ตอนที่สามกันแล้วนะ เบื่อกันรึยัง
ประเด็นต่อมา เรื่องอาหารเฉพาะโรค จริงๆแต่ละโรคนั้นมีคำแนะนำเรื่องอาหารแตกต่างกันมากๆครับไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ สำหรับทีมที่ดูแลผู้ป่วย สามารถหาได้จากหนังสือ clinical nutrition ไม่ว่าใครเขียนสำนักพิมพ์ใด เขียนเหมือนกันคือ พื้นฐานโภชนาการ ภาพรวม และภาพย่อยแต่ละโรค
สำหรับผมเอง ผมใช้ Nutrition in Clinical Practice 3rd edition และ nutrition in the prevention and treatment of disease 4th edition บวกกับ แนวทางต่างๆของ E.S.P.E.N. (ส่วนตัวนะผมว่าหลักฐานทางยุโรป สมเหตุสมผลกว่า) และเข้าประชุมวิชาการกับ สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย (spent) แต่ว่าแต่ละโรงเรียนแต่ละเล่มก็คงแตกต่างกันเล็กน้อย
😙😙😙เอ้าโฆษณาหน่อยนึง ในฐานะสมาชิกสมาคม มาสมัครสมาชิกนะครับ และเข้าร่วมประชุมกัน มีทั้งความรู้ดีๆกับทุกระดับผู้ปฏิบัติงาน😚😚😚
http://www.spent.or.th
https://www.facebook.com/SPENTGroup
และแต่ละคนก็มีความเหมาะสมไม่เหมือนกัน การจัดอาหารให้แต่ละคน เป็นความเหมาะสมเฉพาะตัวบุคคลนั้น เพราะไม่ใช่แค่โรคอย่างเดียว ทั้งฐานะ การทำงาน ถิ่นที่อยู่ก็ต่างกัน อย่างผมนี่อยู่อีสานมาตลอด การจะไปเปลี่ยนให้คนไข้เบาหวานมากินข้าวกล้องมันทำไม่ได้ มันเปลี่ยนชีวิตเขามากไป ข้าวกล้องหายากกว่าแพงกว่า ข้าวเหนียวทำทุกมื้อ เอ้าไม่เป็นไร ข้าวเหนียวก็ได้แต่มาปรับให้พอเหมาะ
หรือเรื่องอาหารเค็ม ปลาร้า รับรองห้ามคนอีสานไม่ได้หรอกครับ เราก็ได้แต่แนะนำว่ากินอย่างไร อย่าใส่เกลือเพิ่ม ค่อยๆลดปลาร้า เติมอะไรแทนได้
หรือว่าอาหารลดน้ำหนัก..ลองไปทำนะครับ แต่ละเมนู ราคาไม่ถูกเลยนะ ยิ่งใกล้วันหวยออกยิ่งยากขึ้น วิถีชีวิตคนเมืองก็เลือกยาก เข้าร้าน 8-12 กันหมด ก็ต้องสอนว่าควรกินอะไร
*** การจัดการเรื่องอาหาร มีลูกเล่นมากมาย และเช่นกันก็อาจเป็นจุดเกิดความเข้าใจผิดได้มากมาย และความเข้าใจผิดพวกนี้ทำตามได้ง่ายเพราะอยู่ในชีวิตประจำวัน***
จุดเน้นในแต่ละเรื่อง หยิบมาแต่จุดเน้นๆ รายละเอียดเชิงลึก ผมคงจะทยอยๆลงสลับกับเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เป็นการหลากหลายสลับเรื่องราว สมองจะได้ไม่ล้า หรือหาอ่านได้จากโพสต์เก่าๆนะครับ
🔴🔴สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ข้อสำคัญคือ ลดเกลือโซเดียมในอาหาร ง่ายๆคือ งดปรุงรส "เพิ่ม"จากเดิม และถ้าปรุงอาหารเอง ทำอาหารเองก็ลดเครื่องปรุง ผงชูรส ซ๊อส การลดก็ค่อยๆลด อย่าลดพรวดพราดลิ้นเราไม่ชิน กลายเป็นกินไม่ได้ ไม่อร่อย พาลเลิกกินเลิกทำที่ตั้งใจกันพอดี
เพิ่มผักผลไม้ที่มีสีสันสดใส (โปตัสเซียมมากหน่อย) แต่ต้องระวังหากไตเสื่อมนะ
🔴🔴สำหรับผู้ป่วยไตเสื่อม ในระยะฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้อง อันนี้จะเข้าคลินิกโรคไตอยู่แล้วต้องทำตามนั้น แต่กลุ่มที่เสื่อมไม่มากหรือยังไม่ได้ฟอกเลือด ให้ลดระดับโปรตีนลง เดิมเราจะกิน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม อันนี้ก็จะลดมาสัก 0.7-0.8 กรัม ใช้โปรตีนที่ปริมาณน้อยแต่คุณภาพสูงคือโปรตีนจากสัตว์ครับ
สิ่งที่ต้องระวังคือ เกลือแร่โปตัสเซียมในอาหาร ผักผลไม้อาจต้องระวังอย่ามากเกิน
ส่วนการดื่มน้ำให้ดื่มได้ตามพอเหมาะ ก่อนฟอกเลือดก็ถึงวันละสองลิตรได้ อาการบวมน้ำด้วย ที่ผ่านมาคือ ดื่มน้อยจนไม่พอ กลัวไตวาย จริงๆที่แย่ลงมันแย่จากเกลือเกินมากกว่าน้ำเกิน
🔴🔴สำหรับผู้ป่วยสูงวัย ประเด็นสำคัญคือเรื่อง การเคี้ยวการกลืน ฟันจริงฟันปลอม อาหารต้องไม่แข็ง อาจต้องสับหรือบด คนที่สุขภาพฟันไม่ดีกินแล้วจะเจ็บมากถือเป็นสาเหตุหลักๆของการเบื่ออาหารในผู้สูงวัย
ชนิดอาหารและการเลือกกิน ผู้สูงวัยมักเลือกกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบ ทำให้สารอาหารไม่หลากหลาย ควรมีอาหารหลากหลาย ถ้าไม่ได้จริงๆไม่ไหวจริงๆค่อยใช้อาหารเสริมทางการแพทย์ (oral nutritional supplements)
🔴🔴สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ประเด็นสำคัญคือสภาพโรคและผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยโรคมะเร็งมักขาดสารอาหารทั้งจากสภาพจิตใจ และจากตัวโรคเองที่มีการเผาผลาญที่ผิดปกติ ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงอย่างมาก การรักษาทางโภชนาการจึงต้องทำควบคู่กับการรักษามะเร็งเสมอ
ปัญหาสูงสุดน่าจะอยู่ที่มะเร็งช่องปากและทางเดินอาหาร แต่อย่างอื่นก็มีปัญหาได้นะครับ โดยมากพลังงานและสารอาหารมักจะไม่พอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประโยชน์มากในการให้อาหารเสริมทางการแพทย์ oral nutritional supplements ทั้งทำเองหรือที่วางขาย
มีสูตรที่ออกแบบสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือสูตรที่เรียกว่า immunonutrients คือช่วย..ช่วยนะครับ ในการปรับสารเคมีของร่างกายที่ตอบสนองต่อมะเร็ง..เจ้าสารเคมี หรือ ไซโตคายน์ จะทำให้ร่างกายแย่ลง
หวังว่าคงไม่ยากและซับซ้อนไปนะครับ ตอนต่อไป เราก็จะมาคุยเรื่อง อาหารและไขมันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น