25 กันยายน 2560

กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงคุณไม่ดีขึ้นเสมอไป

หนึ่งในความเข้าใจการรักษา การใช้ยา ที่เข้าใจผิดมากที่สุด
กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงคุณไม่ดีขึ้นเสมอไป การรักษาหลายอย่างทำเพื่อลดความเสี่ยง หลายอย่างทำเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ทำเพื่อลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่บางทีการรักษาเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึก "ดีขึ้น" หรือ "แข็งแรงขึ้น" แต่อย่างใด
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การให้ยาเพื่อลดโอกาสการเกิดอัมพาตซ้ำ ในผู้ป่วยหลอดเลือดในสมองตีบ
เมื่อใครคนใดคนหนึ่งหลอดเลือดในสมองตีบ แน่นอนย่อมเกิดความเสียหายไม่มากก็น้อย ขอยกตัวอย่างแขนขาขยับไม่ได้แล้วกัน คุณหมอก็จะให้ยาต้านเกล็ดเลือด (ส่วนมากก็แอสไพริน) และยาลดไขมัน statin เรียกว่าเป็นแพ็คคู่เลยถ้าไม่มีข้อห้าม ... ผู้ป่วยก็รับประทานอย่างสม่ำเสมอในตอนแรก แต่พอนานๆไป ก็จะเริ่มไม่กิน กินๆหยุดๆ หรือถามว่าจะเลิกได้ไหม ด้วยเหตุผล กินไปก็ไม่เห็นดีขึ้นเลย แล้วมันไม่ดีขึ้นตับไตจะพังหรือเปล่า
กินยาไปเป็นปี กำลังแขนขาก็เท่าๆเดิม หรือดีกว่าเดิมเล็กน้อย แล้วจะกินไปทำไม เลิกดีกว่า
ความสำคัญอยู่ตรงที่ชี้แจงกับคนไข้นะครับ ว่ากินเพื่อลดอัตราการเกิดซ้ำ เพราะเป็นหลอดเลือดสมองตีบแล้ว โอกาสเกิดซ้ำมันสูงมาก หากไม่กินเราก็จะเสียโอกาสป้องกันโรค ..อันพึงป้องกันได้.. อาจต้องเข้ารับการรักษาราคาแพง หรือ อาจเสียชีวิตได้
การกินยาแม้จะไม่ทำให้อาการดีขึ้น แต่มันลดความเสี่ยง ลดสิ่งที่จะเกิดวันข้างหน้า คุณยังออมเงินเผื่อวันหน้าเลย ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าออมไปจะได้ใช้ไหม แต่คุณก็เลือกที่จะลดความเสี่ยง คิดแบบเดียวกันเลย บางท่านบอกว่าวันหน้าเราก็ได้เงินออมคืน ก็อยากให้คิดว่าประโยชน์ของยาคุณได้คืนทันทีที่กินยาเรียกว่า คืนกำไรวันต่อวัน
อันนี้ยังเข้าใจง่าย การรักษาเพื่อป้องกันบางอย่าง อุปสรรคสำคัญคือสิ่งนี้นั่นแหละครับ ก็เราไม่เป็น ไม่มีอาการ จะกินไปทำไม กินถึงเมื่อไร เกิดกินแล้วผลเสียทำอย่างไร เพราะเราคิดถึงผลเสียปลายทาง แต่เราลืมประโยชน์ที่ได้ระหว่างทางไปเลย อาทิเช่น
การกินยากันเลือดแข็งในการป้องกันอัมพาตในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งที่ยังไม่เป็นอัมพาต
การพ่นยาสเตียรอยด์เพื่อคุมอาการต่อเนื่องในผู้ป่วยหอบหืดที่อาการปรกติมาหลายปี
การกินยาลดไขมันสเตตินในคนที่เสี่ยงแต่ว่ายังไม่เกิดโรค
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำทุกปีแม้ว่าแข็งแรงดี
การปรับยาโรคหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้นแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว
การรักษาต่างๆที่มีคำแนะนำออกมาเป็นทางการ มีการพิสูจน์แล้วว่าให้การรักษาแล้วแบบใดลดอาการ แบบใดเพิ่มคุณภาพชีวิต แบบใดลดอัตราการเสียชีวิต ดังนั้นก่อนจะให้การรักษาแพทย์ต้องแจ้งให้ทราบว่า รักษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด และคนไข้ก็ต้องระลึกไว้ว่าเป้าหมายการรักษาแต่ละอย่างคืออะไร
เมื่อตั้ง "เป้า" ตรงกัน ความคาดหวังตรงกัน การรักษาก็บรรลุเป้าได้ไม่ยากเย็นนักครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น