30 เมษายน 2561

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 7

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 7
1. เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ ไม่ว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ต่ำ จะต้องได้รับการประเมินและดูแลอย่างใกล้ชิดเสมอ คำแนะนำพื้นฐานคือ ควรควบคุมโรคให้ได้ก่อนการตั้งครรภ์เสมอ
2. ภาวะการตั้งครรภ์จะทำให้ไทรอยด์ผิดปกติ การตรวจติดตามผลจะแปลผลต่างออกไป และ แต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ก็มีความแตกต่างและความต้องการไทรอยด์ต่างกัน ดังนั้น ถ้าเป็นโรคไทรอยด์อยู่ เมื่อตั้งใจจะตั้งครรภ์ ให้แจ้งแพทย์ เมื่อผลการตั้งครรภ์เป็นบวกให้แจ้งแพทย์ ฝากครรภ์ก็ต้องดูแลร่วมกับสูติแพทย์ คลอดแล้วก็ต้องแจ้งกุมารแพทย์ และตรวจติดตามไทรอยด์เสมอ
3. คนที่เคยเป็นแล้วหายแล้ว อาจตรวจประเมินเมื่อตั้งครรภ์เท่านั้น ระวังว่าหากหายเพราะการกลืนแร่ไอโอดีน ต้องชะลอการตั้งครรภ์ออกไปครึ่งปี
4. ทารกในครรภ์ ใช้ไอโอดีนจากฮอร์โมนไทรอยด์ของแม่ การจัดการฮอร์โมนในช่วงการตั้งครรภ์สำคัญมาก ที่สำคัญคือหากเด็กในครรภ์มีภาวะไทรอยด์ต่ำ จะมีการเจริญเติบโตผิดปกติโดยเฉพาะประสาทและสมอง
ไทรอยด์เป็นพิษ
1. ควบคุมโรคให้ได้ หยุดยาก่อนการตั้งครรภ์ หรือผ่าตัดให้เรียบร้อยก่อน หากใช้การกลืนแร่รังสีไอโอดีน ให้ชะลออย่างน้อยครึ่งปีนะครับ
2. ผู้หญิงตั้งครรภ์ จะมีภาวะไทรอยด์เกินจากการตั้งครรภ์ได้ อันนี้รักษาตามอาการ ส่วนหากเป็นไทรอยด์เป็นพิษต้องรักษา บางคนก็มารู้ตอนตั้งครรภ์ ใช้ประวัติตรวจร่างกายแยกโรค อาจส่ง Thyroid Receptor Antibody ช่วยบอกว่าน่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษ และ แอนติบอดีนี้จะผ่านรกไปสู่ลูก
3. หากเด็กในครรภ์ไทรอยด์เป็นพิษ คอโตคลอดยาก และอาจมีใจเต้นเร็วมากได้
4. แต่เนื่องจากเราต้องการไทรอยด์จากแม่ไปให้ไอโอดีนกับลูก เราจึงควบคุมหย่อนลง ให้ค่าไทรอยด์เกือบๆถึงขอบบนของค่าที่ยอมรับได้ ไม่อย่างนั้นจะต่ำเกิน
5. ทั้งยา PTU และ MMI มีรายงานความผิดปกติในเด็กทั้งคู่ PTU น้อยกว่า จึงนิยมใช้ PTU แทน โดยเปลี่ยนตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์หรือจะตั้งครรภ์ ในรายที่คุมดีมากๆ จะหยุดยาแล้วติดตามในช่วงตั้งครรภ์ก็ได้
6. ติดตามผลถี่ขึ้น สำหรับแพทย์ ค่าฮอร์โมนไทรอยด์แต่ละตัวแต่ละไตรมาสต่างกันนะครับ ต้องทราบด้วย
7. ส่วนการให้นมบุตร ถ้าใช้ขนาดยาไม่สูงไม่เป็นไร นิยม MMI มากกว่า
ไทรอยด์ต่ำ
1. คนท้องต้องการไทรอยด์เพิ่มกว่าปกติ ดังนั้น ไทรอยด์เกินก็ต้องปรับยา ไทรอยด์ต่ำก็ต้องเพิ่มฮอร์โมน
2. ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์แรก จะต้องการเพิ่ม 20-30% หลังเดือนที่ห้า ความต้องการจะเริ่มคงที่
3. ปกติก็ติดตามค่า TSH ไม่ให้เกิน 2.5 หรือประมาณไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าปกติในแต่ละไตรมาส
4. เด็กไทรอยด์ต่ำเป็นปัญหามาก ดังนั้นการเพิ่มไทรอยด์เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเตรียมตัวดีๆตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อปรับยา หรือท่องไว้ ท้องได้แต่ให้มาบอกหมอก่อน
5. หลังตั้งครรภ์ให้นมได้ และกลับมากินยาไทรอยด์ขนาดก่อนการตั้งครรภ์
6. ปัญหาสำคัญของยาฮอร์โมนไทรอยด์ คือ ปฏิกิริยาการขวางการดูดซึม ควรกินแยกจากยาอื่นและท้องว่างๆ โดยเฉพาะเวลาตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะได้ธาตุเหล็กมาเสริม นี่แหละขวางกันอย่างดี ให้กินแยกเวลากัน
ขอขอบคุณการบรรยายของ อ.ชุตินธร ศรีพระประแดง และ อ.สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ของแถมฟรี
แนวทางของการจัดการไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ ATA 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น