28 ตุลาคม 2561

ศาสตร์และศิลป

หลาย ๆ ท่านที่ได้อ่านบทความที่ผมนำมาลง อาจจะนึกสงสัยว่าชีวิตจริงมันทำได้แบบที่เขียนจริงหรือ ผมจะขอยกตัวอย่างจากบทความของตัวเองแล้วกัน

  เรื่องแรก วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเก้าสายพันธุ์ ถึงแม้ว่าสรรพคุณของวัคซีนจะดูดีน่าจะฉีด แต่อุปสรรคสำคัญคือราคาวัคซีนที่สูงพอควร หรือปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกเจอคือวัคซีนไม่พอฉีด  สำหรับราคาภาครัฐอาจจะได้งบมาซื้อไม่มากนัก การใช้ตัวสองสายพันธุ์ก็ไม่ได้แย่นัก ราคาถูกและรัฐให้ฟรี ถ้าเราคำนึงถึงความคุ้มค่าคำตอบอาจจะมาอยู่ที่สองหรือสี่สายพันธุ์
  ส่วนคนที่ไม่มีงบจริง ๆ หรือไม่มีที่ซื้อ ปัญหาเดียวกันเลย การป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังใช้ได้ดี
  *** การที่ไม่ได้กินอาหารที่หรูหราที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่อิ่ม ***

  เรื่องที่สอง การให้ออกซิเจนเฉพาะรายที่จำเป็น เราจะพบว่าบางรายไม่จำเป็นแต่หากได้รับแล้วไม่ได้เกิดโทษ บางครั้งทำให้คนไข้สงบลง อาการดีขึ้น เพราะเขาได้รับการรักษาอันเป็นรูปธรรม หรือหากไม่ได้อาจจะรู้สึกไม่มั่นคงในอาการของตน หรือการรักษา ในกรณีแบบนี้ผมเองก็เคยให้นะครับ ไม่ได้หลอกลวงหรือตามใจ แต่ผมเชื่อว่า placebo effect และ nocebo effect ผลดีหรือผลลบจากยาหลอกมันมีจริง ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่มีมันมีจริง
  แต่ต้องดูข้อห้ามและงบประมาณด้วย เอาที่เป็นกลาง ๆ การรักษามันจะได้ไปต่อได้ บางทีเราก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน เป็นศิลปะการดูแล
   *** เราไม่ต้องฆ่าศัตรูทุกคน เพื่อให้ได้ชัยชนะในสงคราม ***

  เรื่องที่สาม เรื่องการใช้ยา sulfonylurea ในผู้ป่วยเบาหวานที่ปัจจุบันใช้ลดลง เพราะเรามียาใหม่ ๆ ที่ปลอดภัยกว่าและสามารถปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีกว่า ราคาที่สูงมากอาจทำให้พวกเขาเอื้อมไม่ถึง ไม่ว่าจะสิทธิการรักษาหรือจ่ายเอง ถึงข้อมูลในการศึกษาจะออกมาด้อยกว่ายาใหม่ แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ยังดี มีใช้ทั่วไป ราคาไม่แพง ใช้ได้ในวงกว้าง เราอาจจะลดผลเสียจากโรคไม้มากกว่ายาใหม่ ๆ ด้วยซ้ำเพราะปริมาณที่ใช้มันมากกว่า
  แต่เราต้องรู้ทันเข้าใจกลไกและข้อควรระวัง เพิ่มสิ่งนี้มาอีกนิด แม้จะจุกจิกและวุ่น ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ เอามาแทนราคายาได้เลย
  *** รองเท้าที่ส้นสึก ก็เดินถึงปลายทางได้เหมือนรองเท้าชั้นดี แค่ต้องรู้จังหวะการเดิน ***

  แต่บางเรื่อง มันคือหนทางที่ต้องเปลี่ยน ไม่มีทางประนีประนอม ถ้าหากไม่เปลี่ยนเราจะเดินตกเหว เช่น เรื่องการใช้ยาอะม็อกซี่ซิลิน ในผู้ป่วยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หลายคนบอกว่าหมอก็ไม่ยอมเลิกจ่าย ร้านยาก็พยายามให้ คนไข้ก็ขอทุกที  แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเปลี่ยนได้ไงครับ แต่ต้องพยายาม อดทน ไม่ยอมแพ้ ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียวและด้วยคน ๆ เดียว
 
  การดูแลรักษาคนไข้ ไม่จำเป็นต้องทำตามตำราตามแนวทางแบบตรงไปตรงมา แต่ต้องรู้จักการพลิกแพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กับคนไข้ กับสภาพแวดล้อม หลักการทางวิชาการเราต้องมีเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ ใช้ความรู้ความจริงที่ปรับเปลี่ยนได้ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพราะวิชาแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกัน การเลือกเอาหลักการใดมาใช้ ใช้อย่างไร ใช้กับใคร อะไรเข้าก่อนอะไรตามหลัง โดยใช้หลักการมนุษยธรรมและจริยธรรม ตามกาลเทศะ ถือเป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝน

   ไกด์ไลน์เหมือนแผนที่ ถ้าไม่มีคงเดินหลง
   แผนที่ให้เดินตรง ก็อาจลงคูที่ขวาง
   ใช้ศิลป์ใช้ปัญญา ปรับสะกิดบิดเส้นทาง
   รู้จักเดินสายกลาง ถึงที่หมายอย่างดังตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น