06 ตุลาคม 2560

allopurinol lesinurad

FDA สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยาอีกตัวในการลดกรดยูริกในเลือด โดยใช้เป็นยาเม็ดรวมกับยาเดิม allopurinol คือยา lesinurad ที่เรียกว่า single pill combination ประกาศใน JAMA 3 ตค. ที่ผ่านมา
lesinurad เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับยูริกที่ท่อไต ทำให้การดูดกลับลดลง ระดับยูริกในเลือดลดลง แต่ก็มีรายงานการเกิดนิ่วกรดยูริกมากขึ้นเล็กน้อย (เพราะขับออกมาก) สามารถใช้คู่กับ allopurinol ได้ดี
ผลการศึกษาทั้ง CLEAR I และ CLEAR II ที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจว่าการใช้ lesinurad เพิ่มเข้าไปจากยา allopurinol เพิ่มประสิทธิภาพการลดกรดยูริกในเลือดให้มากขึ้นและถึงเป้าได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับ การใช้ allopurinol คู่กับยาหลอก
จึงอนุมัติการใช้ยาเม็ดรวม lesinurad/allopurinol ในสองขนาดคือ 200/300 และ 200/200 มิลลิกรัม ยุคนี้ยาเม็ดรวมมาแรงมาก ทั้งเบาหวาน ความดัน นี่เป็นยาลดกรดยูริก
เห็นข่าวนี้ก็หยิบมาอัพเดตกันหน่อย พร้อมๆกับทวนความรู้ว่า ยูริกในเลือดที่สูงไม่เท่ากับการเป็นโรคเก๊าต์ และการใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเจอกรดยูริกในเลือดสูงแล้วต้องใช้ยาทุกราย อย่าลืมหาสาเหตุด้วยโดยเฉพาะไตเสื่อม การดื่มแอลกอฮอล์
การใช้ยาโดยไม่จำเป็น คือ สาเหตุอันดับหนึ่งของการแพ้ยาลดกรดยูริก allopurinol ที่อาจเกิดการแพ้รุนแรงได้ โดยคนไทยมีความถี่ของยีนที่เสี่ยงการแพ้ยา allopurinol สูงมาก
และถ้าหากตรวจพบยีนแพ้ยา คือ HLA b*58:01 ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้ยา การใช้ยาจึงควรหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังสุดชีวิต ปัจจุบันเราสามารถตรวจหายีนแพ้ยาได้ไม่ยากนัก ได้เร็วเชื่อถือได้ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดการแพ้ยาได้มาก ต้องขอขอบคุณอีกครั้งกับอาจารย์ผู้ใจดี ทำวิจัยเรื่องนี้จนกระจ่าง ท่านอาจารย์ ศ.ดร.วิจิตรา ทัศนียกุล แห่งภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปีก่อนผมกล่าวถึงยา fabuxostat ในการลดกรดยูริก ในปีนี้เราก็มียาใหม่มาอีกตัว ...แต่ต้องใช้กับ allopurinol ตามการศึกษานะครับ และระวังการใช้ในผู้ป่วยไตเสื่อมและเคยเป็นนิ่วกรดยูริกในปัสสาวะ
ย้ำ...การลดกรดยูริก อาจไม่ได้หมายถึง การเกิดเก๊าต์ลดลงนะครับ
ลิ้งค์เรื่องราวต่างๆ
วารสารตัวเต็ม CLEAR II study
http://ard.bmj.com/content/76/5/811.long
กรดยูริกในเลือดสูง จาก @อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1642893279360032
fabuxostat บทความนี้ไปดูตัวอย่างที่ผมผิดพลาดและ อ.วิจิตรา มาแก้ไขให้ในคอมเม้นต์ครับ
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1640551242927569:0
การดูแลเรื่องเก๊าต์
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1688895988093094:0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น