20 มกราคม 2561

Plaster of Paris

แดดร่ม ลมตก เลิกงาน ..ถึงเวลาไปชงกาแฟอุ่นๆ ขนมสโคนหอมๆ กลิ่นกรุ่น นั่งลงบนโซฟาและอ่านเรื่องราวของ Plaster of Paris

  ปูนปลาสเตอร์แห่งนครปารีส เป็นชื่อเรียกอันหนึ่งของ "เฝือก" น้องๆยุคนี้อาจจะโตมากับเฝือกชนิดไฟเบอร์เรซิ่น แต่ในอดีตอันยาวนานสมัยแอดมินยังหน้าใสๆ ใจซื่อๆ เรียนแพทย์นั้น เราใช้เฝือกปูนครับ เรามาฟังเรื่องราวของเฝือกปูนกันสักหน่อย

   ตั้งแต่โบราณสมัย ย้อนกลับไปยังยุคของอาณาจักรอียิปต์เราก็พบว่ามีการ "immobilization" การตรึงยึดส่วนที่กระดูกหักให้อยู่นิ่ง การค้นพบนี้ไม่ได้มีการบันทึกแต่ว่าพบอยู่ในหลุมศพของชาวอียิปต์ โดยเฉพาะของนักรบ กษัตริย์ ที่พบมีการใช้ด้ามไม้ประกบขาที่หักและพันยึดไว้ แสดงว่าความรู้เรื่องการซ่อมกระดูกมีมาแต่ยาวนาน จนถึงสมัยฮิบโปเครตีสก็มีการบันทึกเรื่องการรักษากระดูกโดยปล่อยนิ่งๆแล้วจะติดเอง ดามเอาไว้ด้วยยางไม้ก็พอ (ฮิปโปเครตีส เป็นคนที่มีแนวคิดธรรมชาติจะรักษาตัวเอง เราแค่ยอมรับและปรับตัว) จนถึงอาณาจักรเปอร์เซียที่หมอยุคนั้นใช้ ผงแป้งผสมดินเหนียวและไข่ขาวทำเป็นเฝือกดิน แต่ว่าแตกง่ายไม่สะดวก ยางไม้ก็หายาก

   และต่อมาจนถึงสมัยที่กระดูกหักเกิดมากขึ้น ... สมัยแห่งสงครามนั่นเอง

  ต้นศตวรรษที่ 18 สงครามนโปเลียนโดยท่านจักรพรรดิร่างเตี้ย นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้กรีธาทัพเข้าครอบครองยุโรป แน่นอนย่อมมีการบาดเจ็บ กระดูกหัก
   คุณหมอ Henry Francois Le Dran ได้คิดค้นวิธียึดตรึงกระดูก โดยใช้ ผ้าพันแผลชุบส่วนผสมของไข่ขาว น้ำส้มสายชู ผงดิน ทำให้กลายเป็นดินหุ้มขาที่หักเอาไว้ แข็งและเหนียว แต่ว่ายาก เปลืองเวลา ใช้เวลานานกว่าจะแข็ง (เฝือกนะครับ อย่าคิดเกินเลย) จึงเรียกว่าเป็นต้นแบบเฝือกที่ใช้ไม่ได้จริง แต่หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาต่อไปมากขึ้นทั้งฝั่งฝรั่งเศส อังกฤษ จน Le Dran ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศัลยแพทย์ทหารเลยทีเดียว

  ในสงครามวอเตอร์ลู สงครามที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรป เกิดขึ้นที่เมืองวอเตอร์ลู ประเทศเบลเยี่ยมในปัจจุบัน ซึ่งสมัยนั้นถูกปกครองโดยดัตช์ ...สมัยนั้นพลพรรคฟลายอิ้งดัตช์แมนเกรียงไกรมาก ..ครองเจ้าสมุทรเลย   ที่เมืองวอเตอร์ลูนี้ พันธมิตรต้านนโปเลียนโดยปรัสเซีย (สายพันธุ์เยอรมันทุกวันนี้) และสหราชอาณาจักร ได้ทำสงครามต่อสู้กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียน
...
...ที่นี่ นโปเลียนพ่ายแพ้ และนำไปสู่การสิ้นสุดยุคแห่งจักรพรรดิสงคราม เขาถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเซนต์เฮเลน่า..

   เอ้าเข้าเรื่อง ...ด้วยสงครามครั้งนี้ ศัลยแพทย์สนาม Seutin ได้ดัดแปลงวิธีของ Le Dran มาเป็นใช้ผ้าพันแผลลินินเคลือบสารน้ำส้มสายชู ผงดิน ผงตะกั่ว เมื่อพันแล้วก็ชโลมน้ำแล้วพอกซ้ำ ทำให้เฝือกแข็งแรงมาก แต่แพงมากและใช้เวลานานกว่าจะแข็งตัว (เฝือก นะ เฝือก !!)
  และที่อังกฤษคุณหมอ Joseph Sampson Gamgee ก็ได้ใช้ผ้าพันแผลเคลือบดินเพื่อใช้ทำเฝือกเช่นกัน โดยใช้วัสดุผ้าสำลีมาเป็นตัวยืนพื้น ผ้าสำลีอันนั้นก็คือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ผ้าพันแผลชนิด gamgee (แกมจี) ที่เป็นม้วนผ้าสำลี ซึมซับได้ดี ผืนใหญ่ๆ  คุณหมอก็ได้คิดผ้าแบบนี้ตอนที่อังกฤษเข้าสงครามไครเมีย ระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรยุโรปเพื่อหวังครอบครองดินแดนออตโตมัน
...
...แต่ก็ยังไม่สำเร็จไปสู่เฝือกที่ดี ปัญหาที่สำคัญคือ ต้องใช้วัสดุมากมายเฝือกจึงแข็งแรง ทำให้เฝือกหนา เทอะทะ แพง และที่สำคัญคือ "แข็งตัวช้า" ใช้เวลาหกถึงสิบชั่วโมงเลยทีเดียว ไม่ทันกับการสงครามแน่ๆ

แต่ทว่าตอนนั้น ความสำเร็จได้ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในโลกแห่งศิลปะ โดยปูนปลาสเตอร์ ...plaster..

  สมัยนั้นปูนปลาสเตอร์ที่ได้จากหินปูนเผาเป็นรูปคริสตัล (lime)  ได้รับความนิยมเวลาทำงานปูนปั้น ก่อสร้าง เพราะสะดวก ผสมง่าย และแห้งเร็ว แต่มันก็ไม่ได้แข็งแรงมากจึงใช้เคลือบโครงสร้างที่ขึ้นรูปแบบให้ดูสวยงาม สีขาวนวล ซึ่งจริงๆก็มีใช้มาแล้วในสมัยโรมันหลักฐานจากการเคลือบปูนของหลุมศพทหารโรมัน แต่เมื่อโรมันสูญสลายไป ก็ไม่ได้มีการบันทึกการใช้อย่างชัดๆถึงอรรถประโยชน์แห่งปูนปลาสเตอร์

   แล้วมันมาเป็น ปลาสเตอร์ ออฟ ปารีส ได้อย่างไร หลายที่บอกว่าเพราะแหล่งทำปลาสเตอร์อยู่ใกล้ปารีส หลายที่บอกว่าค้นพบที่ปารีส แต่จากการไปค้นหลักฐานของแอดมินแก่ๆท่านหนึ่งก็พบว่า ปลาสเตอร์มันมีกระจัดกระจายไปทั่วยุโรปตามการปกครองของโรมัน และเมืองแต่ละเมืองที่โรมันไปยึดครองก็มีแหล่งทำปลาสเตอร์อยู่ทั่วไป สมมุติฐานนี้จึงตกลงไปก่อน
   มีอีกสมมติฐานหนึ่ง ที่เขาเล่าว่า สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่สามแห่งอังกฤษ (อย่าสับสนกับอองรีที่สามแห่งฝรั่งเศสนะครับ เขียนเหมือนกันแต่ อองรีที่สามเกิดหลังเฮนรี่ที่สาม เกือบสามร้อยปี) ไปเที่ยวเมืองปารีสแล้วเห็นสถาปัตยกรรมปูนปลาสเตอร์กำแพงสีขาวแล้วทรงประทับใจ รับสั่งให้นำเอาเทคโนโลยีการใช้ปูนปลาสเตอร์มาใช้ในอังกฤษ และเรียกปูนแบบนั้นว่า Plaster of Paris
...
...แต่ก็อยู่ในวงการก่อสร้างและศิลปะ เข้ามาอยู่ในวงการเฝือกได้อย่างไร..
..
..ปี 1839 ศัลยแพทย์ประจำกองทัพฮอลแลนด์ Anthonius Mathijsen ได้ทดลองใช้ปูนปลาสเตอร์บ้าง โดยใช้แถบผ้าลินินแบบผ้าพันแผลเคลือบด้วยปูนปลาสเตอร์ชนิด ปลาสเตอร์ปารีสนี่แหละครับ ก่อนที่จะใช้เขาเอาไปจุ่มน้ำอุ่นให้ชุ่มแล้วนำมาพันรอบแขนขาที่หัก การใช้แถบเคลือบผ้าแบบนี้ และการใช้น้ำอุ่นทำให้เฝือกแข็งตัวได้ในเวลาไม่กี่นาที น้ำหนักเบา ทนทาน สามารถดัดรูปได้ก่อนที่มันจะแข็ง
  เขาได้บันทึกวิธีของเขาในปี 1852 หลังจากใช้จนมั่นใจ ลงใน reportorium นิตยสารการแพทย์สมัยนั้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลดีผลเสียของเฝือกยุคก่อนหน้านี้ด้วย  เฝือกของ Mathijsen ได้รับความนิยมและมีการดัดแปลงสูตรในแบบต่างๆและใช้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่กระบวนการผลิตถาวรและใช้ในสงครามโลกทั้งสองครั้ง
..
  plaster of Paris คือ ยิปซั่มที่ได้จากกระบวนการเผาเอาน้ำออกไปจากโมเลกุล ด้วยความร้อนสูง 120 องศาเซลเซียส เมื่อจุ่มน้ำก็จะคืนรูปและแข็งใน 15-20 นาที โดยการคายความร้อนออกมาและแข็งขึ้น ด้วยความร้อนและการระคายเคืองจึงมีการใช้ผ้าสำลีพันก่อนจะใส่เฝือกลงไป และเฝือกนี้ถอดง่าย สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์ได้ไม่ทึบแสง ไม่บังเงากระดูก

ปัจจุบันนี้เฝือกทำด้วยวัสดุชนิดใหม่ ที่แข็งแรงกว่า เบากว่า เก็บรักษาง่ายและใช้ง่ายกว่าคือ ไฟเบอร์กลาส ความนิยมเฝือกปูน plaster of Paris ลดลงมาก จนน้องยุคใหม่อาจเกิดไม่ทัน "เฝือกปูน"

หลักฐานได้จากหลายๆที่มาปะติดปะต่อกัน เรียงถ้อยร้อยความสนุกๆให้ทุกคนได้อ่าน พักผ่อนวันศุกร์ หลังจากเหนื่อยกับงานมาทั้งสัปดาห์

รักทุกคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น