18 กุมภาพันธ์ 2560

อาการปวดหลัง ปัจจุบันมีข้อมูลการรักษาอย่างไรบ้าง (2)

เรื่องการใช้ยาในการรักษาอาการปวดหลัง ต่อจากเมื่อวานที่เป็นเรื่องการรักษาโดยไม่ใช้ยา

หัวข้อสรุปนี้มีไม่มาก ผมจึงแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับยาต่างๆ ไปด้วยนะครับจะได้เข้าใจมากขึ้น อย่างเช่นเคยผมแค่สรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ใครต้องการอ่านฉบับเต็มผมทำลิงค์จาก google drive มาให้ครับ

1.พาราเซตามอล ก็ต้องถือว่าเป็นยาที่ประสิทธิภาพดีครับ ใช้กันมากมายแพร่หลาย เรามักคิดว่าประสิทธิภาพมันไม่ดี แต่จากการศึกษาแล้วนั้นเรื่องของประสิทธิภาพในการลดปวดเทียบในระยะสั้นเท่ากับยาลดอาการอักเสบที่เราเรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs) เลยนะครับ ข้อที่ดีกว่าคือ โทษของมันน้อยกว่ายาลดการอักเสบมากๆ สามารถใช้ได้ปลอดภัย
แต่ในเมื่อมันเป็นยาที่ใช้มากที่สุด มันก็พบผลเสียมากที่สุดด้วย อย่ากินเกินขนาดก็พอครับ ในผู้ใหญ่กินยาในขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัมครั้งละหนึ่งเม็ด หรือถ้าตัวโตๆก็เม็ดครึ่ง พอแล้ว วันละไม่เกิน 10-15 เม็ดก็พอครับ ถ้าจะต้องได้ยาต่อเนื่อง ควรใช้วิธีอื่นๆร่วมด้วยจะดีกว่าครับ

2.NSAIDs ชื่อจริงๆของมันคือ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เรารู้จักกันดีเวลาปวดข้อ ปวดกล้าม เรามักจะใช้กันมาก อาทิเช่น ibuprofen, diclofenac, ketotifen, celecoxib, etoricoxib ยาตัวนี้นอกจากลดอาการปวด ซึ่งประสิทธิภาพในการลดอาการปวดของมัน ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่ายาพาราเซตามอลมากนัก
ที่มากกว่าคือประสิทธิภาพในการลดการอักเสบในกรณีที่โรคนั้นเกิดจากการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดหลังจากกระดูกหรือเอ็นอักเสบ ดังนั้นถ้าอาการนั้นไม่ได้เกิดจากการอักเสบก็จะไม่ค่อยเกิดประโยชน์ในการรักษา นอกจากนี้ ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ปวดท้อง ไตเสื่อมและหัวใจวาย เป็นสิ่งที่พึงระวัง

3.ยาลดอาการปวดอนุพันธุ์ของฝิ่นและมอร์ฟีน เช่น ทรามาดอล มอร์ฟีน เพทิดีน ยากลุ่มนี้ลดปวดได้ดี ในอาการปวดหลังเฉียบพลัน สามารถลดปวดได้ดี เท่าๆกับ การใช้ยาพาราเซตามอลบวกกับยาเอ็นเสด และสามารถคืนสภาพการใช้งานกล้ามเนื้อได้ดีพอควร สำหรับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง ประสิทธิภาพในการลดปวดและคืนสภาพการใช้งาน ทำได้ดีปานกลาง แต่ว่าส่งผลแค่ช่วงสั้นๆหลังกินยาเท่านั้น

**คำเตือนที่สำคัญ ยาพวกนี้ทำให้เกิดอาการติดยาและถอนยาได้ครับ**

4.ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น eperisone, tolperisone, orphenadrine, baclofen ยากลุ่มนี้มีผลการศึกษาชัดเจนในการรักษาอาการปวดหลังเฉียบพลัน ซึ่งใช้ได้ผลเล็กน้อยในการระงับปวดและเพียงช่วงเวลาสั้นๆหลังใช้ยาเท่านั้น การใช้ยาในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนครับ และไม่ว่าจะใช้ตัวใดยี่ห้อใด ไม่ค่อยต่างกันมากนัก ต้องระวังผลข้างเคียงอันหนึ่งของยากลุ่มนี้ที่พบบ่อยนะครับคือ ง่วงซึม

5.ยาต้านอาการซึมเศร้า เป็นยาที่ใช้ในการปวดหลังเรื้อรังเพราะว่าสามารถไปออกฤทธิ์ที่สารสื่อประสาทที่ควบคุมวงจรการปวดได้ จึงมีแต่ข้อมูลการใช้ในโรคปวดหลังเรื้อรังเท่านั้น ประสิทธิภาพในการลดปวดและการคืนสภาพการใช้งานไม่มากนัก และไม่ต่างกันในแต่ละกลุ่มย่อยของยา เช่น amitriptyline nortriptyline fluoxetine sertraline

6.ยากันชัก อื่นๆ ประสิทธิภาพไม่มากทั้งการปวดหลังเรื้อรังและเฉียบพลัน ข้อมูลก็ไม่ได้มากมาย จนจะเป็นที่สรุปได้ การศึกษาที่มีเป็นการศึกษาขนาดเล็กและผลการลดปวดไม่มากนัก


สรุปว่าการใช้ยาเพื่อลดอาการปวดหลังทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังนั้น ลดปวดได้ปานกลาง สามารถคืนสภาพการทำงานได้เล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น ประสิทธิภาพไม่ได้ต่างจากการรักษาโดยไม่ใช้ยามากนัก และการใช้ยาแต่ละอย่างผลก็ไม่ต่างกันมาก

จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นและระวังผลข้างเคียงที่จะเกิดให้มากที่สุดครับ

https://drive.google.com/open?id=0Bw862GrW7-8LRS1zdWF5U0ljYTQ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น