29 กันยายน 2560

ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก aspiration pneumonitis

ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก aspiration pneumonitis
ร่างกายมนุษย์เรามีกลไกการป้องกันไม่ให้อาหารจากปาก อาหารหรือของเหลวจากกระเพาะอาหารและหลอดอาหารไหลเข้าสู่หลอดลมและทางเดินหายใจส่วนล่างได้อย่างมหัศจรรย์ เรียกว่าโอกาสการสูดสำลักในคนปรกตินั้นน้อยมากเลย
แต่หากถ้ากลไกต่างๆเหล่านี้บกพร่อง สิ่งต่างๆดังกล่าวก็จะหลุดตกไปสู่หลอดลมและปอดได้ แน่นอนในเมื่อไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ ย่อมเกิดปัญหา
เมื่อแรงดันกระเพาะหรือช่องท้องสูงขึ้น หูรูดทางเดินอาหารทั้งข้างบนและข้างล่างบกพร่องเช่นในผู้สูงอายุ ผ่าตัดช่องท้องส่วนบน กระเพาะบีบตัวน้อย แน่นอนย่อมไหลย้อยกลับได้โดยเฉพาะท่านอน หรือ การปิดเปิดของกล่องเสียงและคอหอยที่คอยแยกทางเดินลมกับทางเดินอาหารบกพร่อง ดังเช่น เป็นอัมพาต โรคมะเร็งบริเวณลำคอ การผ่าตัด การฉายแสง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
หรือเกิดหมดสติ ไม่รู้ตัวด้วยสาเหตุใดก็ตาม (รวมเมาไม่ได้สติด้วยนะ) การควบคุมลิ้นและเพดานอ่อน ลิ้นไก่มันบกพร่อง โอกาสจะสูดสำลักก็มากขึ้น ถ้าใครติดตามเพจมาตลอดคงจำท่า recovery position ท่าที่จัดเมื่อฟื้น คือ นอนตะแคงหัวต่ำ เพื่อลดโอกาสการสูดสำลักนี่แหละครับ
หรืออยู่ในไอซียู มีการใส่ท่อช่วยหายใจ มีการดูดเสมหะ มีสารคัดหลั่งจากปากและคอที่ควบคุมไม่ได้ กลืนไม่ได้เพราะมีท่อค้ำอยู่ การกำจัดของเหลวต่างๆเหล่านี้ก็ลำบาก
เมื่อของเหลวจากปากและกระเพาะไหลเข้าสู่ทางเดินหายใจ แน่นอนร่างกายก็จะป้องกัน ไอออกมา แต่บางส่วนมันลงไปแล้ว ลงไปที่ไหนก็ลงตามแรงโน้มถ่วงโลกครับ ในท่านั่งก็จะลงไปปอดกลีบล่าง ในท่านอนก็จะลงปอดกลีบบนค่อนไปด้านหลัง
เมื่อแรกเริ่มสำลักลงไปจะยังไม่ติดเชื้อ ปฏิกิริยาไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อย หรือฟิล์มเอ็กซเรย์ที่เปลี่ยนไป จะเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารเคมีต่างๆที่ตกลงไป ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำย่อยต่างๆ ก็เรียกว่า aspiration pneumonitis การอักเสบของปอดจากการสูดสำลัก
ถามว่าน้ำย่อยหรืออาหารจากกระเพาะจะติดเชื้อไหม..คำตอบคือโอกาสน้อยนะครับ เพราะในกระเพาะมีความเป็นกรดสูงมาก เชื้อโรคส่วนมากตายหมด ถ้าจะติดมักจะมาจากแบคทีเรียในช่องปากหรือลำคอเสียมากกว่า ในกรณีในท่อช่วยหายใจก็ต้องคิดถึงแบคทีเรียในโรงพยาบาลมากขึ้น
คราวนี้ในอีก 24-72 ชั่วโมงต่อมา มีเชื้อโรคอยู่และกำจัดไม่หมดก็จะเกิดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนจากแบคทีเรียส่วนมากก็เป็นแบคทีเรียในช่องปากและลำคอ อาการก็จะไม่ดีขึ้น ไข้สูง ไอ หอบ เหนื่อย ฟิลม์เอ็กซเรย์เปลี่ยน เรียกว่า aspiration pneumonia ปอดอักเสบติดเชื้อจากการสูดสำลัก
เฮ้ย !! อาการของ pneumonitis และ pneumonia มันเหมือนกันเด๊ะเลย ... จะทำอย่างไร มันก็ยากตรงนี้แหละครับ
โดยทั่วไปการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ตรวจพื้นฐาน คงไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรแค่อักเสบ อะไรติดเชื้อซ้ำซ้อน จะแยกชัดๆคงต้องเก็บเชื้อก่อโรคมาให้ได้ว่ามีหรือไม่มี วิธีที่ใช้จะต้องเป็นวิธีที่เก็บจากทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่นส่องกล้องหลอดลมคอแล้วฉีดน้ำล้างมาตรวจ หรือดูดสารมาตรวจ เก็บตัวอย่างมาตรวจ หรือไม่ต้องใช้กล้องแต่ใช้สายยาวๆลงไปที่เรียกว่า telescopic plugged catheter
ที่ต้องแยกเพราะว่า ประโยชน์จากการให้ยาฆ่าเชื้อจะชัดเจนกว่า หากเกิดจากการติดเชื้อ
...แล้วในกรณี ทำไม่ได้ ทำยาก แยกไม่ออก คนไข้หนัก จะทำอย่างไร ...
แน่นอนก็ให้การรักษาปอดอักเสบติดเชื้อจากการสูดสำลักไปก่อนแล้วจึงพิจารณาหยุดยาภายหลัง หากพิสูจน์ว่าไม่ใช่
ที่สำคัญกว่าคือการลดโอกาสการสูดสำลัก ไม่ว่าการระวังท่าทางคนไข้ การให้อาหารที่ไม่เร็วเกินไป พิจารณาการหยุดยาลดกรดหากไม่จำเป็น (เพราะกรดในกระเพาะเป็นตัวกำจัดเชื้อโรค) การดูแลท่อหายใจที่ดี
การเกิดปอดอักเสบจากการสูดสำลักหรือติดเชื้อจะเพิ่มวันนอนโรงพยาบาล เพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มผลเสียให้คนไข้อย่างมาก โดยที่เกือบทั้งหมดเราสามารถป้องกันได้ดี
เราเข้าใจพื้นฐานไปแล้ว ตอนต่อไปจะนำเสนอการศึกษาที่ทำเพื่อพิสูจน์ว่า ในระยะเวลาที่รอแยกปอดอักเสบจากการสูดสำลักว่าติดเชื้อหรือไม่ รอจะปลอดภัยไหม และถ้าหยุดยาไป เอ...จะปลอดภัยไหมล่ะ มั่นใจแค่ไหน
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคนไข้ที่ต้องใส่ท่อและเสี่ยงต่อการสูดสำลัก น่าสนใจนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น