08 กุมภาพันธ์ 2561

propylthiouracil (PTU) กับ methimazole (MMI)

ยาต้านไทรอยด์สามัญประจำโรงพยาบาล propylthiouracil (PTU) กับ methimazole (MMI) การเลือกใช้และข้อควรระวัง (ไม่ได้พูดถึง lithium และ cholestyramine นะครับ ส่วน carbamazole คิดว่าคงไม่ใช้กัน)
1. ยาต้านไทรอยด์ หน้าที่หลักคือ ทำให้ฮอร์โมนเข้าสู่ภาวะปกติ หน้าที่ที่โชคดีได้เพิ่มคือ กลไกการควบคุมกลับมาตามเดิมและสามารถปรับภาวะแพ้ภูมิตัวเองได้ ดังนั้นผู้ที่ได้รับยาจึงมีโอกาสหายได้เลย 50-60%
2. ยาไทรอยด์มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงทั้งคู่ ก่อนให้ควรทราบและควรแจ้งให้คนไข้ทราบ ดังนี้ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ไข้ ปวดข้อ ตัวเหลือง ติดเชื้อรุนแรง ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงจะพบบ่อย แต่ที่รุนแรงพบน้อยกว่า ผลที่อันตรายกว่า สามประการคือ ตับอักเสบ และเม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ และเกิดหลอดเลือดอักเสบ (ANCA associated vasculitis)
3. ยาทั้งสองตัวสามารถรักษาไทรอยด์เป็นพิษได้ดีทั้งคู่ แต่ว่า PTU พบว่าเกิดผลข้างเคียงบ่อยกว่า และ PTU จะเกิดผลข้างเคียงแบบที่คาดเดาไม่ได้ไม่สัมพันธ์กับขนาดยา แต่ในขณะที่ MMI จะขึ้นกับขนาดรักษา ยิ่งขนาดสูง ผลข้างเคียงก็มากขึ้น
** 4. ดังนั้น ยาที่ควรเลือกใช้มากกว่าคือ methimazole (strong recommendation, moderate evidence) นอกจากโอกาสเจอผลเสียน้อยกว่ายังสามารถให้ยาวันละครั้งอีกด้วย ข้อการให้ PTU ในปัจจุบันเหลือแค่สามข้อ คือ ในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก, ภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง thyroid strom และ ไม่สามารถใช้ยา MMI ได้ ร่วมกับไม่ยอมกลืนแร่ไอโอดีน ไม่ยอมผ่าตัด **
5. พิษต่อตับ MMI เกิดน้อยกว่าและมักจะมีอาการน้ำดีคั่ง (cholestasis) ส่วน PTU พบมากกว่าและมักจะพบตับอักเสบไปจนถึงตับวายได้ แนะนำตรวจเลือดเพื่อเป็นพื้นฐานก่อนให้ยา และจรวจเมื่อมีอาการสงสัยแพ้ยา ไม่แนะนำให้ตรวจติดตามเป็นประจำโดยไม่มีอาการ
6. เม็ดเลือดขาวต่ำ agranulocytosis เป็นเม็ดเลือดขาวที่มี แกรนูล คือสารที่ไปต่อสู้เชื้อโรคโดยตรง เกณฑ์ที่เรียกว่าต่ำคือ นิวโตรฟิลล์ น้อยกว่า 500 ตัวต่อเลือดหนึ่งซีซี อันตรายคือติดเชื้อง่ายและอาจรุนแรงได้ ***พบมากสุดคือติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ*** ถ้ากินยาไทรอยด์แล้วติดเชื้อลำคอ ต้องคิดถึงภาวะนี้เสมอ โดยทั่วไปมักเกิดใน หนึ่งถึงสองเดือนแรก และอาจพัฒนาไปเป็นเม็ดเลือดทุกอย่างต่ำหมดได้ (pancytopenia)
7. ควรตรวจนับเม็ดเลือดก่อนให้ยา (CBC) และตรวจซ้ำทุกครั้งที่มีอาการติดเชื้อหรือลำคอติดเชื้อ แต่ก็ไม่แนะนำให้ตรวจเป็นประจำในคนที่ไม่มีอาการ อันนี้เหมือนการตรวจเรื่องตับอักเสบเลย ถ้าเกิดเหตุก็หยุดยาและอาจต้องให้สารกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหากติดเชื้อรุนแรง
8. การใช้ยา MMI เริ่มที่ 10-30 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วงแรกอาจให้เช้าเย็น เมื่อลดขนาดยาก็ให้ยาวันละครั้งได้ พยายามให้ไทรอยด์กลับมาสู่ปกติเร็วที่สุดและใช้ขนาดการรักษาต่ำสุด ส่วน PTU เริ่มที่ 50-150 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ยาตัวนี้ต้องแบ่งให้สามเวลา
9. ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดและอันตรายที่สุดของยาทั้งสองตัวคือ ไม่มีการปรับยา ใช้ยาในขนาดสูงต่อเนื่องจนคนไข้มีอาการฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
10. มีใครช่วยบอกทีว่า MMI มันย่อมาจากอะไร ??
ที่มา american thyroid associations guideline 2016 และ american associations of clinical endocrinology guideline 2011
จำอะไรไม่ได้ จำข้อสี่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น