23 สิงหาคม 2560

อุบัติเหตุเข็มตำ สารคัดหลั่ง ทางการแพทย์...ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน

อุบัติเหตุเข็มตำ สารคัดหลั่ง ทางการแพทย์...ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน
ตามตัวเลขสถิตินั้น อุบัติเหตุเข็มทิ่มตำอัตราการติดที่ 0.03% ส่วนสารคัดหลั่งติดที่เยื่อเมือกเช่นเยื่อบุตาอัตราการติดที่ 0.009% ปรับขึ้นลงได้ตามระยะของผู้ที่ติดเชื้อ และชนิดของเข็ม การปนเปื้อนเลือด ในแนวทางการรักษาโรคเอชไอวีประเทศไทยปี 2560 เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจนมาก มีแนวทางที่เอาไปใช้ทางเวชปฏิบัติได้
วารสาร American Journal of Infection Control ตีพิมพ์บทความการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแพทย์พิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ในการติดตามบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบอุบัติเหตุแบบนี้ว่ามีการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน ภายใต้มาตรการการป้องกันที่เข้มงวดกว่าอดีต
เป็นการเก็บข้อมูล 13 ปี มีการบาดเจ็บทั้งหมด 18,046 ครั้ง ถ้าคัดมาแต่รายที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี 12,999 ราย ในกลุ่มนี้คัดเฉพาะกลุ่มที่แหล่งที่มาติดเชื้อ HIV มี 266 รายเพื่อนำมาวิเคราะห์ จากตัวเลขตรงนี้ขนาดมาตรการดีๆ ยังมีการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมากกว่า 100 รายต่อปีเลยนะครับ
มากสุดก็โดนเข็มตำ 52% ส่วนบริเวณที่โดนตำมากที่สุดก็แน่นอน มือนั่นเอง 52% เช่นกัน และสิ่งปนเปื้อนที่ถูกปนเปื้อนมากสุดคือ เปื้อนเลือด 64%
มีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อเพียงแค่ 21% เท่านั้น ..ในขณะนั้นมีการแบ่งความเสี่ยงหลายอย่าง และยาต้านไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้ ทำให้บางคนเลือกไม่รับยาก็ได้...พบอัตราการติดเชื้อ HIV เป็น 0% นี่คือติดตามขณะเจอเข็มตำว่าผลลบ ติดตามไปไม่มีผลบวกเลย
*** อย่าลืมคิดตัวแปรอีกอย่างด้วย คือ การรักษาจนกดไวรัสได้ มันมากขึ้น แพร่หลายมาก จึงทำให้ความเสี่ยงและอัตราการติดเชื้อที่น้อยอยู่แล้ว ก็จะลดลงไปด้วย เรียกว่ามี length time bias ร่วมด้วย***
การศึกษานี้มีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าก่อนหน้าตามข้อที่ว่า คือ มาตรการดีขึ้น ยาดีขึ้น คนที่ติดเชื้อลดลง คนติดเชื้อที่ได้รับการรักษาที่ดีมากขึ้น แต่ก็เป็นอันหนึ่งที่แสดงว่าอัตราการติดเชื้อจากอุบัติเหตุทางการแพทย์นั้นไม่มาก แต่อย่างไรเราก็ต้องระมัดระวังอยู่ดี เราคงไม่อยากให้เกิดกับเราและคนที่เรารัก
มาตรการการป้องกันและดูแลโรคติดเชื้อเอชไอวีปัจจุบันนั้นดีมากๆเลย อย่าละเลยและอย่าประมาท รวมทั้งอย่ากลัวจนเครียด สติและปัญญาจะทำให้เราอยู่รอดได้ครับ
wisdom = ปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น