30 มกราคม 2561

มวนเดียวก็อันตราย

บุหรี่มวนเดียวต่อวันก็เสี่ยง  สองวันนี้ใครตามข่าวเรื่องบุหรี่จะเห็นพาดหัวข่าวนี้ทั้งจาก CNN,BBC และ voice of america (มีภาคภาษาไทยด้วยนะ) มันคืออะไรจะมาขยายความให้ฟัง

  ต้องเข้าใจก่อนว่าบุหรี่นับหน่วยเป็นซอง ซองละ 20 มวน หากใครสูบยาเส้นแม้ปริมาณต่อมวนจะไม่เท่าบุหรี่เป๊ะๆแต่ก็นับคล้ายๆกัน  ไม่ว่าการประเมินความเสี่ยง การติด เราใช้หน่วย packyears คือ จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน (ซอง) คูณจำนวนปีที่สูบ โดยปรกติก็จะประมาณว่า 10 packyears นี่ติดหนักเลย
   หลายๆคนก็จะสงสัยว่า ถ้าแบบนั้นการลดอันตรายจากบุหรี่ เราสูบลดลงได้ไหม  และหลายๆคนก็สงสัยว่าทำไมวิธีเลิกบุหรี่ต้องหักดิบโค่นได้ในวันเดียว ก่อนหน้านี้คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะโอกาสสำเร็จแบบหักดิบนั้นสูงกว่ามาก วันนี้เรามีงานวิจัยจาก British Medical Journal จากดินแดนที่ทำวิจัยเรื่องบุหรี่แบบจริงจังและเสรีที่สุด

  การศึกษานี้รวบรวมการศึกษาทั้งหมด 55 การศึกษาที่ทำเกี่ยวกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอันสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ทั้งแบบหนึ่งมวน ห้ามวน และยี่สิบมวน ว่าสูบมากสูบน้อยเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยหรือไม่ มาปรับตัวแปรเรื่องอายุ (เพราะอายุมากจะเสี่ยงมากขึ้น) และตัวแปรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดเช่น เพศ โรคร่วม  เอามาคำนวนเชิงสถิติและสร้างเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อประมาณความเสี่ยงในการสูบระดับต่างๆ

  ผลการศึกษาออกมาน่าทึ่งมาก ว่าการสูบบุหรี่หนึ่งมวน หรือห้ามวน หรือ ยี่สิบมวนต่อวัน มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและสมองทั้งสิ้น เรียกว่าไม่ว่าสูบมากหรือน้อยเพียงใดเสี่ยงหมด ระดับความเสี่ยงที่น้อยที่สุดก็เกินกว่าไม่สูบเลย..หลายเท่า..

  ชายนั้น การสูบบุหรี่หนึ่งมวนโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ 1.74 เท่าเมื่อเทียบกับไม่สูบ และสำหรับสูบยี่สิบมวนโอกาสเกิดจะเพิ่มเป็น 2.27 เท่า ส่วนหญิงตัวเลขไม่ต่างกันคือ 2.19 และ 3.95 เท่าสำหรับสูบหนึ่งมวนและยี่สิบมวนเมื่อเทียบกับไม่สูบ
  ส่วนโรคหลอดเลือดสมอง ชายนั้นคือ 1.30 และ 1.56 เท่า และหญิงคือ 1.46 และ 2.42 เท่า ตามลำดับ
  ก่อนหน้านี้เราเคยมีการศึกษาในโรคมะเร็งปอดว่าลดการสูบลงจะลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง แต่สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด ต่อให้คุณสูบลดลงเหลือแค่มวนเดียว ความเสี่ยงคุณลดลงไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

  แปลว่า ควรเลิกขาด หักดิบ ถ้าจะเลิกก็เลิกเป็นศูนย์มวน การศึกษานี้มาสนับสนุนเรื่องเลิกบุหรี่ให้ชัดเจนขึ้น และผมขอแปลต่อไปกันกลุ่มผู้ใช้บุหรี่จะแปลข้อมูลผิดไป ว่าสูบมากสูบน้อยก็เสี่ยงเหมือนกัน งั้นสูบมากดีกว่า  คำสรุปนี้ไม่จริงนะครับ เพราะสูบมากคุณเสี่ยงกว่าทั้งโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ รวมทั้งมะเร็งด้วย ดังนั้นหลักการเลิกขาดเลิกเลยจึงยังมีประโยชน์สูงสุดอยู่ครับ

  และในสองสัปดาห์นี้มีผลการศึกษาที่เป็น ดราม่า ของประเทศไทยตอนนี้คือเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งสนับสนุนและคัดค้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเชิงวิชาการมากมาย (เพจเราไม่มีดราม่าและการเมือง ว่ากันด้วยวิชาการล้วนๆนะครับ) โดยเฉพาะวันนี้ที่ลงหน้าเว็บของ Americam Colleges of Cardiology เกี่ยวกับผลการศึกษาของ  National Academy of Sciences ที่ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐ ได้มอบหมาย (จ้าง) ให้ไปศึกษาผลงานวิจัยทั้งหมดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อจะมากำหนดนโยบายและข้อบังคับเชิงกฎหมายที่ชัดเจน ผลออกมาแล้วน่าสนใจ น่าติดตามมาก  สำหรับผม นี่เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือที่สุดอันหนึ่ง ใครอยากติดตาม ยกมือครับ หัวใจหนึ่งดวง ได้สักสามสิบดวงน่าจะเขียนให้อ่านกัน

"คนเราถ้าคิดจะตัดก็ควรให้มันขาด วันนึงฉันคงจะชินกับการไม่เหลือ...บุหรี่"

ตามลิงก์ตัวเต็มของงานวิจัยเรื่องบุหรี่หนึ่งมวนได้ที่นี่ อ่านฟรีนะครับ รีบโหลด  

http://www.bmj.com/content/360/bmj.j5855

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น