03 พฤศจิกายน 2560

Kawasaki Disease

วันที่แสนเงียบเหงาในปี 1961 ที่โรงพยาบาลกาชาดกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คุณหมอโทมิซากุ คาวะซะกิ กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาล ได้รายงานกรณีผู้ป่วยหลายราย รวบรวมเป็นการศึกษาค้นพบเป็นโรคหลอดเลือดขนาดกลางอักเสบทั้งตัว มีอาการแสดงหลายอย่าง โลกให้เกียรติคุณหมอตั้งชื่อโรคนี้ว่า "Kawasaki Disease"
โรคนี้เกิดการอักเสบของตัวเอง คือสารบางอย่างในตัวไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้จับทำลายหลอดเลือดขนาดกลาง (ค่อนไปทางเล็ก) เกิดการอักเสบของหลอดเลือดไปทัวทั้งตัว ปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นและกลไกการกระตุ้นคืออะไร เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อหรือสิ่งแวดล้อม ...สรุปว่าก็ยังไม่รู้นั่นเอง
โรคนี้มักจะพบได้ในเด็ก เพราะอาการในเด็กจะแสดงชัดกว่าผู้ใหญ่และอาการในเด็กก็ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ด้วย อาการในเด็กผมขอละไว้ในฐานที่ผมไม่เข้าใจ ส่วนในผู้ใหญ่จะพอเล่าได้บ้าง โรคนี้พบไม่มากนะครับ ลักษณะการศึกษาจึงเป็นลักษณะรายงานผู้ป่วยหรือติดตามกลุ่มที่เป็น มากกว่าที่จะเป็นการทดลองทางการแพทย์
ว่าถึงอาการก่อน..ส่วนมากในผู้ใหญ่ก็ไม่มีอาการ หมายถึงกว่าจะพบก็เป็นระยะที่มีผลข้างเคียงแล้ว ผลข้างเคียงคืออะไรเดี๋ยวว่ากัน และตอนที่มีอาการก็แยกยากมากจากโรคอื่นๆ อาการในผู้ใหญ่ก็จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วๆ มีผื่นขึ้นได้ผื่นแบบไม่มีลักษณะจำเพาะ ปวดตามข้อ ตาแดงปากแดง
ยากนะครับ ไม่มีอะไรบ่งชี้ให้คิดถึงเลยในระยะเฉียบพลันนี้ และมักจะหายเองได้อีก ในกรณีที่ไม่หายเองและเริ่มเข้าสู่ระยะกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง ก็จะพบลักษณะที่บ่งชี้แล้ว เพราะตอนนี้เราก็จะเริ่มคิดถึงโรคอื่นๆ นอกจากโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข้ เช่นโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งหรือหลอดเลือดอักเสบนี่แหละครับ
ผลข้างเคียงที่มักจะทำให้เราคิดถึงคาวะซะกิคือ ผลข้างเคียงต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ แม้ว่าผลข้างเคียงอันนี้จะพบในเด็กมากกว่า แต่เมื่อพบในผู้ใหญ่คงจะต้องคิดถึงโรคนี้ไว้ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การทำงานน้อยลง มีค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อออกมามาก หรือพบหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง (coronary artery aneurysms) มักเป็นหลอดเลือดโป่งพองขนาดใหญ่ อยู่ต้นทางด้วย ถ้าโชคร้ายแตกหรือฉีกขาดก็แย่ไป แต่ส่วนมากมักจะฝ่อลงและกลายเป็นพังผืดหรือรอยตีบแคบ บางส่วนหายกริ๊บก็มีนะครับ
อันตรายของโรคนี้ในผู้ใหญ่ก็จะเกิดจากหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจนี่เองครับ คงต้องแยกออกจากหลอดเลือดหัวใจตีบจากตะกรันไขมัน ซึ่งพบมากกว่าอย่างมากๆ การเปลี่ยนแปลงอาจหายหรือแย่ลงต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดหรือไม่ อันนี้ต้องมีการติดตามสม่ำเสมอครับ
ผลเลือดที่อาจจะพอช่วยได้คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันตัวเอง antinuclear antibody ที่จะขึ้นสูงได้ครับ แต่ไม่เฉพาะเจาะจงเลย ต้องอาศัยเกณฑ์หลายอย่าง สรุปมาเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยโรคดังนี้
ต้องมีไข้มากกว่า 5 วันหรือมีหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพองออก ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับลักษณะอื่นๆที่พบอีกอย่างน้อย 4 ข้อใน 5 ข้อดังนี้
ผื่น, เยื่อบุตาอักเสบ, ต่อมน้ำเหลืองโต(มากกว่า 15 มิลลิเมตร), เยื่อบุช่องปากอักเสบ, ขาแขนบวมแดงมากๆทั่วๆและผิวหนังลอกออก
***ก็ไม่ง่าย ถ้าไม่ได้คิดถึงโรคนี้***
การรักษานั้น ในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันรักษาโดยการให้ immunoglobulin และยาต้านการอักเสบแอสไพริน เพื่อช่วยให้การทำลายน้อยที่สุดจนกว่าโรคจะดีขึ้น ส่วนในการรักษาเรื้อรังก็ขึ้นอยู่กับอวัยวะหรือหลอดเลือดที่ได้รับผลกระทบครับ ผมแนบอ้างอิงที่เป็นรีวิวมาให้ด้วย เขียนดีครับ
ปล. ดักเอาไว้ก่อน ต้องมีคนมาเม้นท์ โรคฮอนด้า โรคยามาฮ่า โรคซูซูกิ อย่างแน่นอน
Wolff AE, Hansen KE, Zakowski L. Acute Kawasaki Disease: Not Just for Kids. Journal of General Internal Medicine. 2007;22(5):681-684. doi:10.1007/s11606-006-0100-5.
Rozo JC, Jefferies JL, Eidem BW, Cook PJ. Kawasaki Disease in the Adult: A Case Report and Review of the Literature. Texas Heart Institute Journal. 2004;31(2):160-164.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น