28 สิงหาคม 2560

แนวทางโรคลิ้นหัวใจ ESC 2017

เอาละ สำหรับแนวทางโรคลิ้นหัวใจที่เพิ่งประกาศเมื่อวาน ชาวบ้านอย่างเราๆ มีอะไรที่ควรสนใจ
สำหรับน้องๆอายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ แน่นอนต้องอ่านจนจบและเข้าใจ จำได้ตอนสอบ ถ้าใครไม่สอบก็อาจไม่ต้องจำตัวเลขมากมาย แต่ต้องเข้าใจและเปิดแนวทางได้ถูกเมื่อต้องการ แต่สำหรับคนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่หมอ หรือแพทย์สาขาอื่นๆ เรามารู้แนวทางนี้พร้อมๆกัน
1. โรคลิ้นหัวใจทั้งรั่วและตีบ มักจะพบจากมีอาการแล้วเช่น หอบ หัวใจวาย เหนื่อย ติดเชื้อ หรือเกิดจากการบังเอิญตรวจพบ เช่น ตรวจร่างกายเนื่องจากอาการอื่นแต่เมื่อตรวจระบบหัวใจแล้วพบว่ามีปัญหา หรือตรวจพบก่อนคลอด ก่อนผ่าตัด ..สิ่งสำคัญที่ปรากฏในแนวทางการรักษานี้ คือ **มีอาการหรือไม่มีอาการ** ที่จะแยกการรักษาที่แตกต่างกัน ถ้ามีอาการก็มีแนวโน้มว่าร่างกายรับมือไม่ไหว ต้องทำการรักษา ไม่ว่าจะผ่าตัดหรือใส่สาย หรือใช้ยา
2. การตรวจที่สำคัญมากของการวินิจฉัยคือ การตรวจคลื่นความถี่สูง echocardiography เพื่อศึกษาว่ารั่วหรือตีบ บางทีอาจมีร่วมกันได้หลายลิ้น หรือลิ้นเดียวกันอาจมีได้ทั้งรั่วและตีบ ลักษณะเลือดที่ไหลผ่าน รูปร่างทั่วไปเป็นอย่างไร โดยทั่วไปก็ทำภายนอก มีบางส่วนที่ต้องใส่หัวตรวจทางปากตรวจจากหลอดอาหาร และมีการใช้รูปแบบสามมิติมากขึ้น เพื่อได้ออกแบบลิ้นเทียมที่จะเปลี่ยนได้ดี
3. การวัดค่าต่างๆจากการทำเอคโค่ถือว่ามีความสำคัญมาก ในการวางแผนการรักษาและประเมินการทำงานหัวใจ อนาคตแพทย์ทุกคนคนต้องเข้าใจพื้นฐานการทำและแปลผลเอคโค่ง่ายๆนะครับ
4. ในกรณีพบว่ามีความผิดปกติของลิ้น ต้องยืนยันว่า มันมีปัญหาที่ต้องจัดการหรือไม่ บางครั้งรั่วเล็กน้อยที่อาจพบได้ ไม่มีความสำคัญที่ต้องให้การรักษาแต่ถ้าไปท่องว่ามีโรคประจำตัว ก็อาจเกิดความสับสนในอนาคต ดังนั้นถ้าจะท่องจำ ก็ต้องท่องว่า เป็นโรคลิ้นใด รั่วหรือตีบรุนแรงมากน้อย รักษาโดยใช้ยาหรือผ่าตัด
5. การรักษาลิ้นตีบ ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการแล้วการรักษาคือการจัดการกับลิ้น ไม่ได้หมายถึงผ่าตัดใหญ่เท่านั้น ปัจจุบัน มีการซ่อมแซมลิ้น การถ่างขยายลิ้น หรือการเปลี่ยนลิ้น ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดครับ เจ็บน้อยกว่าเสี่ยงน้อยกว่า แต่ยังแพงกว่าและทำไม่ได้ทุกที่ การเลือกวิธีใดก็ต้องคุยกันระหว่างคนไข้ หมอโรคหัวใจ หมอผ่าตัด และคนไข้ ที่เรียกว่า Heart team
6. การรักษาลิ้นรั่ว ก็สามารถซ่อมแซมลิ้นได้หรือเปลี่ยนลิ้นได้ การผ่าตัดปัจจุบันมีเทคโนโลยีและความปลอดภัยมากขึ้น เทคโนโลยีของลิ้นก็เปลี่ยนไป มีทั้งลิ้นเทียมแบบเป็นวัตถุสังเคราะห์ และลิ้นกึ่งสังเคราะห์ที่เรียกว่า bioprosthesis ลิ้นสังเคราะห์จะคงทนแต่ว่าต้องกินยากันเลือดแข็ง warfarin ตลอด ใครมีข้อห้ามการกินยา หรือกินยาไม่สม่ำเสมอ อาจมีปัญหาได้ และต้องระวังเวลาต้องหยุดยาเพื่อผ่าตัดใดๆ
7. (6.2) ลิ้นกึ่งสังเคราะห์ก็จะมีเนื้อเยื่อมาปกคลุม ทำให้การเกิดลิ่มเลือดลดลง แต่ว่าอายุการใช้งานจะไม่ยาวนานเท่าแบบสังเคราะห์ ใครที่อายุมาก มีความเสี่ยงเลือดออกสูง อาจเลือกใช้ลิ้นชนิดนี้ เพราะไม่ต้องกินยากันเลือดแข็งนานๆ อาจใช้แค่ยาต้านเกล็ดเลือดในระยะยาว
8. หากมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ atrial fibrillation ร่วมด้วย เราก็ต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อกันลิ่มเลือดไปอุดที่สมอง แนวทางนี้เฉพาะ ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบปานกลางถึงรุนแรงและเปลี่ยนลิ้นหัวใจ สองภาวะนี้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด warfarin และต้องควบคุมระดับให้ได้ด้วย บางทีถ้าเสี่ยงเลือดแข็งมากๆ อาจต้องได้INR ถึง 3.5
9. สามารถใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ได้ทั้งหมด (ยกเว้นความในข้อเจ็ด) เรียกว่า Non vitamin K oral anticoagulants มีหลักฐานการใช้มากขึ้นและปลอดภัยกว่า ต้องคุยเรื่องราคาด้วยนะครับ เพราะยังแพงอยู่มาก เฉลี่ยๆก็วันละ 100 กว่าบาท แต่ยา warfarin ถูกระดับไม่เกินสามบาท อันนี้คงต้องตกลงกับคุณหมอ
10. หากมีภาวะลิ้นหัวใจที่ผิดปกติและต้องผ่าตัด สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแบบรุนแรง ถ้าสามารถแก้ไขได้ก่อนผ่าตัดก็จะดี ส่วนความผิดปกติของลิ้นหัวใจแบบอื่นๆ ไม่ค่อยเสี่ยงมากนัก รองมาคือลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ ที่อาจเกิดอันตรายจากแรงดันเลือดที่ปอดสูง ส่วนลิ้นรั่วหรือตีบไม่มาก มักไม่มีปัญหาครับ
11. ลิ้นหัวใจตีบ โดยทั่วไปไม่แนะนำตั้งครรภ์ควรดูแลแก้ไขก่อน ส่วนลิ้นหัวใจแบบอื่นๆ ต้องประเมินตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ครับ การใช้ยาหลายชนิดต้องเปลี่ยนในระยะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะยากันเลือดแข็ง warfarin และยารักษาหัวใจวาย ตระกูล อีปริ้วและซาทาน ทั้งหลาย
12. เมื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังเสมอคือการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โดยเฉพาะการรักษาที่เกี่ยวกับทำฟัน เหงือก อาจมีแบคทีเรียจากช่องปากเล็ดลอดเข้ากระแสเลือดเกิดติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจได้ ต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อป้องกันก่อนทำฟัน และการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอที่ถูกต้องจะลดโอกาสการเกิดโรคลิ้นหัวใจรูมาติก โรคลิ้นที่ยังพบมากในบ้านเรา
13. การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกับยากันเลือดแข็ง การหยุดยาเพื่อการผ่าตัด การแก้ไขลิ้นหัวใจมีลิ่มเลือดมาเกาะ มีคำแนะนำเรียบร้อยครับ ถ้าท่านสงสัยปรึกษาแพทย์ได้ ถ้าแพทย์สงสัยให้อ่านฉบับเต็ม ถ้าอ่านฉบับเต็มแล้วสงสัยให้ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญครับ ทำงานเป็นทีม เพื่อประโยชน์คนไข้
14. การติดตามการรักษาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่ออายุเพิ่ม สภาพหัวใจเปลี่ยนแปลง ลิ้นย่อมเปลี่ยน จากเคยแย่กลับดี จากเคยดีกลับแย่ลงได้ วันนี้ยังไม่ผ่าวันหน้าก็ไม่แน่ ความรู้ในแนวทางมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ การรักษาทางการไม่ผ่าตัดและการทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือดกำลังก้าวหน้าขึ้น
สุดท้ายแนวทางก็ยังเป็นแนวทาง ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตรงตัว ผู้ป่วยและทีมผู้รักษาต้องคุยปรึกษาร่วมกันเสมอเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดของคุณและทีม โดยมีแนวทางเพียงอุปกรณ์ชี้ทางเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น