10 สิงหาคม 2561

นักฟุตบอล กับการคัดกรองหัวใจ

นักฟุตบอลเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจคาสนาม !! ข่าวที่พวกเราตกใจและตั้งคำถามมาตลอด

  วารสาร New England Journal of Medicine ลงตีพิมพ์การศึกษาเรื่องผลการคัดกรองโรคหัวใจในนักฟุตบอลของอังกฤษ ตั้งแต่เป็นนักเตะเยาวชน ทำการศึกษาต่อเนื่องยาวนานมาถึง 20 ปี โดยการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ นำมาเล่าให้ฟังก่อนพรีเมียร์ลีกจะเปิดฤดูกาล

  สมาคมฟุตบอลได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้วางมาตรการ ให้มีการคัดกรองโรคหัวใจในนักเตะเยาวชนที่จะเซ็นสัญญากับสโมสร โดยการถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟ้าหัวใจ ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหัวใจ หากพบความผิดปกติหรือสงสัยก็จะต้องตรวจขั้นตอนต่อไป เริ่มต้นตั้งแต่ มกราคม 1996 ไปถึงธันวาคม 2016 เป็นเวลายี่สิบปี โดยแพทย์สโมสรและอายุรแพทย์โรคหัวใจ
  การศึกษานี้ ไม่ได้เปรียบเทียบอะไรที่เป็นการรักษา เพียงแต่เก็บข้อมูลและได้มาวิเคราะห์เท่านั้น มีบางส่วนที่นำไปเปรียบเทียบคือเปรียบเทียบกับกลุ่มปรกติ

  สรุปว่า 20 ปีนี้ทำการคัดกรอง 11,168 ราย ส่วนมากอายุ 16 ปี และเป็นเด็กหนุ่ม 95% เพราะเป็นกีฬาฟุตบอล ทำการคัดกรองดังกล่าวและถ้าหากผิดปกติก็ทำการแยกมาตรวจ หรือหากสงสัยว่าจะมีโรคหัวใจที่จะทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันก็จะแยกมาตรวจ ยกเว้นกลุ่มผิวสีที่มีลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบย early repolarization อันนี้ไม่ต้องตรวจต่อ (ถือว่าเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในคนผิวสีและไม่มีอันตราย)

   พบว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่ต้องไปตรวจหาโรคต่อไป  และพบโรคจากการคัดกรองเลย 0.38%   มาดูที่ต้องตรวจต่อ 7% คิดเป็น 840 คน ตรวจแล้วปกติ 104 คน ที่เหลือผิดปกตืที่พบบ่อยสามลำดับแรกคือ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติจากการตรวจ MRI และ คลื่นเสียง รองมาคือพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบ inverted T wave และ พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบ Long QT 25 คน
   ทั้งหมดนี้ก็ได้ติดตาม ต่อไปอีกว่าเกิดโรคกี่เปอร์เซ็นต์ มีอาการเท่าไร และเสียชีวิตเท่าไร

  พบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจจนเสียชีวิตเฉียบพลัน คือ 1ราย ต่อ นักกีฬา 14,794 รายต่อปี ซึ่งสูงกว่าการประมาณด้วยประวัติและตรวจร่างกายอย่างเดียว เพราะว่าโรคบางโรคไม่มีอาการและบางทีกว่าจะมีอาการก็เกินวัยรุ่นมาแล้ว ในกลุ่มที่เสียชีวิตนี้ได้ทำการพิสูจน์ พบว่า 88% เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ (cardiomyopathy)

  ถ้าคิดเป็นการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในนักกีฬาวัยรุ่นนี้คือ 0.38%

  ในกลุ่มที่มีโรคหัวใจ 225 ราย มีหนึ่งรายที่ฝืนลงแข่งทั้งๆที่ห้ามเด็ดขาดและเสียชีวิตด้วย และมีเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีอาการ  ส่วนใหญ่ที่เกิดโรคสามารถกลับมาลงสนามได้หลังแก้ไขโรค ไม่ว่าลิ้นหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ ผนังหัวใจรั่ว
  และกลุ่มที่เสียชีวิตนั้น เสียชีวิต 23 ราย เป็นการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉียบพลัน 8 ราย ก็ไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองปรกติ อาจเป็นเพราะอาการยังไม่แสดงออกมาและพลังงานสำรองยังดี

  อัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากกลุ่มประชากรอื่นๆมากนัก ทำให้มีคำถามถึงค่าใช้จ่ายในการคัดกรอง ค่าใช้จ่ายในการคัดกรองขั้นแรกอยู่ที่ 347 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน รวมหมดทุกคนก็ 3.8 ล้านดอลล่าร์ แต่ถ้าคิดรวมการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคด้วย จะอยู่ที่ 4.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ   ส่วนค่าใช้จ่ายในคนที่เป็นโรคโดยเฉลี่ยที่ 16,000 ดอลล่าร์ต่อคน

  คุ้มไหม ... ถ้าเทียบกับชีวิตที่รักษาได้มันก็คุ้มนะ ห้าล้านดอลล่าร์ถูกกว่าค่าตัวนักุตบอลพรีเมียร์ลีกหนึ่งคนอีก  ปัญหาคือคนที่เสียชีวิตส่วนมากอยู่ในกลุ่มที่คัดกรองแล้วไม่เจอและไม่มีอาการน่ะสิ ทำให้ดูไปดูมาอาจจะดูไม่คุ้มสักเท่าไร
  หรือมองอีกแง่ หากไม่ทำแบบนี้ก็อาจจะมีกรณีเสียชีวิตจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั่นรั่ว ก็จะไม่ถูกตรวจพบเพราะไม่มีอาการ อัตราการเสียชีวิตอาจจะพุ่งขึ้นมากกว่านี้

  แต่ว่านะ ... การคัดกรองที่มีราคาเพื่อรักษาหลายชีวิต เขาจะทำมากกว่าปล่อยไปแล้วเกิดตายไม่กี่ชีวิต เพราะทรัพยากรบุคคลเขาทรงคุณค่า และมูลค่านักฟุตบอลเยาวชนมีค่ามากกว่าราคาค่าคัดกรองมากมาย
 
ปล.
   สงสัย..ดาเนียล สเตอร์ริดจ์ กองหน้ามหาประลัยของยอดทีมสีแดง คงไม่ได้ตรวจคัดกรอง ลมพัดมาโดนก็ป่วย สะดุดก้อนหินก็เดี้ยงยาว กองหลังฝั่งตรงข้ามตะโกนใส่ดังๆ แค่นี้ก็เจ็บไปเกือบสามสิบนัด เฮ้อ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น