28 พฤษภาคม 2561

ยาไมเกรนตัวใหม่ Calcitonin Gene-Related Peptide erenumab

หลายท่านคงได้ยินข่าวยาไมเกรนตัวใหม่ หลายท่านแอบดีใจเพราะเป็นโรคนี้มานาน เรามาทำความรู้จักกันสักเล็กน้อย
1. โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคที่ทรมานมาก เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานทำให้สูญเสียหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก หลายๆครั้งที่คนปวดมากๆจะบอกว่า อยากจะตายๆให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
2. การรักษาโรคไมเกรน ก็จะมีการปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รักษาร่างกายให้แข็งแรง การใช้ยาเพื่อแก้ไขอาการปวดเฉียบพลัน และหากเป็นบ่อยและรุนแรงก็ให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
3. ยาที่ใช้รักษาอาการเฉียบพลันที่เฉพาะเลยคือกลุ่ม ยาจับกับ 5-HT 1D เพื่อต้านการออกฤทธิ์ ที่เรารู้จักกันในกลุ่มยาลงท้ายด้วย -triptan หรือยาแก้ปวดทั่วไปก็ใช้ได้เพราะอาการปวดแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนนั้น paracetamol ก็หายบางคนใช้ NSAIDs
4. ยาป้องกันที่นิยมใช้คือ ยากันชักเช่น topiramate ยาควบคุมการเต้นหัวใจ propranolol แต่ยากลุ่มนี้ต้องกินยานาน ผลข้างเคียงสูงทำให้อัตราการติดตามยาต่ำมาก โรคไม่หาย จึงมีการพัฒนายาป้องกันตัวใหม่ขึ้นมา Calcitonin Gene-Related Peptide (CGRP)
5.เจ้า CGRP คือโปรตีนที่เซลประสาทสร้างขึ้น มีผลในการควบคุมกระแสประสาทความเจ็บปวดและการขยายหลอดเลือดที่เป็นกลไกหลักของอาการปวดศีรษะไมเกรน หากเรายับยั้งการทำงานของเจ้าโปรตีนนี้ได้เราอาจรักษาไมเกรนได้ดี ก่อนหน้านี้มีการพัฒนายากลุ่มนี้ แต่ผลข้างเคียงสูงมาก (ตับอักเสบ)
6. จึงมีแนวคิดการใช้ ภูมิคุ้มกันของเราเองไปจับกับ CGRP ไม่ให้ทำงานได้ เพราะเป็นภูมิคุ้มกันของมนุษย์เราเอง ปฏิกิริยาจึงไม่มากและจับตรงจุด มีการสร้าง "กองทัพโคลน" ของแอนติบอดีที่จะไปจับโปรตีน CGRP นี้ เรียกว่า monoclonal antibodies คือสังเคราะห์มาแต่โคลนที่จะจับกับ CGRP อย่างแม่นยำ
7.การศึกษาในสัตว์ทดลองและคนปกติทั่วไป คนที่เป็นไมเกรนได้ผลดี จึงมีการศึกษาเปรียบเทียบในมนุษย์ที่เป็นไมเกรนปานกลางถึงรุนแรง ชื่อการศึกษา STRIVE ลงในวารสาร NEJM ปีที่แล้ว เพื่อวัดผลยาที่ชื่อ erenumab ในการปกป้องไมเกรนที่หกเดือน
8. นำผู้ป่วยที่ปวดไมเกรน 4-15 วันที่ปวดต่อเดือน อายุประมาณ 40 เป็นสุภาพสตรีเกือบ 80% ได้รับการป้องกันมาแล้วและล้มเหลวมาครึ่งหนึ่ง จำนวน 955 คน แบ่งเป็นได้รับ erenumab ขนาด 70 มิลลิกรัมใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง 28 สัปดาห์ กลุ่มสองได้ erenumab 140 มิลลิกรัม อีกกลุ่มได้ยาหลอก ติดตามอาการปวดว่าจะลดลงไหมที่หกเดือน
9. ผลการศึกษาพบว่ายาหลอกจะลดปวดลงได้ 1.8 วัน ส่วน erenumab 70 มิลลิกรัมลดปวดลง 3.2 วัน และ erernumab 140 มิลลิกรัมลดปวดลง 3.7 วัน ซึ่งความแตกต่างกันของยานั้นแตกต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาลำดับรองที่ดูคือ ปริมาณคนที่ปวดลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของความรุนแรงเดิม พบว่ากลุ่มได้ยาทั้งสองขนาด ลดลง 50% ยาหลอกลดลง 25% แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
10. ผลข้างเคียงที่พบบ้างคือ ปฏิกิริยาตรงจุดที่ฉีด ที่พบในกลุ่มได้ยามากกว่าแต่ไม่รุนแรง มีผลเรื่องเป็นหวัดคัดจมูกพอๆกัน ส่วนการเกิดผลเสียรุนแรงมากๆแทบไม่พบเลย
11. การศึกษา STRIVE เป็นการศึกษาสำคัญในการรับรอง erenumab การใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาไมเกรน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการศึกษายา Fremanezumab ลงในวารสาร JAMA ในการป้องกันไมเกรนในลักษณะเดียวกัน ใช้ Fremanezumab 225 และ 675 มิลลิกรัมเทียบยาหลอก "แต่ว่าระยะเวลานั้น" ฉีดใต้ผิวหนัง"เดือน"ละครั้ง 12 สัปดาห์ ดูผลการลดปวดที่ 12 สัปดาห์ก็ลดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน
12. อนาคตการปรับแต่งการทำงานโดยใช้สารต่างๆของร่างกายแบบมุ่งเป้าตรงจุดที่เรียกว่า targeted therapy หรือ precision medicine กำลังเข้ามาในทุกๆโรค แพทย์ยุคใหม่ต้องเข้าใจเรื่อง immunology เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น