08 ตุลาคม 2560

การขอความเห็นที่สอง

หนึ่งในสิทธิผู้ป่วย การขอความเห็นที่สอง จะเกิดขึ้นได้ดีในสังคมบ้านเราได้หรือไม่
หลังจากตอนแรกบ่นเรื่องการตรวจร่างกายไป คราวนี้เรามาดูปัญหาที่คิดว่าคนไข้ทุกคนต้องคิดและหมอทุกคนต้องเจอ ... ไปรักษามาหลายที่แล้ว วันนี้จึงมาที่นี่..
เราจะมาฟังมุมมองของคนไข้ก่อน .. แน่นอนว่าด้วยการเดินทาง การคมนาคม การสื่อสารที่สะดวกขึ้น ทำให้คนไข้มีข้อมูลและตัวเลือกมากขึ้น ชื่อเสียงของหมอ ของโรงพยาบาลจากสื่อจากปากต่อปาก ย่อมทำให้คนไข้อยากเข้ารับการรักษาในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง หรือสำหรับคนที่เรารัก
บางครั้งการวินิจฉัยยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่ได้รับคำอธิบายที่เข้าใจจากทีมผู้รักษา แน่นอนผู้ป่วยและญาติย่อมสงสัยและกังวล จึงไปตรวจใหม่หรือตรวจเพิ่มอีกที่
บางครั้ง การรักษาทำแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะยังไม่ดีขึ้น อาจจะรักษาผิดทาง หรือ มีผลข้างเคียงจากการรักษา ญาติและผู้ป่วยย่อมทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เกิดเหตุการณ์ไปรักษามาหลายที่แล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น
เรามาดูมุมมองของแพทย์ผู้รักษา ทีมผู้รักษา ..การที่ผู้ป่วยมาตรวจโดยผ่านการรักษามาแล้ว แน่นอนว่าสภาพโรคอาจเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลตอนนี้อาจไม่ใช่ข้อมูลชุดเดียวกันกับข้อมูลการเจ็บป่วยตอนต้น การวินิจฉัยและการรักษาอาจไม่เหมือนกัน
ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ต่างกัน ก็อาจมีข้อมูลแห่งการวินิจฉัยและการรักษาที่ดีที่สุดของกาลเทศะตอนนั้น ซึ่งจะต่างจากตอนแรกก็ได้
บางครั้งคนไข้ยังอยู่ในช่วงของการรักษาของแพทย์ท่านแรก การไปเปลี่ยนแปลงการรักษา อาจทำให้ผลการรักษาของแพทย์ท่านแรกแปรปรวน หรือเป็นอันตรายหากไปหยุดการรักษาโดยไม่ทราบข้อมูล
ปัญหานี้อาจลดลง โดยการขอความเห็นที่สองอย่างเป็นทางการ เพราะคนไข้เองหรือหมอเองอาจไม่มั่นใจหรือไม่มีตัวเลือกที่ดีพอ การขอความเห็นที่สองโดยที่ผู้ป่วยเป็นผู้ร้องขอ หรือ แพทย์เป็นผู้ร้องขอ ก็อาจเป็นการระดมความคิด เปิดตัวเลือกต่างๆในการรักษาให้เหมาะสมมากขึ้น
การทำอย่างเป็นทางการ จะมีการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง แนวคิดและวิธีการรักษา ทำให้แพทย์ผู้รับปรึกษาเพื่อขอความเห็นที่สองนั้น เข้าใจสถานการณ์ในขณะที่แพทย์คนแรกดูแลคนไข้ได้ดี การรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็จะไม่เสียเวลา
ตามปรกติแล้วเมื่อมีการขอความเห็นที่สองนั้น ผู้ป่วยจะยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ท่านแรก โดยแพทย์ท่านแรกควรเปิดใจยอมรับสิทธิของคนไข้ คนไข้ก็ต้องเข้าใจว่าแพทย์ที่ให้ความเห็นที่สองจะยังเคารพแพทย์ท่านแรกอยู่ ข้อมูลที่ได้ก็จะมีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลและหลักฐานเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด
แต่ปัจจุบันในประเทศเรา ใช้กระบวนการส่งต่อ คือ ส่งมอบผู้ป่วยให้แพทย์อีกท่านดูแลต่อไปเลยไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ระบบการขอความเห็นที่สองอีกอย่างคือ การดูแลและปรึกษาเป็นทีมการรักษาที่ระดมความคิดแล้วส่งความคิดนั้นให้แพทย์เจ้าของไข้ไปพิจารณาตัดสินร่วมกับผู้ป่วย จะพบบ่อยๆเวลาแพทย์ปรึกษากันในโรงเรียนแพทย์
และเรามองว่าผู้ป่วยได้ประโยชน์จริง แต่อาจเสียเงินและเสียเวลา การขอความเห็นที่สองจึงมีข้อบังคับสำคัญว่าต้องไม่ใช่กรณีเร่งด่วน หากไม่รีบทำจะเกิดผลเสีย อันนี้การขอความเห็นที่สองและปรึกษาข้อดีข้อเสีย การสูญเสียโอกาสการรักษาที่ดีไป
สำหรับแพทย์บางคน อาจยังรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ หรือหงุดหงิดหากผู้ป่วยขอความเห็นที่สอง หรือในกรณีแพทย์ขอความเห็นที่สองแล้วขัดแย้งกัน แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า อาจต้องยอมเพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนไข้นะครับ
และที่สำคัญ .. แม้แพทย์อาจมีองค์ความรู้ที่ดี แต่ประสบการณ์การรักษา และการประยุกต์ให้เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ ของแพทย์แต่ละท่านจะแตกต่างกัน ก็อาจจะมีมุมมองและตัวเลือกที่ดีกว่าก็ได้
แพทย์ที่รับปรึกษาก็ต้องให้เกียรติแพทย์ท่านแรก และคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่พึงจะได้รับ ที่เขาเลือกเชื่อใจมาปรึกษาเราด้วย
สังคมใดก็ตามจะน่าอยู่ เมื่อคนในสังคมรู้จักหน้าที่ของตัว เคารพในสิทธิของคนอื่น ให้เกียรติในความคิดและอิสระของทุกคนในสังคม ทางการแพทย์และการรักษาก็เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น