02 ตุลาคม 2561

ถูกข่มขืน ทำอย่างไร

ถูกข่มขืน ทำอย่างไร

  การข่มขืนกระทำชำเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ถูกกระทำไม่สามารถขัดขืนได้ ถือว่าเป็นอาชญากรรมสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง  หากใครถูกข่มขืนไม่ว่าชายหรือหญิง สิ่งที่ควรทราบมีหลายอย่าง ส่วนมากจะได้รับปรึกษาในด้านอายุรศาสตร์ แต่จริง ๆ มีเรื่องราวมากกว่านั้น
  การดูแลผู้ที่ถูกข่มขืน เป็นการดูแลแบบองค์รวมและต้องอาศัยมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ควรมีการเตรียมตัว มีมาตรการที่ชัด เพราะต้องดูแลทั้งบาดแผล ดูแลสภาพจิตใจ ดูแลเรื่องของวัตถุพยานและกฎหมาย โรคติดเชื้อ ภาวะตั้งครรภ์ 

  แนวทางการดูแลขององค์การอนามัยโลก ปี 2004 ระบุการดูแลแบ่งช่วง 72 ชั่วโมงแรกและ 72 ชั่วโมงต่อไป เพื่อการจัดการสุขภาพและกฎหมาย

   การดูแลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ในแง่การดูแลจิตใจจะสำคัญมาก ควรปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยาโดยเฉพาะหากผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลร่วมด้วยเสมอ
  การตรวจและรักษาบาดแผลจะทำไปพร้อมกับการหาวัตถุพยาน เช่น การใช้สำลีพันปลายไม้เก็บตัวอย่างเลือด อสุจิ วัตถุพยานรอบบาดแผล และรักษาหากมีแผลฉีกขาด โดยเฉพาะในส่วนทวารหนัก จะมีเลือดออกได้มาก ถ้าจำเป็นอาจต้องผ่าตัด
  การตรวจทางอวัยะเพศหญิงนั้นผมได้เขียนอ้างอิงการตรวจของ อ.ศรีนารี แก้วฤดี จาก ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา มข. มาในอ้างอิงให้แล้วครับ (ไม่ถนัดเหมือนกัน) จะเป็นการตรวจที่พิถีพิถัน รุกล้ำน้อยที่สุด ให้ผู้ได้รับการตรวจรู้สึกบอบช้ำน้อยมาก
  รวมถึงการตรวจการบาดเจ็บบริเวณอื่น ๆ และร่องรอยสารเสพติด สารพิษที่อาจถูกวางยา

  การติดเชื้อนั้น พิจารณาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยถูกข่มขืนทางทวารหนักจะเสี่ยงที่สุด ตามมาด้วยทางช่องคลอดและทางปาก แน่นอนการข่มขืนจะเกิดโดยไม่สมยอม จะมีรอยแผลรอยฉีกขาด จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ทั้งเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่นหนองใน ซิฟิลิส เริม ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะพบน้อยกว่า

  แนะนำให้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่มีความชุกของเอชไอวีสูง โดยใช้สูตร post exposure prophylaxis ใช้ TDF/FTC และยาอีกหนึ่งตัวเลือกจาก rilpivirine, protease inhibitors หรือ integrase inhibitor แล้วแต่ทางรพ. จะมีสูตรใด เลือกยาและติดตามเหมือนกับกรณีถูกเข็มตำ

   การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หากเคยได้รับวัคซีนและมีภูมิมาแล้ว ก็ไม่ต้องฉีด แต่ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่เคยได้ ให้เริ่มวัคซีนแล้วติดตามดูผลว่าเป็นอย่างไร (อาจตรวจดูระดับภูมิ anti HBs ก่อน) แต่อย่างไรก็ดีต้องตรวจติดตามผลเสมอ

  พิจารณาการให้วัคซีนบาดทะยักตามความรุนแรงของแผลและประวัติวัคซีน  ส่วนการให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์นั้น ยังมีความเห็นไม่ชัดเจน ขึ้นกับอุบัติการท้องถิ่นนั้น ๆ ว่ามีการติดเชื้อสูงหรือไม่ ในการป้องกันหนองใน ซิฟิลิส และเชื้อ chlamydia ยังไม่มี Guideline ในปัจจุบัน (เท่าที่ผมค้นนะครับ) แพทย์ที่สนใจสามารถโหลดแนวทางของ WHO ได้ครับ หลักการคือให้ยาให้สั้นที่สุด เช่น azithromycin 1000 mg กินครั้งเดียว และ ฉีด Ceftriaxone 250 mg เข้ากล้ามครั้งเดียว (ขนาดเท่านี้ใช้ในการรักษาหนองในจะไม่ได้แล้ว แต่ในการป้องกันยังไม่มีรายงาน) และกินยา metronidazole ขนาด 2000 มิลลิกรัม
  หรืออาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อหากแผลฉีกขาดนั้นรุนแรงและสกปรกมาก โดยเฉพาะทางทวารหนัก

  ภายใน 72 ชั่วโมง หากผู้ถูกข่มขืนมีโอกาสตั้งครรภ์ ให้พิจารณายากินคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉิน levonorgestrel ขนาด 0.75 มิลลิกรัมหนึ่งเม็ดทันทีและกินซ้ำอีกหนึ่งเม็ดในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา

  หากมาตรวจหลัง 72 ชั่วโมง การเก็บวัตถุพยานต่าง ๆ อาจจะทำได้ไม่ดีนัก ควรทำตามปรกติแต่ว่าโอกาสพบหลักฐานต่าง ๆ จะลดลง ถึงตอนนี้ต้องตรวจการบาดเจ็บที่อื่น ๆ ด้วยเสมอ หากมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระยะนี้จะอักเสบและเริ่มเห็นลักษณะการติดเชื้อแล้ว
  การดูแลทางจิตใจจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กนะครับ ควรมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ถ้าให้ดีให้ตรงเพศของผู้ถูกข่มขืนจะดีมาก

   หากมีลักษณะของสารพิษ สารเสพติด หรืออาการข้างเคียงต้องดูแลด้วย ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับเกินขนาด พิษจากยาบ้า อาการจะออกตอนนี้แหละครับ
   ส่วนการติดเชื้อบาดแผล ในตอนนี้ถ้ามีการติดเชื้อบาดแผลต้องให้ยารักษาไม่ใช่แค่ป้องกัน ถ้ามีหนองหรือแผลฉีกขาดก็ต้องจัดการแผลให้ดี

   การติดเชื้อเอชไอวี เราจะไม่ให้ยาป้องกันแล้ว แต่จะให้คำแนะนำถึงโอกาสติดเชื้อและนัดมาตรวจหลังเกิดเหตุ สองถึงสามสัปดาห์ ...ตรงนี้สำคัญ เพราะหากไม่มาตรวจจะมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้
   การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ระยะนี้อาจยังฟักตัว เช่นเคยถ้าเคยฉีดและมีภูมิแล้วก็ไม่ต้องฉีดซ้ำแต่หากไม่แน่ใจหรือไม่มีภูมิ ก็ยังสามารถให้วัคซีนได้โดยเร็ว และอย่าลืมตรวจติดตามผลว่าติดหรือไม่เสมอ  ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ต้องตรวจยืนยันอีกตามการดูแลผู้ติดเชื้อเรื้อรัง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่โดนเชื้อจะเป็นโรค

   ยังต้องพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักต่อเนื่อง ส่วนการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จะไม่ให้ยาป้องกัน แต่จะให้ยารักษาถ้ามีอาการเข้าได้กับโรคใดโรคหนึ่ง

  สำหรับการตั้งครรภ์ หากเกิน 72 ชั่วโมงแต่ยังไม่เกิน 5 วัน จะยังใช้ยาคุมฉุกเฉินได้แต่ว่าประสิทธิภาพไม่แน่นอนแล้ว แนะนำให้ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดจนกว่ามั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ โดยต้องรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะการติดเชื้อในโพรงมดลูกให้ดีก่อน

  การดำเนินคดีทางกฎหมายผมจะไม่กล่าวถึงนะครับ แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา (ต้องพิสูจน์ได้ด้วยนะครับ การตรวจหลักฐานการข่มขืนจึงสำคัญมาก) กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ทำแท้งและผู้ที่ลงมือกระทำแท้งไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๕
  และการกระทำชำเรานั้น รวมถึงช่องปาก ทวารหนัก ด้วยนะครับ หรือใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทำกับช่องปากหรือทวารหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ วรรค ๒

  ที่มาจาก

1.WHO : Clinical management of rape survivors:Developing protocols for use with refugees and internally displaced persons 
http://www.who.int/reproductivehealth/publications/emergencies/924159263X/en/

2.Thai HIV guidelines 2018

3.Sanford Guide 2018

4.ประมวลกฎหมายอาญา

5.ศรีนครินทร์เวชสาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 5, 2007:31-38
http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1327

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น