20 เมษายน 2561

มะเร็งปอด (2)

มะเร็งปอด (2)
เอาล่ะ..ถ้าผ่าได้ คือระยะโรคไม่ลุกลามมากและมีโอกาสหายขาด ร่างกายแข็งแรงพอ ก็จะส่งผ่าตัดและติดตามด้วยการให้การรักษาหลังผ่าตัด ทั้งการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือให้ร่วมกันทั้งสองวิธี โดยต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียให้ชัด เพราะว่าหากหวังผลจะกำจัดเซลที่เหลือให้หมดจด แต่ต้องแลกมาด้วยผลเสียของการรักษาไม่ว่าจะด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ก็ต้องพิจารณาดีๆ
การฉายรังสี มีทั้งแบบฉายจากภายนอก ที่จะเจอผลข้างเคียงมากหน่อย ทั้งปอดและหลอดลมส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องก็อาจจะโดนผลข้างเคียงไปด้วย หรือลามไปถึงหัวใจก็มี
หรือการฉายแบบเฉพาะเล็งแบบสามมิติ เข้าสู่จุดเป้าหมายที่เรียกว่า stereotactic body radiotherapy ที่ให้ผลดีกับมะเร็งระยะต้นขนาดไม่ใหญ่มาก สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าไม่ได้
การใช้รังสีรักษานั้น มีตัวเลือกการใช้ที่จำกัดลงเพราะเทคโนโลยีของยาเคมีและยามุ่งเป้าที่ดีขึ้น ยังมีการใช้อยู่บ้างในรายที่ผ่าไม่ได้และโรคในระยะแรกๆ หรือผ่าแล้วแต่ตัดขอบมะเร็งไม่หมด หรือ มีการแพร่กระจายทางต่อมน้ำเหลือง
ส่วนยาเคมีบำบัด มีบทพิสูจน์ชัดเจนในเรื่องช่วยอัตราการรอดชีวิต ลดอัตราเสียชีวิตอันเกี่ยวข้องกับมะเร็งได้ ปัจจุบันสูตรที่นิยมใช้จะเป็นยาเคมีบำบัดสองชนิด ระยะเวลา 4-6 ช่วงการรักษา ยาที่ใช้เป็นหลักคือ platinum-based ได้แก่ cisplatin, carboplatin ยากลุ่มนี้จะมีผลคลื่นไส้อาเจียนมาก มีผลรบกวนการทำงานของไต และยาตัวที่สอง ยาตัวที่สองนี้มีหลายสูตรที่จะมาจับคู่กับ platinum เช่น paclitaxel, docetaxel, permetaxed
แต่ยาเคมีบำบัด คือ การใช้สารเคมีที่ไปออกฤทธิ์กับเซลที่มีการแบ่งตัวเร็วๆ คือเซลมะเร็ง เซลที่แบ่งตัวเร็วอื่นๆก็อาจจะโดนผลกระทบไปด้วย เช่น ผมร่วง เล็บเปลี่ยนสี กดเซลเม็ดเลือดในไขกระดูก หรือมีผลต่ออวัยวะอื่นเช่น ไตเสื่อมลง ตับอักเสบ เข้าสู่สมองทำให้คลื่นไส้อาเจียน
คนไข้หลายคนเมื่อทราบว่าจะต้องให้ยาเคมีบำบัดถึงกับขอไม่รับยา เพราะกิตติศัพท์ความน่ากลัวของยาเคมี หรือมีคำกล่าวที่ว่า ให้ยาเคมีแล้วตายมากกว่ามะเร็งเสียอีก ต้องขอบอกว่าจริงๆไม่ใช่แบบนั้น การศึกษาทางคลินิก การศึกษาแบบติดตามในชีวิตจริง การศึกษาแบบรวบรวมงานวิจัย ออกมาอย่างชัดเจนว่า หากสมควรให้ยาและพร้อม โอกาสอยู่รอดมากกว่า โอกาสโรคเกิดซ้ำน้อยกว่า
แต่หากโรคอยู่ในระยะลุกลามแต่ยังไม่แพร่กระจาย หรือ ไม่รุนแรงแต่ผ่าตัดไม่ได้ การให้การรักษามีหลายแบบมาก และอาจต้องให้การรักษามากกว่าหนึ่งวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา พบว่า 20-30% ก็สามารถใกล้เคียงหายขาดได้ หรือติดตามไปนานโรคก็ไม่กลับมาโดยที่คุณภาพชีวิตยังดีมาก
การรักษาหลายแบบนั้น ก็เป็นการรักษาคล้ายๆแบบที่จะรักษาให้หายขาด ได้แก่การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การใช้คลื่นความร้อนคลื่นวิทยุทำลายก้อน
แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาและมีประโยชน์อย่างมาก คือ การให้ยา target เช่น erlotinib, gefitinib, nilotinib, afatinib, pembrolizumab เพราะการรักษาระยะนี้จะต้องให้ยาในระยะยาว หากใช้ยาที่พิษสูงเช่นยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงต่ออวัยวะอื่นจะรุนแรงมาก
ส่วนยารักษามุ่งเป้านี้ มีผลต่ออวัยวะอื่นน้อยมาก การใช้ในระยะยาวจึงไม่ค่อยเกิดปัญหา และผลการรักษาก็ออกมาดี แม้จะไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวม แต่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง การกำเริบของโรคลดลงมาก ต้องแลกมาด้วยการกินยาราคาแพงเกือบตลอดไป จะหยุดยาเมื่อกำเริบหรือมีหลักฐานว่าหายขาด
ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาการใช้ยากลุ่มนี้ในกรณีโรคลุกลามแพร่กระจาย โรคกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษาครั้งแรก กลุ่มโรคระยะไม่ลุกลามที่ผ่าไม่ได้ หรือในกลุ่มที่ผ่าตัดได้หวังหายขาด เพราะว่ายากลุ่มนี้มีข้อมูลชัดเจนว่าการใช้ยากลุ่มนี้มีประโยชน์มากกว่าให้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวอย่างชัดเจน
บทความทั้งสองตอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการในการรักษามะเร็งปอดก้าวหน้าขึ้นมากมาย ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระยะหายขาดได้หากโรคไม่รุนแรง สามารถควบคุมโรคได้ในกรณีเอามะเร็งออกไม่ได้หรือไม่หมด
พึงระวังไว้ว่าแม้ข้อมูลจากการศึกษา การรวบรวมงานวิจัยจะออกมาดีเพียงใด ผลที่ได้จะแปลจากกลุ่มตัวอย่าง หรือข้อมูลระดับประชากร การตัดสินใจรักษารายบุคคลเป็นเรื่องที่ผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล แพทย์ ทีมการรักษา จะต้องมาคุยหาบทสรุปวิธีที่ดีที่สุดร่วมกัน อาจจะไม่ใช่วิธีตามแนวทางก็ได้ และอย่าลืมคำนึงถึงคนจ่ายค่ารักษา ไม่ว่าจะจ่ายเองหรือมีสวัสดิการใดๆ เพราะข้อกำหนดจะแตกต่างกัน
หวังว่าคงทำให้ท่านเข้าใจมะเร็งปอดได้ดีขึ้นนะครับ
ข้อมูลแนวทางการรักษา non-small cell lung cancer จาก European Society of Medical Oncology 2017, NCCN guideline, American Society of Clinical Oncology, American Cancer Society

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น