15 กรกฎาคม 2560

ไวรัสมรณะ อีโบล่า

เอาละ .. ว่างกันหรือยัง ไปชงกาแฟแล้วหาเก้าอี้นุ่ม หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ ผ่อนคลาย..แล้วอ่านเรื่องราวของ ไวรัสมรณะ อีโบล่า
เมือง Marburg ตอนกลางของเยอรมนี เมืองนี้ถือเป็นเมือง "คลาสสิค" เมืองหนึ่งของยุโรปเลยนะครับ เก่าแก่ มีมนต์ขลัง เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งเมือง Marburg ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1500กว่าๆ สมัยเริ่มต้นอาณาจักรอยุธยา ที่บอกว่าคลาสสิคก็เพราะว่าเป็นที่พักของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ผู้แต่งและรวมรวมเทพนิยายกริมม์นั่นเอง
ใกล้ๆกันเป็นที่ตั้งของปราสาท damm ที่มีหอคอยสูง เป็นจุดกำเนิดของนิทานเยอรมันชื่อดัง "ราพันเซล" นั่นเอง
ในปี 1967 นักวิทยาศาสตร์ของเมืองนี้ได้ค้นพบเชื้อไวรัสตัวหนึ่ง รูปร่างยาวๆคล้ายเชือกจึงเรียกกลุ่มไวรัสนี้ว่าทFilovirus (filo มาจาก filum ที่แปลว่าเชือก) ติดต่อจากลิง grivet ลิงที่ใช้ในการทดลองมาสู่คน ทำให้คนมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดกระดูกและมีเลือดออกตามจุดต่างๆ นั่นก็คือไวรัสมาร์เบิร์กตามชื่อเมืองที่เกิดการระบาด (น่าจะอ่านว่า มาร์บูร์ก มากกว่า) ลักษณะการติดเชื้อไวรัสนี้คือไข้เลือดออกชนิดหนึ่งในหลายๆชนิดที่มีอยู่ในโลกเรา
ไข้เลือดออกที่เรารู้จักกันดีคือไข้เลือดออกเดงกี่ แต่จริงๆยังมีอีกหลายชนิด นับตั้งแต่วันนั้นโลกก็รู้จักไวรัสมาร์เบิร์ก และได้มีการรายงานการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กอีกสี่ครั้ง ทั้งหมดอยู่บนแผ่นดินแอฟริกา ถิ่นที่อยู่ของลิง grivet และยังพบแหล่งโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ชนิดที่พบมากกลับไม่ใช่ลิงแต่เป็นค้างคาวกินผลไม้ (fruit bat) แห่งดินแดนแอฟริกา
ไม่ใช่แวมไพร์ค้างคาวดูดเลือดหรือค้างคาวดุร้ายกินแมลงแต่อย่างใด ค้างคาวพันธุ์นี้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นมังสวิรัติเพื่ออยู่รอดไม่ต้องแย่งอาหารกับพรรคพวก ความที่มันกินอาหารแบบเดียวกับมนุษย์ คือ ผลไม้ บางครั้งมันแอบไปกินก่อนคนแล้วคนก็กินต่อไปจึงสามารถติดต่อโรคกันได้ แถมยังมีการรับประทานค้างคาวด้วยนะ...พอเข้าใจแล้วว่าทำไมไม่มีตำนานแวมไพร์ที่แอฟริกา
ค้างคาวชนิดนี้แกร่งมาก หูดี ตาดีมาก จมูกดีสุดๆ มีโซน่าร์นำร่อง อาศัยอยู่ในถ้ำปลอดภัย มีภัยสองอย่างเท่านั้น คือไวรัสมรณะนี้และมนุษย์จอมล่าสัตว์เท่านั้นเอง
เอาเป็นว่าตอนนี้ เรารู้แล้วล่ะว่า ไวรัสมาร์เบิร์กมาจากสัตว์สู่คน ผ่านทางสารคัดหลั่งในตัวและการสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคตาย หรือกินสัตว์เหล่านั้น พบมากที่แอฟริกาและเป็นไวรัสมรณะที่อัตราการเสียชีวิตสูงมาก เกือบๆ 90%
***ปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในไวรัสที่เฝ้าระวังการนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ**
เก้าปีต่อมาในปี 1976 ที่เมือง Yambuku ประเทศซาอีร์ ..เอ่อ ไม่ต้องไปเปิดหาในแผนที่แล้วนะครับเพราะปัจจุบันไม่มีซาอีร์อีกแล้ว ได้เปลี่ยนประเทศไปเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ลองไปสังเกตดูนะครับ ประเทศที่ตั้งชื่อ มีคำว่าประชาธิปไตยในชื่อ มักจะไม่ค่อยมีประชาธิปไตยเท่าไร) ที่เมืองเล็กๆนี้มีสุภาพบุรุษที่เป็นครูใหญ่โรงเรียนป่วยและเสียชีวิตใน 7 วัน คือคุณครู Mabalo Lokela อาการป่วยก็คุ้นๆ ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว กินไม่ได้อาเจียน เลือดออก คล้ายๆไวรัสมาร์เบิร์กนะแถมอยู่ในช่วงที่มาร์เบิร์กกำลังดัง แต่จริงๆคุณครูได้รับการรักษามาเลเรียนะครับ
การดูแลตอนนั้นไม่ดีมาก สถานพยาบาลในเมือง yambuku ช่างห่างไกลและขาดแคลน มีแม่ชีชาวเบลเยี่ยมประจำการอยู่ 4 คน การดูแลรักษาก็ได้ตามสภาพทรัพยากร
หลังจากงานศพของคุณครูใหญ่ ก็มีชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธีศพ คนที่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่บ้านก่อนเสียชีวิต รวมทั้งแม่ชีคนหนึ่งในสถานพยาบาลนั้น ล้มป่วยลงพร้อมกันอาการเหมือนๆกัน ..เอาละสิ มันเกิดการระบาดหรืออย่างไร ก็เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลพร้อมๆกัน ..ตอนนี้ยังไม่มีหมอไปดูแลเลยนะ และหลังจากคุณครูล้มป่วยและเสียชีวิตไปแล้วเกือบสัปดาห์ คุณหมอคนแรกก็เข้าไปถึงที่เกิดเหตุ คือคุณหมอ Mgoi Muchala
แน่นอน คุณหมอย่อมคิดถึงโรคระบาด อาจจะเป็นมาเลเรีย หรือ มาร์เบิร์ก จึงส่งเรื่องราวและตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ แจ้งรัฐบาล ได้ประกาศเป็นเขตระบาดและกฏอัยการศึกพื้นที่นั้น
ศาสตราจารย์ Peter Piot ซึ่งทำงานที่ CDC อเมริกาได้ลงพื้นที่มาสำรวจพื้นที่และตั้งห้องแล็บสนามเพื่อพิสูจน์เชื้อ ปรากฏว่า ไม่ใช่ไวรัสมาร์เบิร์ก ไม่ใช่มาเลเรีย แต่เป็นไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ เป็นสายเชือกในกลุ่ม filovirus คล้ายๆมาร์เบิร์ก คราวนี้เมื่อมันเป็นสายพันธุ์ใหม่มันก็ต้องมีชื่อเสียงเรียงนาม โดยทั่วไปก็ตามถิ่นที่ค้นพบหรือตามชื่อคนที่เกี่ยวข้อง
Peter Piot ได้เลือกชื่อ Ebola ตามชื่อแม่น้ำ Ebola ห่างจากเมือง Yambuku 60 ไมล์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณครูที่ติดเชื้อรายแรกมาเที่ยวพักแรมที่นี่แล้วมีอาการกลับไป และเป็นแม่น้ำอยู่ใกล้ๆศูนย์วิจัยภาคสนามอีกด้วย จึงเลือกตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า Ebola virus
Ebola virus เป็นไวรัสไข้เลือดออกเช่นกันแต่คนละพันธุ์กับไข้เดงกี่นะครับ ติดต่อจากสารคัดหลั่ง ไปจับไปแตะสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อแล้วไปจับปาก จมูก ก็ติดเชื้อเมื่อไม่มีการรักษาความสะอาดดีพอ ดังนั้นก็จะติดจากการสัมผัสใกล้ชิดคนที่ป่วยเป็นโรค สัตว์พาหะนำโรคเช่น ..ค้างคาวกินผลไม้ .. อีกแล้ว หรือพวกลิงต่างๆ ทั้งการสัมผัสน้ำลาย ผลไม้ที่เปื้อนน้ำลาย การกินเนื้อสัตว์พวกนี้
อาการก็เหมือนไข้เลือดออกเลย ไข้สูง ปวดเมื่อย อาเจียน ถ่ายเหลว เลือดออก แต่ความรุนแรงนั้นรุนแรงมากๆ อัตราการเสียชีวิตสูงปรี๊ด 80-90% มีการระบาดเป็นพักๆ
ถามว่าน่ากลัวกว่ามาเลเรียหรือไข้เลือดออกเดงกี่ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ เพราะโรคสองโรคนี้ระบาดเป็นวงกว้างมากกว่า มีแมลงเป็นพาหะทำให้ควบคุมยาก มีระยะแฝงของโรคทำให้ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ตรวจไม่พบ โรคจึงแพร่กระจายมาก
ส่วนอีโบล่าเกือบทั้งหมดอาการรุนแรง ทุกคนทราบ จัดการแยกโรคได้ทันและส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเสียชีวิต การกระจายโรคจึงไม่มาก ในช่วงการระบาดเมื่อปีที่แล้วก็ควบคุมการระบาดได้ดี มีมาตรการที่ชัดเจนและเร็วมาก ในประเทศไทยเองก็มีแนวทางการป้องกันที่พร้อมเช่นกัน
ใครอยากดูแบบสนุกๆ ...แต่เป็นหนังนะครับ ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดดูได้จากเรื่อง outbreak (1995) นำแสดงโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, มอร์แกน ฟรีแมน, เรเน่ รุสโซ ผลงานกำกับของผู้กำกับชื่อดัง โวลฟ์กัง ปีเดอร์เซ่น ผู้กำกับเรื่องทรอย ...เขาเป็นคนเยอรมันด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น