23 เมษายน 2561

โรคไม่ติดต่อ

โรคไม่ติดต่อ เป็นโรคที่ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากเพราะวิถีชีวิตและพัฒนาการของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่มนุษย์เราก็ได้มีการศึกษาค้นคว้าถึงการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ จนสามารถรับมือได้ดี
แต่หากเราเพียงแต่ตั้งรับรักษาโรค หรือควบคุมโรคให้ดีในเวลาปัจจุบัน ในอนาคตสภาพของโรคที่เดินหน้าต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดอัตราการตายและพิการได้อีก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องเงินค่าน้ำมันรถที่แสนจะสิ้นเปลือง หากรัฐบาลออกมาตรการลดราคาน้ำมันแน่นอน ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลเรื่องน้ำมันรถจะลดลงแน่ๆ (ขับรถเท่าๆ เดิมนะครับ) แต่ว่าหากไม่แก้ไขเรื่องเครื่องยนต์กับพฤติกรรมการขับเร็ว สุดท้ายก็จะสิ้นเปลืองอยู่ดี
แนวคิดการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. ระบุปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญให้ได้ก่อนเกิดโรค แล้วตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โรคถุงลมโป่งพอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ ดังนั้นการควบคุมเรื่องบุหรี่จึงสามารถลดอันตรายจากโรคถุงลมโป่งพองได้
2. ระบุปัจจัยเสี่ยงที่จะสามารถตรวจพบโรคได้ในระยะต้น แล้วคัดกรองให้ได้ ตัวอย่างคือ การตรวจเซลปากมดลูกในการตรวจภายใน หากพบการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ เซลผิดปกติในระดับไม่ใช่มะเร็ง ก็จะมีวิธีการคัดกรองที่เฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้
3. ตรวจพบตั้งแต่ต้นและควบคุมโรคให้อยู่ ตัวอย่างที่ชัดมากคือ หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน การเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบเฉียบพลันที่ทางประเทศไทยจัดขึ้น สามารถตรวจได้เร็วและรักษาได้ทันที ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มหาศาล
4. มองหาโอกาสเกิดโรคซ้ำในอนาคต แล้วให้การป้องกัน ไม่อย่างนั้นการรักษาในข้อ 1-3 ก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ เราทราบว่ามีโอกาสเกิดซ้ำสูงมาก และการป้องกันโดยใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ลดโอกาสการเกิดซ้ำได้ชัดเจน เราจึงให้ยาต้านเกล็ดเลือดไปตลอด
5. ประเมินโรคซ้ำ เพื่อป้องกันผลข้างเคียง ตัวอย่างชัดมาก คือ การตรวจตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หากพบเบาหวานเริ่มเข้าตา ก็จะใช้การรักษาไม่ให้ลุกลาม ซึ่งต้องตรวจซ้ำๆ และดักทางก่อนโรคจะลุกลาม
หรือ พูดสั้นๆคือ ป้องกันก่อนเกิด...ควบคุมโรคปัจจุบันให้ดี..และลดความเสี่ยงโรคที่จะเกิดในอนาคต
มุมมองการรักษาและข้อมูลของการรักษาจึงเปลี่ยนไป ท่านอาจจะเคยอ่านสิ่งที่ผมนำเสนอบ่อยๆ
1. การใช้ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ไปตลอด สำหรับผู้ป่วยหอบหืด แม้ตอนนี้จะควบคุมอาการได้ดีแต่เราต้องป้องกันการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมและการกำเริบในอนาคต
2. การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ลดไขมัน และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด คือยากลุ่ม statin, ezetimibe หรือ PCSK9i แม้ปัจจุบันจะควบคุมไขมันได้ดี แต่การใช้ยามันมีค่ามากไปกว่าแค่ลดไขมัน
3. การใช้ยาชีวภาพในการรักษามะเร็งปอด เพื่อไม่ให้โรคเกิดซ้ำ แม้การผ่าตัดและให้เคมีจะได้ผลดีมากแล้ว แต่ถ้ามีพันธุกรรมที่เสี่ยงมากต่อการเกิดซ้ำ การใช้ยาจะมีประโยชน์มาก ไม่อย่างนั่นการรักษาที่ผ่านมาก็ดูด้อยค่าไปหากต้องกลับมาเป็นซ้ำแน่ๆ
4. การใช้ยาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต แม้การควบคุมความดันโลหิตและโปรตีนที่รั่วมาจากปัสสาวะในผู้ป่วยไตเสื่อมจะคุมได้ดีแล้ว การใช้ยา RAS blockade ช่วยชะลอความเสื่อมได้ในระยะยาว
ข้อมูลที่เรามีมากขึ้นเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ได้รับการศึกษาอย่างดี ระเบียบวิธีวิจัยอย่างดี ผ่านการทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าผลจะไม่เอนเอียงในการทดลองใดการทดลองหนึ่ง ผ่านการวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง
แม้ข้อมูลใหม่ จะขัดกับข้อมูลเดิม การรักษาเดิม แต่วิชาแพทย์คือวิทยาศาสตร์ ข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องแม่นยำกว่าก็มาแทนที่ความรู้เดิมได้
นอกจากนี้สิ่งใหม่ๆอาจขัดกับความรู้สึกพื้นฐาน หรือความรู้ที่เคยรู้มา ทำให้ยากที่จะทำใจเชื่อและมีคนเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสรรพสิ่งในโลก แต่ว่าวิชาแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ตัดสินด้วย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสถิติ ที่พยายามให้ข้อผิดพลาดข้อบกพร่องน้อยที่สุด
สิ่งที่ออกมาคือ สิ่งที่ได้ประโยชน์กับประชากรส่วนมาก จึงเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ส่วนจะปฏิบัติอย่างไรกับแต่ละคน ก็ต้องใช้ศิลปะการใช้เป็นรายๆไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น