DTX, dextrostix, เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ตกลงเราควรเรียกว่าอะไร
ชื่อ DextroStix เป็นชื่อทางการค้าของเครื่องตรวจน้ำตาล ที่คิดค้นมานาน จดทะเบียนในปี 1971 ... สมัยก่อนการเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดใช้การตรวจจากหลอดเลือดดำที่ใช้เวลานาน จนเมื่อปี 1965 คุณ Anton Hubert Clemens ได้คิดวิธีการใช้แถบกระดาษเคมี (ถึงตรงนี้ไม่สามารถอธิบายต่อได้ ความรู้เคมีเป็นศูนย์) ไปแตะหยดเลือดปลายนิ้ว ปล่อยให้แห้งแล้วล้างออกด้วยสารเคมี จะเห็นเป็นแถบสีน้ำเงิน ใช้สีที่ล้างออกมานี้มาเทียบกับแถบสีที่ทราบค่าอ้างอิงน้ำตาลตั้งแต่ฟ้าจางๆ ถึงน้ำเงินเข้มๆ เพื่อประมาณการว่าระดับน้ำตาลนั้นเท่าไร และได้จดทะเบียนแถบนั้นว่า DextroStix
แต่ว่ายังมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการเปรียบเทียบว่า ฟ้าจาง เข้มขึ้นหนึ่งระดับ เข้มขึ้นสองระดับ...จนน้ำเงินเข้มเป็นเท่าไร และถ้าสีออกก้ำกึ่งๆ จะอ่านค่าว่าน้ำตาลเท่าไร รวมทั้งถ้าค่ามากเกินสีอ้างอิง หรือน้อยเกินสีอ้างอิงก็บอกยาก
จึงได้มีการพัฒนา อย่าอ่านแถบสีโดยใช้ตามนุษย์เลย ใช้เครื่องมือดีกว่า เครื่องนี้พัฒนาร่วมกับญี่ปุ่น อาศัยการหักเหและสะท้อนแสง ที่ยิงผ่านแถบสีน้ำเงิน ผ่านโฟโต้อิเล็กทริกเซล ออกมาเป็นค่าที่ละเอียดขึ้น เชื่อถือได้มากกว่า เรียกว่า Ames Refrectance Meter (บริษัท Ames) จดทะเบียนในปี 1972 หรือเครื่อง eyetone
แต่ว่าการอ่านผลเป็นแบบอนาล็อก คือเป็นเข็มชี้ไปที่ตัวเลขบนมิเตอร์ เข็มมักจะไม่นิ่ง เครื่องก็ใหญ่เทอะทะ ติดตั้งกับที่เสียบปลั๊กไฟ ราคาก็แพ๊งแพง
ต่อมา Dick Benstein วิศวกรชาวอเมริกัน เขาป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ต้องวัดน้ำตาลและฉีดอินซูลินตลอด ได้สั่งเครื่องนี้มาใช้แล้วพบว่า...มันปังเว้ยเฮ้ย..ช่วยให้การควบคุมเบาหวานเขาดีมาก ชีวิตง่ายขึ้น เขาจึงเริ่มการพัฒนาร่วมกับหลายๆสถาบันการแพทย์ ให้เครื่องมือขนาดเล็กลง อ่านค่าออกมาเป็นดิจิตอล ...การพัฒนาเทคโนโลยีตอนนั้นเข้าสู่ยุคดิจิตอลพอดี..
มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ยักย้ายถ่ายทุน เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น จาก Ames มาเป็น Miles Diagnostics จน Bayer เข้ามาซื้อ ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วภายใต้ยุคไมโครโปรเซสเซอร์ จนออกมาเปลี่ยนเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่เราๆท่านๆใช้กันอยู่ หาซื้อได้ตามร้านยาชั้นนำ
...ซึ่งเราก็ยังติดปากเรียกตามชื่อการค้าชื่อแรกที่จดทะเบียนว่า "DextroStix" นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น