16 กันยายน 2560

สรุปอาหาร 2017 ตอนที่ 5 อาหารกับยาลดไขมัน

ตอนสุดท้ายแล้ว
อย่างที่เห็น กว่าที่เราจะปรับอาหารเพื่อลด LDL ได้เราต้องใช้ปริมาณอาหารมหาศาล เกินกว่าที่จะทำได้จริงในทางปฏิบัติ และเราอาจได้ผลอันไม่พึงประสงค์จากอาหารทดแทนมาด้วย เพราะกินมากเกินไป
และที่สำคัญการปรับด้วยอาหาร อย่างไรก็มีผลต่อ cholesterol, LDL HDL ไม่มากนัก ถ้าเราคิดจะปรับเพื่อลด "ความเสี่ยง" จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ยา ยาที่ประสิทธิภาพสูงสุด ผลข้างเคียงต่ำสุด และลดได้ถึงอัตราการเสียชีวิตโดยรวม คือ HMG-CoA reductase inhibitor หรือ statin
เราใช้ยา statin ลด LDL ได้ประมาณ 20-50% ขึ้นกับความแรงของยา (ในขณะที่การควบคุมของอาหารจะลดได้เฉลี่ย 4-10%) เพิ่ม HDL ได้ ลดโคเลสเตอรอลได้
ไม่ว่าคุณจะเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ ถ้าขึ้นชื่อว่าเสี่ยง การได้ statin จึงเกิดประโยชน์ทั้งสิ้น (ล่าสุดคือ การศึกษาในคนที่ไม่เป็นโรคเสี่ยงปานกลาง HOPE -3 study)
ในการศึกษาของ statin ก่อนปี 2015 เราตั้งเป้าหมายในการให้ยาว่าให้แล้วลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ ลดอัตราการเสียชีวิต โดยไม่ได้มีข้อกำหนดของการทดลองว่า ให้แล้วลดมากแค่ไหนจึงพอ หรือถือว่าได้เป้า ...เพราะเป้าคือลดอัตราการเสียชีวิต ...จึงเป็นที่มาของคำพูด ..ถ้าคุณเสี่ยง คุณกิน statin ไปตลอด การวัดค่าหลังจากกิน ทำเพื่อดูว่าคุณกินยาจริงและยาได้ทำงานลด LDL ลงจริง ประโยชน์เกิดแล้ว...
หลังจากนั้นการศึกษาหลายอันของยา ezetimibe และ PCSK9i ออกมาว่า ยิ่งลด LDL ยิ่งได้ประโยชน์โดยที่ไม่เกิดโทษ ทำให้เราเริ่มมีตัวเลขแล้วว่า กินจนถึงเป้า..แล้วกินขนาดนั้นต่อไป แต่ถ้าไม่ถึงเป้า ให้เพิ่มขนาดหรือเพิ่มยา...
ไม่เคยมีการศึกษาที่บอกว่า หากกินยาจน (LDL)ถึงเป้าแล้ว หยุดได้ หรือหยุดแล้วโรคและอัตราตายจะไม่เพิ่ม คำแนะนำปัจจุบันที่ให้กินยาตลอดเมื่อเสี่ยงก็มาจากหลักฐานพวกนี้
ถึงตรงนี้เริ่มเข้าใจแล้วนะครับว่ายาไม่ได้ไปลดไขมันอย่างเดียว แต่ไปทำหน้าที่อื่นๆด้วย ทำให้อัตราการเสียชีวิตและการเกิดโรคลดลง ยิ่งเสี่ยงมากประโยชน์ยิ่งมาก ยิ่งลด LDL ลงประโยชน์ก็เพิ่มขึ้น
และแม้ว่าใช้ยาอื่น หรือใช้วิธีอื่นๆ ลด LDL ลงเท่าๆกัน การใช้ statin ต่อไปยังแสดงผลการลดอัตราการเสียชีวิตต่อไปอีกทั้งๆที่ LDL ไม่ลดลงอีก มันยังมีผลอื่นๆอีกเรียกว่า beyond LDL reduction
สมมติฐานปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากลดการอักเสบ และการไปปรับเปลี่ยนเซลเยื่อบุผนังหลอดเลือดให้ดีขึ้น มีการวัดค่าการอักเสบ มีการวัดตัวตะกรันไขมัน มีการวัดอุณหภูมิของตัวตะกรันเลยก็มี ก็พบว่า ค่าต่างๆที่บ่งชี้การอักเสบก็ลดลง ไปในทิศทางเดียวกันกับ อัตราการเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง
ข้อสรุปทั้งหมดจากการศึกษาและหลักฐาน แสดงให้เห็นว่าการใช้ยา statin ลดไขมันและลดอัตราการตายในคนที่เป็นโรคแล้ว อัตราการเกิดโรคในคนที่เสี่ยง และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในคนปกติดี เป็นร้อยๆการศึกษาที่ทำออกมานำไปสู่เกณฑ์การใช้ยาในปัจจุบัน ดังนี้
1. ถ้าคุณเป็นโรค กินยาตลอด หยุดเมื่อกินไม่ได้หรือมีผลเสียจากยา
2. ถ้าไม่เป็นโรค และแข็งแรงดีให้คำนวณความเสี่ยงตามเครื่องมีการคำนวน thai cv risk ถ้าเสี่ยงสูงพอ กินยาไปตลอด
3. ถ้าคุณไม่เป็นโรคแต่มีภาวะเสี่ยง เช่น เบาหวาน โรคไต มีเกณฑ์การตัดสินใจเริ่มยาในแต่ละโรคที่ชัดเจน
4. อย่างไรเสียการรักษาก็ต้องทำทั้งการปฏิบัติตัว การกินอาหารที่ดี การออกกำลังกายและการใช้ยาไปพร้อมๆกัน
5. ใช้ statin เป็นทางเลือกแรก เพราะประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ ราคาถูก รายละเอียดอ่านได้จาก แนวทางการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ปี 2559
6. ไขมันไม่ลงตามที่คิด ดูเรื่องการปฏิบัติตัวและการกินยาก่อน ถ้าดีหมด ไปเพิ่มยา ezetimibe
7. ถ้าอะไรๆ ก็ไม่ลง หรือเสี่ยงสูงมากๆเรียกว่าประวัติครอบครัวเลย (ยังจำเรื่อง ฝาแฝดแสนสวยในงานศพได้ไหม) ก็มีตัวเลือกยา PCSK9i ที่แพงมากๆๆ ยมกอีกสาม ยกกำลังอีกห้า เมื่อใช้ร่วมกับ statin สามารถลด LDL ลงมาเกือบๆ 90% อนาคตคงมีในไทย
ผลเสียมีไหม...น้อยมาก รายงานเรื่องกล้ามเนื้อบาดเจ็บและตับอักเสบ เกิดน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการจ่ายยา และประโยชน์ที่ได้รับ อุบัติการณ์เกิดเบาหวานรายใหม่ เกิดจริงมีจริง แต่น้อยมาก เรียกว่า มีความปลอดภัยในการใช้ยาสูงมากครับ แต่ก็ต้องมีสติในการใช้ยาด้วย ทั้งการปรับขนาดถ้าหากการทำงานของไตแย่ลง การคิดถึงปฏิกิริยาระหว่างยา โดยเฉพาะคู่อมตะ statin-fibrate(โดยเฉพาะ gemfibrozil) simvastatin-amlodipine statin-protease inhibitors Infectious ง่ายนิดเดียว
นี่คือสาเหตุด้วยเหตุผลตามหลักการและหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าทำไมเมื่อคุณไขมันสูงและเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ คุณจึงต้องกินยา statin เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและลดอัตราการเสียชีวิตเป็นหลัก โดยการลดไขมันก็เป็นวัตถุประสงค์รองลงมาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น