเกิดประโยชน์สูงกว่าปรกติเพราะมีคนที่กระดูกพรุนและจำต้องได้ยาปะปนมาด้วย **

   คำอธิบายต่อมาคือวัตถุประสงค์รองและการทำ prespecified analysis คิดเทียบคนที่เคยกระดูกหักมาแล้วและคนที่ไม่เคยหักมาก่อนก็ไม่ได้ต่างกัน หรือเปรียบเทียบแยกกลุ่มที่ T-score มากกว่าและน้อยกว่า -2.5 ก็ไม่ได้แตกต่างกัน  หรือเปรียบเทียบกลุ่มที่เสี่ยงกระดูกหักสูงและเสี่ยงกระดูกหักต่ำ (ใช้ scoring system) ผลก็ไม่ได้ต่างจากผลการศึกษาหลักเลย นั่นคือกลุ่มได้ยาจะลดลงมากกว่าถึง 30%
  การหักที่มีอาการ และการตรวจสารที่บ่งชี้อัตราการ turnover rate ของกระดูกพบว่าไปทางเดียวกันกับผลการศึกษาหลักตือในกลุ่มได้ยาจะลดลงได้มากกว่าเช่นกัน ขนาดของการลดลงก็ 30-40% เท่า ๆ กัน
  และอย่าลืมว่าแคลเซียมของทั้งสองการศึกษาไม่ถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แสดงผลว่าการใช้ยา zoledronate มีผลมากกว่าอาหารในการป้องกันกระดูกหักในผู้ป่วยกระดูกบาง

  สรุปจากการศึกษานี้เราเริ่มเห็นประโยชน์จากการใช้ยา zoledronate ในการป้องกันกระดูกหักในผู้ป่วยกระดูกบาง ซึ่งคำตอบเดิมนั้นคลุมเครือมาตลอด ดูจะได้คำตอบบางส่วนและการศึกษานี้เป็น RCTs เสียด้วย จุดบอดจุดด้อยบางอย่างคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมและรวบรวมการศึกษาเพิ่มเติมที่ reproducible จากการศึกษานี้ (ซึ่งสามารถทำตามในหลาย ๆ กลุ่มชาติพันธุ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพราะแนวทางและข้อมูลการรักษาเดิมมันยังไม่แจ่มชัดนั่นเอง)

  ใครมีข้อคิดเห็นอย่างใด เห็นด้วยหรือเห็นต่าง เอามาถกกันครับ สนุกดี 

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1808082

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น