20 มกราคม 2561

MultiOrgan Dysfunction Syndrome

MODS สำหรับชาวไอซียูแล้ว นี่ถือว่าเป็นภาวะที่น่ากลัวมาก multiorgan dysfuction syndrome

  มีคำจำกัดความหลายอย่าง แต่รวมๆผมขอสรุปว่าเป็นภาวะที่ระบบร่างกายทำงานแย่ลงมากๆพร้อมกันหรือต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองระบบอวัยวะ  ยังไม่ใช้คำว่าล้มเหลว เพราะมันยังไม่ล้มเหลวเพียงแต่อ่อนแรงลงมากๆเท่านั้น  ภาวะนี้มักจะเป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นโดมิโน คือเมื่อเกิดโรคหรือการบาดเจ็บกับอวัยวะใดระบบใดของร่างกาย ปกติระบบอวัยวะนั้นก็จะพยายามซ่อมตัวเอง โดยไม่ให้ส่งผลกวนอวัยวะอื่นมากนัก
   เพราะร่างกายเราแยกกันไม่ได้และมีโครงข่ายการทำงานที่สอดประสานแนบแน่นมาก สมดุลระบบอวัยวะใดที่แปรปรวนไปจะส่งผลต่ออวัยวะอื่นเสมอ และถ้าสมดุลถูกรบกวนมากๆ ระบบอวัยวะอื่นก็จะถูกดึงให้แปรปรวนมากเช่นกัน

  ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ตัวอย่างที่หนึ่ง
  ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เมื่อมีการอักเสบเฉียบพลัน เอนไซม์ต่างๆของตับอ่อนสามารถไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบ กระตุ้นได้ดี กระตุ้นได้รุนแรงพร้อมๆกัน ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดไม่แนบแน่นแข็งแรง สารน้ำในเลือดออกมานอกหลอดเลือด หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดไปอวัยวะต่างๆ ซึ่งก็ส่งไปไม่ถึงเท่าไร เลือดไปที่ปอดน้อยออกซิเจนในเลือดต่ำ ระดับออกซิเจนในอวัยวะต่างๆลดลง ความเสียหายเริ่มกระจายเป็นวงกว้าง ของเสียคั่งค้าง หวังจะไปกำจัดที่ไต ไตก็ปิดบริการชั่วคราว เพราะตัวเองก็ไม่ไหว ของเสียต่างๆก็ไปกระตุ้นการบาดเจ็บและการอักเสบต่อไปอีก

  ตัวอย่างที่สอง
  ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและลุกลามไปที่ไต การติดเชื้อเริ่มลุกล้ำเข้ากระแสเลือด และสะสมเป็นหนองรอบไต สารพิษจากแบคทีเรียไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เม็ดเลือดขาวของร่างกายหลั่งสารมาสู้การอักเสบ สงครามครั้งนี้ขยายวงกว้าง จนสารอักเสบและสารต้านการอักเสบไหลไปตามกระแสเลือด ไปก่อความเสียหาย ณ จุดต่างๆ เดิมที่การติดเชื้อที่ไต ไตก็เสื่อมการทำงานพอสมควร ของเสียคั่งค้างมากแล้ว ยิ่งเกิดสงครามขยายวงกว้าง สารพิษสะสมในเลือดและอวัยวะต่างๆมากขึ้น ยิ่งเกิดกระบวนการอักเสบลุกลาม จนปอดทำงานแย่ลง หัวใจบีบตัวน้อยลง  ระบบอื่นๆก็จะล้มลง

  ทำไมคนๆหนึ่งจึงจะมี MODS เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่แนวโน้มคำตอบที่สำคัญคือความไม่สมดุลกันของระบบภูมิคุ้มกัน ทำงานน้อยไปจนเชื้อโรคลุกลามหรือทำงานมากเกินจนทำลายจุดอื่นๆ  พันธุกรรมที่จะมีผลต่อการตอบสนองต่อร่างกาย สารกระตุ้นการอักเสบอาทิเช่น Interleukin 6, tumor necrotic factor alpha  สารสื่อสารการอักเสบในร่างกายโดยเฉพาะ Toll-liked receptor  สารเคมีและฮอร์โมนเช่น activated protien C, steroid
  การศึกษาที่ผ่านมาในอดีต เราพยายามที่จะหยุดปฏิกิริยาการอักเสบ เอาสารกระตุ้นการอักเสบรุนแรงนี้ออก เพื่อไม่ให้ความเสียหายนั้นลุกลามมากเกินไป แต่ทว่าผลการศึกษาออกมายังไม่ดีนัก แนวทางการรักษาปัจจุบันจึงออกมาว่า ระบุสาเหตุแห่งอวัยวะล้มเหลวให้เร็วที่สุด ให้การช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ก่อนที่ความเสียหายจะกลับคืนมาไม่ได้ ประคับประคองให้ร่างกายสมดุลที่สุดเท่าที่จะไม่มีผลเสีย

  เราจะแปลง่ายๆออกมาเป็นการรักษาดังนี้ การควบคุมสาเหตุ และ การรักษาระบบการขนส่งในร่างกายให้ดี

  การควบคุมสาเหตุ เช่น การติดเชื้อให้ยาฆ่าเชื้อให้เหมาะสม หากมีฝีหนองต้องทำการผ่าตัดระบายออก ทำการฟอกเลือดหากมีสารพิษ รักษาฮอร์โมนไทรอยด์ในกรณีไทรอยด์เกินมาก เรียกว่าการรักษาเฉพาะแบบต้องทำให้เร็ว และถูกต้อง ถ้าไม่ทำตรงนี้ประคับประคองเก่งแค่ไหนก็ไม่ดี 

  การรักษาระบบขนส่ง คือระบบไหลเวียนเลือดและการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจน พร้อมทั้งรับของเสียมาระบายออก ต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆกันนะครับ รวดเร็วด้วย แม่นยำด้วย

  ระบบหัวใจ ... อาจต้องให้ยากระตุ้นการบีบตัว อาจต้องใส่อุปกรณ์เพื่อเพื่มเลือดและเพิ่มแรงดันเช่น intra aortic balloon pump

   ระบบหลอดเลือด ... ต้องให้ยาที่เพิ่มการบีบตัวหลอดเลือดส่วนปลายเช่น norepinephrine หรือ dopamine อาจต้องให้สารน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเลือด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือหรือสารอุ้มน้ำในเลือดเช่น แอลบูมิน

  ระบบหายใจ ...ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ว่าจะผ่านท่อช่วยหายใจหรือหน้ากากช่วยหายใจ เพื่อนำส่งออกซิเจนไปที่ถุงลมให้เม็ดเลือดมานำพาออกซิเจนไปเนื้อเยื่อต่างๆ และรับคาร์บอนไดออกไซด์ มากำจัดออก ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ผ่านเครื่องช่วยหายใจปรกติ อาจต้องใช้เครื่อง ECMO เพื่อนำเลือดออกมาใส่ออกซิเจนนอกลำตัวแล้วบีบดันเลือดเข้าร่างกาย ทดแทนหัวใจและปอดเลย

   ระบบไต ... อาจต้องใช้การฟอกเลือดเพื่อกำจัดน้ำและของเสียส่วนเกิน เพื่อรอให้ไตกลับมาปรกติดูก่อน ว่าจะใช้งานได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ อาจต้องฟอกหลายครั้งเพื่อรอเวลาไตฟื้นและอวัยวะอื่นๆกลับมาดี

  ระบบทางเดินอาหาร ... หลายครั้งใส่ท่อหายใจทำให้กินไม่ได้ ก็ต้องให้อาหารทางสายยาง บางครั้งการอักเสบมากมายจนท้องอืดมากให้อาหารทางท่อทางปากและกระเพาะลำไส้ไม่ได้ ลำไส้บวมมากไม่เคลื่อนที่และไม่ดูดซึมอาหารก็ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้พลังงานที่จำเป็นแก่ร่างกาย รวมไปถึงการขับถ่ายอุจจาระไม่ได้ที่ต้องพลิกตะแคงตัวหรือให้ยาถ่าย

  ระบบเลือด..อาจมีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือดเล็กๆทั่วร่าง (DIC) ที่จะใช้สารการแข็งตัวของเลือดไปหมดสิ้นและเกล็ดเลือดต่ำมาก หลอดเลือดฝอยเล็กๆที่ลิ่มเลือดไปอุดก็ทำให้อวัยวะนั้นๆขาดเลือด สารการแข็งตัวของเลือดและเกล็ดเลือดที่ต่ำมากก็ทำให้เลือดออกมากได้

  ระบบประสาท ... การขาดเลือดขาดออกซิเจน บางครั้ง น้ำตาลในเลือดผิดปกติ จะมีปัญหาชักเกร็งได้ ต้องให้ยากันชัก ระหว่างแก้ไขปัญหา (provoked seizure)

  ปัจจุบันเราจะไม่รอให้แย่แล้วแก้ไข เรามีการเฝ้าติดตาม การใช้ระบบการติดตามแบบ scoring ที่นิยมคือ APACHE II score แม้มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อติดตาม แต่การทำscoring ให้ครบก็จะเป็นการดูครบทั้งระบบทุกระบบไปด้วยนั่นเอง
   การดูแลคนไข้ MODS ในไอซียูจึงต้องใช้ความเอาใจใส่ ความรู้แบบบูรณาการ ปะติดปะต่อระบบอวัยวะต่างๆให้เป็นภาพรวม ว่าเสียอะไรแล้วจะพาลเสียอะไร แก้ไขจุดนี้แล้วจะส่งผลจุดใด อาจต้องอาศัยความร่วมมือกับแพทย์หลายสาขา โดยมีแพทย์เจ้าของไข้เป็นวาทยากร คอยควบคุมจังหวะ จัดการระบบ ให้เข้ากับคนไข้มากที่สุดครับ

  สุดท้ายคือ การรักษาและการศึกษาปัจจุบัน มุ่งเน้นการวินิจฉัยเร็ว แก้ไขเร็ว ทั้งยา หัตถการและวิธีการตรวจต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะ multi organ dysfunction syndrome เพราะเกิดแล้วแก้ไขยากมาก หากแก้ไขไม่ทัน ไม่ถูกก็จะกลายเป็น Multi Organ Failure และ Death ต่อไป 

  ภาพประกอบ จากร้านขนมจีนครูยอด ร้านไก่ทอดและขนมจีนชื่อดัง หลังจากดูแลคนไข้ MODS ทั้งสี่คนมาตลอดสัปดาห์ มาเติม ปลาร้าและส้มตำ แฟกเตอร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น