13 ตุลาคม 2560

พิษจากน้ำยาหล่อเย็น

พิษจากน้ำยาหล่อเย็น และแก้พิษด้วย เหล้า
ท่องมาตั้งแต่สมัยเรียน ว่า ตรวจพบคริสตัลออกซาเลตในปัสสาวะ ให้นึกถึงพิษจากเอธิลีน ไกลคอล
วารสาร New England Journal of Medicine ฉบับสัปดาห์นี้ลงภาพถ่ายกล้องจุลทรรศน์ขยายตะกอนที่พบในปัสสาวะ ของชายอายุ 80 ปีที่ถูกนำส่งห้องฉุกเฉิน เพราะซึมลง ปลุกไม่ค่อยตื่น หายใจหอบ ล้มที่บ้าน ตรวจเลือดพบไตวาย เลือดเป็นกรด ตรวจปัสสาวะพบคริสตัลผลึกดังรูป ก็เป็นผลึกรูปแท่งปลายแหลม รูปดัมเบล ถ้าเอาไปส่องกล้องที่มีแสงที่ความยาวคลื่นตัดกัน ที่เรียกว่ากล้องโพลาไรซ์ จะเห็นผลึกวาวขึ้นมาแบบ positive birefringents คือ สีฟ้าเมื่อขนานกับความยาวคลื่นแสง สีเหลืองเมื่อตั้งฉากกับความยาวคลื่นแสง
เรียกว่าผลึก แคลเซียมออกซาเลต ผลึกแคลเซียมออกซาเลตสามารถพบได้ในหลายกรณี แต่ในคนไข้คนนี้ ซึมเหนื่อย หอบ ไตวาย เลือดเป็นกรด ให้คิดถึงพิษไว้ก่อนนะครับ และเจ้าพิษที่ว่านี้คือ พิษ เอธิลีน ไกลคอล
เอธิลีน ไกลคอล น้ำยาผสมหม้อน้ำรถยนต์ ตู้เย็น ดูว่าไม่น่าจะไปปนเปื้อนจนดื่มเข้าไปได้นะ ผมเองก็ท่องตอนสอบไม่เคยเจอเช่นกัน เมื่อมีคนสอนให้ท่องแบบนี้ก็ไปค้นดู เออจริงแฮะ มันเกิดจากพิษ
ระดับเอธิลีนไกลคอล ที่ทำให้เกิดพิษถือว่าไม่มากนัก 1.4 mL ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ของเอธิลีนไกลคอลบริสุทธิ์ (ครับ เอธิลีนไกลคอลที่แต่งงานแล้ว ก็ใช้หลักการนี้ไม่ได้)
พิษของเอธิลีนไกลคอล ช่วงแรกๆที่กินเข้าไป ไม่เกินสองวันแรก ก็จะเป็นพิษต่อระบบประสาท อาการจะคล้ายๆ "เมา" เพ้อ ไม่รู้เรื่อง ซึม หรืออาจชักเกร็งได้ หัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้น เรียกว่าเหมือนพิษแอลกอฮอล์ทุกอย่างเลย เผลอๆนึกว่าเมาเหล้า ถ้าไม่มีประวัติเมาน้ำยาแอร์
เนื่องจาก เอธิลีนไกลคอล ที่เข้าไปในร่างกาย ก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็น glycoaldehyde และ glycolic acid ไอ้เจ้าสองตัวนี้มีพิษต่อระบบประสาท ถ้ามีมากเกินไปและร่างกายกำจัดไม่ทัน และเนื่องจากมันเป็นกรด เราก็จะพบเลือดเป็นกรด (wide anion gap metabolic acidosis) และมีสารที่ทำให้เลือดเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้นเรียกว่า high osmolal gap ก็เพราะเรารับกรดมาจากภายนอกนั่นเอง เกินกว่าที่กำลังร่างกายจะกำจัดไหว
ต่อมาหากกำจัดไม่ได้ ...ซึ่งแน่นอนล่ะว่ากินเยอะเข้าไปขนาดนั้นจะกำจัดไหวได้อย่างไร เจ้า glycolic acid มันจะไปเปลี่ยนเป็น oxalic acid และขับออกที่ไต แน่นอนเมื่อออกซาลิกมาก มันก็จะไปหาคู่ คือสารที่มีประจุมันจะไม่อยู่นิ่งๆครับ มันจะไปหาคู่ให้ประจุบวกลบมันเท่ากัน และคุณออกซาเลตเขาเลือกแคลเซียม จับคู่แต่งงานเป็นแคลเซียมออกซาเลต ตกตะกอนในท่อไตมหาศาล จนตัน (อุดตันนะครับ ไม่ใช่เจ้าพ่อชาเขียว) คล้ายเกิดนิ่ว ทำให้ไตวายเฉียบพลัน ก็เป็นที่มาของการพบ ผลึกแคลเซียมออกซาเลตในปัสสาวะนั่นเองครับ
ย้อนกลับไปนิดนึง ตรงที่เอธิลีน ไกลคอลจะเปลี่ยนไปเป็น glycoaldehyde และ glycolic acid ถ้าเราไปยับยั้งกระบวนการนี้ได้ ก็จะไม่เกิดออกซาเลตใช่ไหม..ใช่ ไตจะไม่วายใช่ไหม..เอ่อ ก็น่าจะช่วยนะ งั้นเราไปยับยั้งกัน
เอ็นไซม์ที่ใช้ในการสลายคือ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase กระนั้นเลยเราอย่าให้มันทำงานซะ จะได้ไม่เกิดไปเป็น ออกซาเลตมากเกินกว่าที่จะกำจัดทัน ไปชลอมันไว้ก่อนนะ เจ้าเอนไซม์นี้มันไม่ชอบจับกับเอธิลีน ไกลคอลหรอกนะครับ มันชอบจับกับ เอธิล แอลกอฮอล์มากกว่า ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการใช้..วิสกี้..เหล้า ครับ เราใช้เหล้าในการรักษาพิษ เอธิลีนไกลคอล (2.0-2.5 ซีซี ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม เท่านั้น)
และตัวยาอีกตัวคือ fomepizole ที่ไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ก็เป็นยาต้านพิษอีกตัวครับ ราคายังแพงมากอยู่
รายละเอียดเรื่อง ethylene glycol intoxication management ต้องไปอ่านเพิ่มนะครับ มีเขียนหลายเล่ม คล้ายๆกันทั้งหมด
แต่ผมยังไม่เคยเจอนะ เรียน ท่อง ..ตอนสอบมันก็ไม่ออก ก็มาเจออีกทีตอนวารสารเล่มนี้ ที่เจอมากตอนนี้ก็พิษแอลกอฮอล์หลังออกพรรษานี่แหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น