31 มีนาคม 2561

ลดการนอนโรงพยาบาล

การลดโอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มันสำคัญอย่างไร

  ขอยกตัวอย่างโรคที่ชัดเจนที่สุดโรคหนึ่งคือ หอบหืด หากผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดีไม่มีอาการกำเริบจนต้องเข้าโรงพยาบาลจะเสียค่ารักษาพยาบาลต่อปี ประมาณ 15,000 บาทหรือเดือนละ 1,000 บาทเศษๆ สำหรับค่ายา ค่าตรวจ ค่าหมอ ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ค่าการขาดงาน
  เทียบกับรายได้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 10,000 ต่อเดือน คิดเป็น 10% ต่อเดือน ก็ไม่น้อยเชียวนะ

  แต่ถ้าต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคกำเริบ แต่ละครั้งประมาณค่าใช้จ่ายที่ 40,000-70,000 บาท คิดกลางๆกลมๆที่ 50,000 บาทแล้วกัน คิดหมดทั้งค่าห้อง ค่าพยาบาล ค่ายา ค่าเสียเวลาเสียโอกาส คนเฝ้าต้องขาดงาน พักฟื้น ... ป่วยครั้งเดียวเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบควบคุมได้เกือบ 4 ปี

  การรักษาบางอย่างในบางโรค อาจไม่ได้ลดความรุนแรงมากนัก อาจไม่ลดอัตราการเสียชีวิต แต่ถ้าช่วยลดโอกาสการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาสั้นลง ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก ใครรักษาโรงพยาบาลเอกชนก็จะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนทีเดียว
  เราอาจจะได้ยินบ่อยๆ ยาตัวนี้ช่วยลดอัตราการรับการรักษาในโรงพยาบาลจากหัวใจล้มเหลว ยาตัวนี้ช่วยลดการนอนโรงพยาบาลให้สั้นลง หรือการรักษาแบบนี้ทำให้อยู่ไอซียูไม่นานเช่น การมีโปรแกรมหย่าเครื่องช่วยหายใจ เทียบกับการหย่าตามใจหมอ ศึกษามาแล้วว่าการใช้โปรแกรมหย่าเครื่องสำเร็จสูงกว่า เร็วกว่า และ ประหยัดวันนอนไอซียูมากกว่า

  แม้จะไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมหรือไม่ได้ลดในมิติของโรค แต่สามารถลดงบการจัดการสุขภาพโดยรวม หรือโดยส่วนตัวกับคนที่ควักสตางค์จ่ายเองได้
  แต่หากรวมไปถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อม ทั้งเวลาที่เจ้าหน้าที่จะได้ดูแลคนไข้ใน ทรัพยากรเตียงที่จำกัด เวลาที่คนไข้และญาติเสียไป ความสุขสบายใจที่หายไปจากการรักษาคนไข้

  การรักษาที่ช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและช่วยลดวันนอนมันก็มีประโยชน์ไม่แพ้การรักษาที่ลดอัตราการเสียชีวิตเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น