29 สิงหาคม 2560

ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ขัดกับความรู้สึก กับ ข้อความรู้ที่ดูสมเหตุสมผล DETO2X AMI

ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ขัดกับความรู้สึก กับ ข้อความรู้ที่ดูสมเหตุสมผล คุณจะเชื่ออะไร
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำใจยากนะครับ ในข้อมูลที่ดีทั้งคู่ เราจะตัดสินใจเชื่ออะไร ข้อมูลที่มันสมเหตุสมผล "make sense" แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน กับข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจนแต่มันไม่ "make sense" ตัวอย่างที่ดีคือการศึกษาอันนี้นะครับ ที่เพิ่งเผยแพร่ในงานประชุม ESC ที่ชื่อ DETO2X-AMI
1. แรกเริ่มเดิมที ความรู้เดิมที่เรามีคือการเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจคือความไม่สมดุลกันของอุปสงค์อุปทาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ กล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนแต่ขณะนั้นร่างกายไม่สามารถหาให้ใช้ได้เพียงพอ อย่ากระนั้นเลย เมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะขาดออกซิเจน ดังนั้นการให้ออกซิเจนเข้าไป มันก็มีเหตุผลที่ดี
2. เป็นที่มาของการให้ออกซิเจนกับคนไข้ทุกราย ที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน โดยไม่ขึ้นกับว่าระดับออกซิเจนตอนนั้นของเขาเป็นอย่างไร ให้ได้เลย เชื่อว่าตอนนั้นร่างกายต้องการเพิ่ม เราก็ต้องให้เพียงพอ ความจริงเป็นแบบนั้นจริงหรือ เป็นที่มาของการศึกษานี้
3. ทำการทดสอบ ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้หรือน่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน และ วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแล้ว..ไม่ต่ำ..ตามที่สันนิษฐานคือ ให้แล้วก็คงไม่เกิดประโยชน์เพราะมันก็มีออกซิเจนพออยู่แล้วส่วนพวกที่ต้องให้ออกซิเจนอยู่แล้ว เช่นหัวใจหยุดเต้น หัวใจวาย ก็ไม่นำมาคิดในการศึกษา และเก็บตัวอย่างจากสถานการณ์จริงเลย ไม่ว่ารถพยาบาลไปรับ มาที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อดูแล้วอาการคล้ายๆ มีข้อบ่งชี้ว่าเหมือนๆ ก็รับเข้าทำการศึกษาเลย
4. กลุ่มนึงให้ออกซิเจน ขนาดหกลิตรต่อนาที เป็นเวลาประมาณอย่างน้อยสิบสองชั่วโมง อีกกลุ่มก็สูดอากาศสดชื่นปกติเหมือนเราๆท่านๆนี่แหละ การรักษาอื่นๆก็เป็นไปตามปรกติ ต่างกันตรงจุดนี้ เมื่อรักษาไปจนจบกระบวนการ อาจจะไม่ใช่โรคหัวใจเช่นเป็นโรคปอดก็รักษาไป โรคหัวใจก็รักษาไป ออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ติดตามด้วย ติดตามไปตลอดหนึ่งปี ดูซิว่าสองกลุ่มนี้ต่างกันไหม
5. เมื่อติดตามไปจนครบ และวิเคราะห์ข้อมูลออกมาก็พบว่า อัตราการเสียชีวิต การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ ของกลุ่มที่ไม่ได้ให้ออกซิเจน กับกลุ่มที่ได้รับออกซิเจน ไม่ต่างกัน !!! ย้ำอีกครั้ง คนกลุ่มนี้ออกซิเจนเขาพออยู่แล้วนะ การให้ออกซิเจนเพิ่มเข้าไป พิสูจน์ว่าไม่ต่างกัน เอาละสิ
6. ***สำหรับคนที่สนใจเชิงลึก การศึกษานี้ยังมี ตัวแปรปรวนอีกมาก มี drop out rate จนต้องพิจารณา per protocol และ เป็น registry open labeled ที่ต้องพิจารณาเพิ่ม*** เอาล่ะแต่ช่างมันเถอะ สำหรับเราๆท่านๆ เราพอบอกได้แล้วล่ะว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบหลอดเลือดตีบ การให้ออกซิเจนแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เกิดประโยชน์
7. แล้วยังจะให้ต่อไปไหม...เอาล่ะสิ เรื่องจากมันขัดกับความรู้สึกและหลักการ ...ต่อไปนี้พูดว่า "คุณมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเหรอ ไม่ต้องให้หรอก ออกซิเจนน่ะ ถ้าคุณไม่ได้ออกซิเจนต่ำ มันไม่เกิดประโยชน์" จะมีคนยอมรับหลักการ หรือ หลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่ากัน
8. อดีตเคยมีเหตุการณ์แบบนี้มากมาย บ้างก็ล้มล้างความเชื่อเดิม บ้างก็ไม่สามารถล้มล้างความเชื่อได้แม้ว่าหลักฐานจะหนักแน่นก็ตาม บ้างก็บอกว่าขอทำการศึกษาซ้ำๆกันและวิเคราะห์ซ้ำๆกันให้มั่นใจก่อน ถ้าหลักฐานมันตรงกับหลักการก็เสือติดปีก ถ้าหลักฐานมันตรงข้ามกับหลักการ ...นี่แหละคือประเด็น
9. นี่เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ที่ในกระแสธารมหาศาลแห่งข้อมูล เราต้องเชื่อให้เป็น ทั้งคิดเองอ่านเองวิเคราะห์เองได้ หรือเลือกเชื่อจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ มันยากที่สุดตรงที่เราจะเลือกหันหน้าไปทางใดนี่เอง แม้ว่าตอนนี้ทางการแพทย์จะยอมรับ หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะเชื่อถือได้ แต่อย่างที่บอก อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อและวิธีการรักษาก็ได้
10. เหมือนอย่างที่คุณเคยเชื่อว่า แมนยูมีผู้เล่นที่ดี ผู้จัดการทีมที่ดี ตอนต้นฤดูกาล น่าจะจบลำดับที่ดี แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ก็ออกมาว่า ลิเวอร์พูลจบฤดูกาลด้วยคะแนนที่สูงกว่า ลำดับดีกว่า มันก็น่าจะสรุปได้ว่า พญาฟีนิกส์ย่อมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยความมั่นใจเพิ่มขึ้น
อ่านตามมาข้อหนึ่งถึงเก้า ทุกคนเชื่อผมหมด พอถึงข้อสิบ ทุกคนเลิกเชื่อผมไหมเนี่ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น