21 พฤษภาคม 2561

เรื่องไข่ๆ มาอีกครั้ง

เรื่องไข่ๆ มาอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ผมเคยรวบรวมการศึกษาของไทยและต่างประเทศว่ากินไข่มากๆอันตรายหรือไม่ เดิมทีก็สรุปว่าแม้องค์ประกอบในไข่จะมีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลในระดับปานกลางถึงสูง (แต่ถ้าเทียบต่อน้ำหนักก็ถือว่าสูง) แต่แทบไม่ส่งผลกับระดับไขมันในเลือดหรืออันตรายจากโรคหัวใจเลย เพราะอย่าลืมว่าสารอาหารที่ดีอื่นๆในไข่ โปรตีนและวิตามินที่ดีมันก็มีมาก และระดับไขมันกับโคเลสเตอรอลในอาหารส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดไม่มากนัก (ต่างกันนะครับ ส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดไม่มาก กับส่งเพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจ อย่างไขมันทรานส์อาจส่งผลเพิ่มไขมันในเลือดไม่เท่าไร แต่กลับส่วผลต่ออัตราการเกิดโรคหัวใจมากเลย)
อีกทั้งไข่ก็เป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารที่ราคาถูก หาง่าย จึงแนะนำรับประทานไข่ได้ตามปรกติ อย่ากินมากจนเกินพอดีเช่นวันละ 10 ฟอง เพราะเราก็ไม่ทราบว่ากินหนักๆจะเป็นอย่างไร ในการศึกษาส่วนใหญ่สัปดาห์ละ 12 -20 ฟองก็ถือว่ามากแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยที่ทำงานวิจัยเรื่องการกินไข่ DIABEGG ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ทำงานวิจัยขึ้นมาอีกคล้ายๆเดิมลงตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่เป็นเบาหวานหรือเกือบจะเป็น (prediabetes) ที่มีน้ำหนักตัวเกิน มาให้การรักษาลดน้ำหนักโดยการจัดอาหารที่ถูกสัดส่วนผสมผสานแต่ลดพลังงานลง 500 กิโลแคลอรี่ ลดลงนี่คือลดลงไปกว่าพลังงานที่ควรได้รับนะครับ ไม่ใช่จากเดิมที่กิน
โดยมีนักโภชนาการกำหนดอาหาร มีระยะที่กินให้น้ำหนักคงที่และน้ำหนักลดลง รวมทั้งระยะติดตามต่อเนื่อง โดยรวมแล้วต้องกินเคร่งครัดอย่างน้อยครึ่งปี ยังไม่พอ ทุกคนยังต้องออกกำลังกายให้ได้ตามกำหนด มีการติดเครื่องนับก้าวเดินต้องออกกำลังไม่น้อยกว่าวันละหมื่นก้าว การรักษาเบาหวานก็รักษาตามเดิม
อ้าว..แล้วไข่อยู่ตรงไหน ...คำตอบนี้ไม่ยาก ไข่ก็อยู่ตรง ....
ครับเรื่องของไข่มาอยู่ตรงนี้ คือคนกลุ่มนี้เราก็จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย กลุ่มแรกกินไข่ปริมาณสูง 12 ฟองต่อสัปดาห์ (วันละสองฟองในมื้อเช้า หกวัน) โดยหักลบสัดส่วนของโปรตีนจากอย่างอื่น ให้โปรตีนโดยรวมและพลังงานเท่าเดิม เท่ากับกลุ่มไข่น้อย (โอ๊ะๆๆ พิมพ์ตก กลุ่มกินไข่ปริมาณน้อย)
ส่วนกลุ่มไข่น้อย กินไข่แค่ไม่เกิน 2 ฟองต่อสัปดาห์ โดยโปรตีนและพลังงานก็ชดเชยให้เท่ากับกลุ่มไข่เยอะ การประกอบอาหารก็ไม่ใช้น้ำมัน หรือถ้าใช้น้ำมันก็ใช้น้ำมันมะกอกปริมาณน้อยๆ
เรียกว่า กำกับพลังงานและสัดส่วนอาหารให้คงที่ วัดกันที่ไข่อย่างเดียว ว่ากลุ่มที่ไข่เยอะกับกลุ่มที่ไข่น้อย น้ำหนักตัว ค่าการอักเสบในเลือด ไขมัน รอบเอว ความดัน มันต่างกันหรือไม่
ปรากฏว่ามีคนที่อยู่ไม่ครบการศึกษาพอสมควร (หรือทนไข่มากๆไม่ไหว) drop-out rate มากกว่าที่กำหนดเล็กน้อย ต้องบอกว่าคนส่วนมากที่อยู่ในการศึกษา อายุมากกว่า 45 น้ำหนักประมาณ 95 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย 34-35 นะครับ และเมื่อติดตามไปสามเดือน หกเดือน หนึ่งปี ก็พบว่าทั้งสองกลุ่มน้ำหนักลดลงอย่างชัดเจน อันนี้แน่นอนเพราะจำกัด "พลังงาน" และออกแรงหนัก โดยทั้งกลุ่มไข่เยอะและไข่ย้อย เอ้ย ไข่น้อย มีตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของไขมันไม่ต่างกัน ลดน้ำหนักได้พอๆกัน สารการอักเสบในหลอดเลือด (ที่เป็นตัวบอกว่าโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ) ลดลงพอๆกัน ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ลดลงพอๆกัน แถมกลุ่มที่กินไข่น้อยกว่า โคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มมากว่ากลุ่มที่กินไข่เยอะเสียอีก (อาจเป็นเพราะต้องใช้แหล่งโปรตีนอื่นๆแทนไข่ที่อาจทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า)
แม้ในกลุ่มคนที่เสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจสูง การกินไข่เป็นแหล่งโปรตีนและพลังงาน ก็ไม่ได้เลวร้ายดังความเชื่อที่เชื่อกันมานะครับ แถมยังให้สารอาหารครบถ้วน ราคาถูก ประกอบอาหารได้หลากหลาย ดีกว่ากินซุปเป็ดสกัดตราลิเวอร์พูล หรือรังหงส์บรรจุขวดตราแอนฟิลด์
ก่อนจะจบ อยากให้ดูว่า การที่บอกว่าการศึกษานี้ดีและใช้ได้ ก็ต้องดูตัวเราหรือคนไข้เราว่าใช้ได้ตามวิธีของการศึกษานี้หรือไม่ อย่าคิดว่ากินไข่มากๆไม่เป็นไรก็จัดไข่ไป เรียงคิวกินไข่ แต่ไม่ออกกำลังกาย จัดเค้กตามไข่ จัดเหล้าเคล้าไข่ บีบนม(ข้น)ผสมไข่ อย่างนี้มันก็จะพลังงานเกินและอ้วนแน่
ไม่ว่าจะหยิบผลการศึกษาใดมาใข้ ต้องคำนึงถึง "วิธี" การศึกษาด้วยเสมอ อย่าหยิบแต่ผลลัพธ์นะครับ ทักษะการอ่านและวิเคราะห์วารสารจึงสำคัญมาก
ลิงค์เรื่องไข่เก่าๆของผม
ไข่ แบบภาพสนุกๆ
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1724428717873154
ที่มา
AmJClin Nutr 2018;107:1–11.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น