22 กรกฎาคม 2561

ฝีดาษ

ครั้งหนึ่งฝีดาษเคยคร่าชีวิตมนุษย์โลกไปกว่า 60% เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นและทำไมอยู่ๆฝีดาษจึงหายไป ถึงเวลาที่ท่านจะต้องไปชงกาแฟอุ่นๆ คู่กับปาท่องโก๋ร้อนๆ นั่งลงบนโซฟานุ่มนิ่ม อิ่มเอมไปกับกรุ่นหอมกาแฟและย้อนอดีตไปกับ ฝีดาษ ภัยสะท้านโลกกก (ให้เสียงภาษาไทยโดยลุงหมอ)
หลักฐานแรกๆที่เชื่อกันว่าฝีดาษได้เข้ามาสู่อารยธรรมของมนุษย์มีตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล ต้นธารของโรคร้ายได้ถูกบันทึกไว้ว่ามีโรคแปลกๆที่ทำให้ร่างกายเป็นตุ่มทั้งตัว บางตุ่มก็เป็นฝี กระจัดกระจาย ทำให้ผู้ที่ป่วยนั้นทรมานมากและถึงแก่ความตาย น้อยรายนักที่จะรอด และรอดก็พิการ แต่เรื่องเล่าก็คือเรื่องเล่า หลักฐานเริ่มแน่ชัดขึ้นเพราะเทคโนโลยีการทำ "มัมมี่" ของชาวอียิปต์โบราณ แสดงให้เห็นผิวหนังที่ได้รับการรักษาสภาพเป็นอย่างดีแม้จะผ่านมากว่า 3000 ปี
ฟาโรห์รามเสสที่ห้า แห่งอาณาจักรใหม่ มีลักษณะผิวหนังแบบฝีดาษ !! ตรงกับบันทึกในปาปิรัสว่าพระองค์มีผิวเป็นตุ่ม มองดูคล้ายอักษรจารึกบนแผ่นดินเหนียวของชาวฮิตไทต์ ... สมัยนั้นชาวฮิตไทต์ จารึกอักษรคูนิฟอร์มบนดินเหนียว ท่านลองจินตนาการเอาแผ่นดินเหนียวมาใส่เครื่องพิมพ์ดีด แล้วพิมพ์ลงไป ก็จะเป็นตุ่มและรอยเว้าตัวอักษร นั่นแหละ อียิปต์เขามองผิวฟาโรห์รามเสสว่าเหมือนจารึกดินเหนียวของชาวฮิตไทต์ (สมัยนั้นอยู่แถบตุรกี ซีเรีย)
หลังจากนั้นก็มีจารึกและบันทึกถึงโรคที่มีตุ่มขึ้นตามตัวและตาย มากขึ้นเรื่อยๆ ลุกลามจนถึงขั้นระบาด ความจริงที่ว่าโรคน่าจะเกิดที่อียิปต์ก็ยิ่งมีหลักฐานชัดขึ้น เพราะบันทึกถึง Plague of Athenes ที่เกิดในปี 430 ก่อนคริสตกาล ได้บันทึกรอยโรคที่ต่างจากกาฬโรคแต่กลับเหมือนฝีดาษ บันทึกของฮิกไทต์เองก็มีเช่นนั้น ความเชื่อเดิมว่าการรบพุ่งกันในสมัยก่อน โดยเฉพาะอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่มากนั้น ได้นำพาเอาโรคฝีดาษไปแพร่ตามดินแดนต่างๆในแถบแอฟริกาตอนบน ไล่มาทางตะวันออกผ่านทะเลแดงมาถึงตะวันออกกลางและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
บันทึกโรคในอินเดียสมัยศตวรรษที่หนึ่ง ได้บันทึกว่าเจ้าโรคฝีดาษนี้มาจากพ่อค้าที่รอนแรมมาจากแถบอียิปต์
และนี่คือการระบาดของโรคฝีดาษที่ตอนนั้นยังแยกไม่ออกระหว่างฝีดาษกับกาฬโรค
ก่อนจะไปตอนต่อไป เรามารู้จักฝีดาษกันหน่อย ชื่อภาษาอังกฤษคือ smallpox เกิดจากเชื้อไวรัส variola เจ้าเชื้อตัวนี้ติดต่อทางการหายใจ ติดสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ก็ในหนองหรือแผลจากตัวคนไข้ ติดง่ายมาก อัตราการติดเชื้อเมื่อสัมผัสโรค 90% หลังจากติดก็จะแพร่กระจายผ่านทางระบบน้ำเหลือง และกระแสเลือด ลักษณะเด่นคือจะมีตุ่มเหมือนกระดุมขึ้นเต็มตัว มีรอยบุ๋มตรงกลาง ต่อมาก็เป็นหนองออกมา ติดเชื้อซ้ำ ภายในร่างกายก็มีตุ่มแบบนี้หรือเป็นโรคในตัว มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออก ตายได้
เป็นคนละอย่างกับ อีสุกอีใส หรือ chickenpox ..pox มาจากภาษาละติน คือ spot ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ... แม้ขื่อจะเหมือนแต่เชื้อคนละตระกูลเลย อาจจะมีความใกล้ชิดกับ cowpox ที่เกิดในวัว และท่านจำ cowpox นี้ไว้ให้ดี จะมามีบทบาทตอนท้าย
หลายคนก็สงสัยอีกว่า มี smallpox และมี great pox ไหม คำตอบคือมี และ great pox คือตุ่มจากการติดเชื้อซิฟิลิสนั่นเอง
เอาล่ะ ต่อมาก็การระบาดไปภูมิภาคอื่นๆของโลก เริ่มจากระบาดไปที่จีนด้วยเส้นทางการค้าที่มีมาเป็นพันปี เส้นทางสายไหมที่เชื่อมระหว่างเอเชียไมเนอร์และประเทศจีน พบเรื่องราวรอยโรคที่จีนในสมัยศตวรรษที่แปดถึงสิบ และเช่นกันโรครุนแรงและจีนก็เดือดร้อนมากเช่นกัน
ดังนั้นก่อนศตวรรษที่สิบเอ็ด โรคฝีดาษถือเป็นโรคติดต่อสำคัญ คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากมาย ไม่มีทางรักษาและติดต่อง่ายมาก เมื่อเริ่มศตวรรษที่สิบเอ็ด เริ่มมีรายงานการเจ็บป่วยในยุโรป โดยปรกติก็มีการเดินทางผ่านไปมาระหว่างยุโรป ไครเมีย ออตโตมาน มาถึงแถบอิหร่านอยู่แล้ว แต่ที่มาระบาดหนักๆก็ด้วยเหตุมหาสงครามที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ...สงครามครูเสด นักรบศักดิ์สิทธิ์จากทั้งสองศาสนาไม่เพียงแต่มาเยี่ยมเยือนเยรูซาเล็ม แต่กลับพาฝีดาษกลับไปที่บ้านเกิดตัวเองด้วย กองทัพฝรั่งเศสและรัสเซียได้รับฝีดาษไปเต็มที่เลย
และหลังจากนั้นการระบาดก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกตามเส้นทางการคมนาคมของชาวโลก และติดตามนักสำรวจชาวสเปนไปถึงแผ่นดินอเมริกา กระจายไปถึงอีสต์อินเดีย คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็มีการระบาดของฝีดาษหลายครั้งในสมัยอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เลยไปถึงทวีปออสเตรเลีย ระหว่าศตวรรษที่ 13 ถึง 17 การระบาดลุกลามขยายวงกว้าง แต่ว่าไม่ได้น่ากลัวมากเท่ากาฬโรค เพราะรอยโรคมันชัดเจนเป็นตุ่มขนาดนั้นก็ยากนักที่ใครจะเข้าใกล้
โรคนี้ไม่มียารักษานะครับ ประคับประคอง รอดก็อาจมีแผลเป็นหรือพิการ แต่ส่วนมากจะเสียชีวิต มนุษย์โลกงงๆ กับโรคนี้มาเกือบสองพันห้าร้อยปี จนกระทั่ง...
เริ่มมีเรื่องราวของคนที่สัมผัสโรค แต่เกิดโรคไม่รุนแรงแล้วหาย และไม่ติดฝีดาษอีกเลย เรื่องราวเล่าขานนี้ได้รับการบันทึกในจีนและอินเดียในสมัยศตวรรษที่สิบห้า มีการนำเอาฝีแห้งๆ สารคัดหลังแห้งๆจากฝีดาษมาป่นเป็นผงแล้ว "เป่า" เข้าจมูกคนปรกติ ปรากฏว่าคนที่ถูกเป่ามีอาการเล็กน้อยและหายไป หลังจากนั้นก็ไม่ติดโรคฝีดาษอีกแม้จะสัมผัสใกล้ชิด
ในดินแดนอินเดียและแอฟริกา พบว่าหากสัมผัสหนองจากฝีดาษที่แห้งแข็ง จะเกิดโรคที่ไม่รุนแรงและป้องกันไม่ให้เกิดโรคฝีดาษอีก แต่ถ้าสัมผัสหนองสดๆ จะติดรุนแรง
ด้วยวิธีนี้ เกิดคนหัวใส นำหนองที่มาจากคนเป็นโรคมาทำให้แห้ง ป่น หรือสะเก็ดแผลแห้ง เอามาแปะหรือ "inoculate" ลงบนผิวหนังที่ขูดให้เปิดเป็นแผลเล็กน้อย หลังจากนั้นอาจมีอาการน้อยๆ หรือไม่มีอาการ และสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษได้
แน่นอนคิดสตางค์เป็นธุรกิจใหญ่โต เรียกวิธีนี้ว่า Suttonian Method เป็นที่มาของการฉีดเชื้อฝังลงไปที่เรียกว่า inoculation หรือตอนนั้นเรียก variolation ตามชื่อไวรัส variola ตัวก่อโรคฝีดาษ แต่วิธีนี้ก็ดูสกปรกมาก แถมไม่ได้รับรองว่าจะได้ผลหรืออาจติดเชื้อจนตายก็ได้ ถึงกระนั้นพวกอีลิตในแถบเอเชียก็นิยมทำกันมาก
แน่นอนมันต้องมีจุดเปลี่ยน ในปี 1717 ภายหลังจากวิธี Suttonian ได้รับความนิยมสักพัก ทูตอังกฤษแห่งอาณาจักรออตโตมาน เลดี้มองตากู Lady Mary Wortley Montagu (แหมฟังชื่อแล้วไม่กล้าสบตาเลย) ได้เขียนจดหมายไปหาเพื่อนๆถึงวิธีที่ได้พบเห็นมา แน่นอนเพื่อนๆของเลดี้มองตากู เป็นคนใหญ่โต มีการศึกษาทั้งนั้น
ได้เรื่องเลยครับท่าน ข่าวแพร่กระจายไปทั่วโลก นับตั้งแต่ ปี 1720 จน 1800 โรคฝีดาษลดลงมากด้วยวิธี variolation ท่านประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันสั่งล็อตใหญ่มาทำให้กองทัพเลย มีการศึกษาเรื่องนี้แพร่หลาย เรียกว่า variolation คือต้นกำเนิดของการป้องกันโรคโดยเอาเชื้อโรคที่ใกล้ตายแล้วหรืออาจจะตายแล้ว นำมาฉีดเข้าร่างกายให้ร่างกายได้รู้จัก เรียนรู้ และสร้างระบบป้องกัน เพราะเชื้อมันอ่อนมันจึงไม่ก่อโรค เราเรียกวิชานี้ว่าวิชา วิทยาภูมิคุ้มกัน และการฉีดเชื้อให้ร่างกายเกิดภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคตนี้ว่า vaccination ใกล้กับ variolation ไหมครับ
แต่ด้วยความไม่แน่นอนของการใช้ Suttonian Method เหล่านักวิจัยชาวอังกฤษนำโดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ได้ศึกษาต่อไป และพบว่า cowpox (มาแล้วๆ ที่ให้ท่องไว้) เป็นเครือญาติกับ smallpox และถ้าหากสัมผัส cowpox ในวัวจะไม่เกิดโรคในคน และร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อ cowpox ซึ่งข้ามสายพันธุ์ไปปกป้อง smallpox หรือฝีดาษได้ด้วย โดยที่ไม่เกิดโรคฝีดาษ ปลอดภัย และใช้ได้ผลแน่เพราะเชื้อที่มาจากวัวยังเป็นเชื้อสดๆ ปริมาณและแอนติเจนมากมาย ต่างจากสะเก็ดแผลแห้งๆหรือหนองผงจากฝีดาษที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลจริงไหม
หลังจากใช้วัคซีนครั้งแรกในปี 1798 วัคซีนฝีดาษสูตรของเจนเนอร์ได้รับการรับรองมากกว่า และแพร่หลายไปทั่วโลก ได้รับการบรรจุเป็นวัคซีนจำเป็น อุบัติการณ์เกิดของโรคฝีดาษแทบจะแตะศูนย์ จนองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก หวังจะขุดรากถอนโคนฝีดาษให้หายไปจากโลกนี้ จึงจัดการ "ฉีดทุกคนในโลก" และฝันก็เป็นจริง
รายงานผู้ป่วยรายสุดท้ายในโซมาเลีย ปี 1977 ต่อจากนั้นสามปีให้หลังองค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหายไปจากโลกแล้วในปี 1980
โดยเก็บตัวอย่างเชื้อเอาไว้ศึกษาที่ CDC สหรัฐอเมริกาและที่รัสเซีย เผื่อสักวันที่เราอาจต้องเจอมันอีก .... แต่ทว่า เรื่องราวไม่จบแค่นั้น
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของอเมริกา ได้ประกาศรับรองยารักษาฝีดาษตัวใหม่ภายใต้โค้ด TROPXX หรือ Tecovirimat ที่รักษาหายในสัตว์ทดลองและไม่เกิดผลข้างเคียงในคน
หมายความว่าเจ้าฝีดาษกลับมาอีกหรือ ไม่นะครับ เขาไม่ได้ทำออกมาด้วยเหตุผลนั้น แต่อเมริกาผลิตออกมาเผื่อว่าจะถูกโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพฝีดาษต่างหาก น่ากลัวนะครับและน่าคิดว่าใครจะเป็นคนสร้างอาวุธนั้นขึ้นมา จะเป็นชาติที่จ้องทำลายสหรัฐ หรือเป็นสหรัฐเองที่ทำเช่นนั้น
เป็นจังหวะที่เราต้องจับตามอง ชีพจรโลกปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น