29 พฤษภาคม 2561

Wine and French Paradox

สวัสดีวันวิสาขบูชาประจำปี 2561 วันนี้ทุกท่านคงใจใส ใจสบายกันถ้วนหน้า เราก็เลยนำเสนอเรื่องราวเบาๆที่ย้อนแย้งกับวันทางศาสนานะครับ Wine and French Paradox

  เรื่องของแอลกอฮอล์กับผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาออกมามากมายทั้งที่เป็นการศึกษาดูเรื่องสารต่างๆ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณไขมันในเลือด หรือดูเป้าหมายหลักเลยคืออัตราการเสียชีวิตหรืออัตราการเกิดโรค คนที่บอกว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆก็มี คนที่บอกว่ามีประโยชน์นะก็มี (และมักถูกค่อนขอดว่า ข้ออ้างดื่มเหล้า) ทำไมแอลกอฮอล์ที่ทุกคนรู้ว่าเกิดผลเสียจึงมีการศึกษาแบบนี้ออกมาได้
  ในปี 1981 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้สำรวจอุบัติการณ์และความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจอุดตัน และพบว่ากลุ่มตัวอย่างจากเมืองตูลุส เมื่องลียง และเมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศสมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำกว่าทางตอนเหนือของยุโรปคือที่เบลฟาสต์และกลาสโกว์ ทั้งๆที่ปริมาณพลังงานและปริมาณไขมันอิ่มตัวเท่าๆกัน ต่อมาก็มีการศึกษาวิจัยออกมาทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลและการทดลองออกมาคล้ายๆกันว่า ประเทศฝรั่งเศสมีอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรปทั้งๆที่บริโภคไขมันอิ่มตัวพอๆ กัน
  ไขมันอิ่มตัวนี้ เป็นที่ชัดเจนมานานแล้วว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจุบันแนะนำให้มีพลังงานจากไขมันอิ่มตัวรวมไขมันทรานส์ไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้ต่อวัน และมีไขมันทรานส์ต่ำที่สุด แต่ในการศึกษาก่อนหน้านี้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในการศึกษารับประทานไขมันอิ่มตัวเฉลี่ย 15% ต่อวันเลยทีเดียว

  จึงมีความสงสัยสองประการ ประการแรกทฤษฎีไขมันอิ่มตัวมันไม่จริงเสียแล้ว หรือมีสิ่งอื่นที่มาทำให้ชาวฝรั่งเศสมีโรคน้อยกว่า การพิสูจน์สิ่งที่เรียกว่า French Paradox ได้ตำเนินไปในช่วงปี 1980-1990 จนกระทั่งพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่อธิบายปรากฏการณ์ที่กลับหัวอันนี้คือ แอนติออกซิแดนท์ในไวน์แดง  สรุปว่าทฤษฎีไขมันอิ่มตัวทำให้เกิดโรคยังถูกต้องอยู่ แต่มีปัจจัยอื่นมาแทรกแซงผลการทดลองในบางกลุ่ม ทำให้เกิดปรากฏการณ์กลับหัวแบบนี้  (แม้จะมีความเป็นไปได้จากเหตุอื่นได้อีก เช่นไขมันที่อาจต่างออกไปจากภูมิภาคอื่น แต่ทฤษฎีไวน์แดงได้รับการยอมรับมากที่สุด)
  ปัจจุบันเราก็เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะการทดลองใดว่า French Paradox และต้องสืบค้นว่าทำไมผลการศึกษากลุ่มที่กลับหัวจึงเป็นแบบนี้ เพราะสิ่งสำคัญคือ หรือทฤษฎีนั้นจะผิด !!

  เรากลับมาที่ไวน์แดง เมื่อมีการศึกษาต่อมาก็พบว่าคนฝรั่งเศสในยุคนั้นดื่มไวน์แดงที่ได้จากการหมักขององุ่นแถบนั้น ต่างจากภูมิภาคอื่นที่นิยมเบียร์หรือวิสกี้มากกว่า ผลการศึกษาพบว่าในไวน์แดงน่าจะมีสารสำคัญที่เป็นตัวแอนตี้ออกซิแดนท์ไขมัน ทำให้ไขมันในเลือดที่เป็นสาเหตุหลักของหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นไม่ส่งผลมากนัก อันได้แก่ polyphenols, resveratrol, หรือแม้กระทั่งตัวแอลกอฮอล์ในปริมาณเหมาะสม (เขาดื่มไวน์ในมื้ออาหารเล็กน้อยครับ นับหน่วยเป็นดื่มไม่ใช่เป็นลัง) 
   คำแนะนำในอาหารสุขภาพปัจจุบันและอาหารเมดิเตอร์เรเนียน สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินวันละสองดื่มมาตรฐานในชายและหนึ่งดื่มมาตรฐานในหญิง สำหรับปริมาณการดื่มต่อวัน และหากเป็นไวน์แดงก็จะดีกว่า   พอเห็นคำแนะนำแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไปซื้อไวน์มาดื่มนะครับ หากท่านไม่ดื่มอยู่แล้วก็ดีกว่า อย่าลืมผลเสียอื่นจากแอลกอฮอล์เช่นผลเสียที่ตับและค่าพลังงานที่สูงมากพอๆกับไขมัน ทำให้อ้วนได้  แต่สำหรับคนที่ดื่ม คำแนะนำสอนให้ดื่มเป็น ไม่ใช่ให้ดื่มเมา

  การรวบรวมการศึกษาในวารสาร Pathophysiology of Haemostasis and Thrombosis  ปี 2002 พบว่าคนที่ดื่มไวน์แดงอย่างเหมาะสมมีอัตราการเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่ไม่ดื่ม 32% และมีนัยสำคัญทางสถิติ หรือเมต้าอนาลัยสิสอันเดียวกันที่ลงมาในวารสาร circulation ก็พบว่าดื่มเบียร์เหมาะสมพบอัตราการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่า 22%  ***ย้ำว่าดื่มเหมาะสมไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันและคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆด้วยนะครับ***

สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ

ที่มา
 1.  
 2.Circulation. 2002;105:2836-2844




  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น