04 มกราคม 2560

ถุงลมโป่งพองกำเริบ GOLD 2017

ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองกำเริบ...ฤดูหนาวแบบนี้ กำเริบกันมาก เอ้ามาดูกัน ทำอะไรดี..

   เริ่มต้นที่บ้านก่อนนะครับ ถุงลมโป่งพองไม่เหมือนหอบหืดนะครับ ถ้ากำเริบขึ้นมาไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ผมแนะนำให้ไปโรงพยาบาลครับ สาเหตุของการกำเริบมันมีมากมายที่ต้องซักประวัติแยกโรค เราดูแลเร็วรักษาเร็วจะลดผลข้างเคียงแทรกซ้อนลงได้ครับ ต่อไปการประเมินและรักษาที่ห้องฉุกเฉินจะสำคัญมาก
  สำหรับน้องๆหมอ..เราช่วยเร็วเขากลับบ้านเร็ว ถ้าช่วยช้าอาจจะแย่มากได้นะครับ คนไข้กลุ่มนี้รีบแยกความรุนแรงแยกรักษา  เรามีเกณฑ์การแอดมิดหรือการเข้าไอซียูอยู่ใน GOLD 2017 แต่ผมอ่านและวิเคราะห์ดูแล้ว บอกแบบนี้แล้วกันถ้าน้องคิดว่าควรแอดมิด ให้แอดมิดครับ ใช้สามัญสำนึกเรานี่แหละ หรือถ้าไม่แน่ใจ แอดมิดครับ เกณฑ์ต่างๆก็คือ ..ดูแย่ในสายตาเรา นั่นเอง

  พอมาถึงโรงพยาบาลแล้ว คนไข้ก็จะได้รับการวัดสัญญาณชีพและประวัติเร็วๆ สิ่งที่จะได้รับการทำแน่ๆคือวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรือหลายๆที่ก็สามารถวัดแก๊สในเลือดแดงได้เลย เอาล่ะ ไม่ว่าจะวิธีใด เราต้องการออกซิเจนที่ประมาณ 88-92% เท่านั้นก็เพียงพอ บางครั้งเราอยากให้ได้ 99-100% คนไข้อาจจะได้ออกซิเจนมากเกินหรือต้องใส่ลมมากเกินในการช่วยหายใจก็จะอันตรายได้
  สิ่งที่สำคัญมากกว่าการให้ยาคือการช่วยหายใจ ถ้าโรคยังไม่รุนแรงมาก คำแนะนำให้ใช้ venturi mask หรือ high flow oxygen ..โอเค แพงและไม่มีทุกที่ สรุปว่าจะใช้ canula หรือหน้ากากก็ได้ ให้ออกซิเจน 88-92 % ไม่ได้ต้องการมากเกินไป จำไว้นะครับ และถ้าไม่ไหว ตัวเลือกแรกคือการใส่เครื่องช่วยหายใจแบบไม่รุกล้ำ...NIV (evidence grade A)

  แบบไม่รุกล้ำคือ ยังไม่ต้องใส่ท่อ เลือกหน้ากากให้เหมาะสมแล้วเป่าลมเข้าไป เครื่องนี้จะช่วยลดแก๊สเสียคั่ง ลดเลือดเป็นกรด ร่นระยะการนอนโรงพยาบาล ลดโอกาสใส่ท่อ ลดผลเสียของการใส่ท่อ แต่ต้องใส่เร็วตั้งแต่คนไข้เริ่มแย่อย่ารอให้แย่มากๆ ใส่ที่ห้องฉุกเฉินเลยครับ ยืนประเมินข้างๆตัวอยู่สัก 5-10 นาที ให้คนไข้มั่นใจและเรามั่นใจ
  ส่วนการช่วยแบบรุกล้ำคือใส่ท่อนั้น ใช้เมื่อการใข้แบบไม่รุกล้ำล้มเหลว หรือต้องใส่ท่อด้วยเหตึผลอื่นใด

  การใช้ยาพ่น ให้ใช้แบบออกฤทธิ์สั้น ใช้บ่อยๆ จะใช้ตัวพ่นยาแบบพกพาหรือใช้แบบพ่นแบบใส่หน้ากากก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกและการตอบสนองของคนไข้ ไม่มีการศึกษาให้เห็นประโยชน์ของแต่ละอันที่ชัดๆ สรุป ..ใช้อะไรก็ได้ที่ได้ผล
  ให้ยาสเตียรอยด์ แนะนำให้ทุกราย prednisolone 40 มิลลิกรัมต่อวันอย่างน้อย 5 วัน หรือถ้ากินไม่ได้ก็ใช้ฉีด ผลการรักษาระหว่างกินและฉีดไม่แตกต่างกัน ส่วนยาพ่นสเตียรอยด์ ราคาแพง จะใช้ร่วมหรือไม่ด็ได้ครับ หรือจะเริ่มเมื่อตอนอาการดีขึ้นก็ได้
  ยา theophylline, doxophylline, aminophylline ไม่แนะนำให้ใช้ในภาวะกำเริบแล้วนะครับ พิษมันมาก

  ยาฆ่าเชื้อ..ต้องใช้ทุกรายไหม  จริงอยู่นะครับ ส่วนใหญ่สาเหตุของการกำเริบคือ การติดเชื้อซึ่งอาจเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้การศึกษายังไม่เป็นข้อสรุปชัดเจน สรุปคือให้เมื่อสงสัยการติดเชื้อ มีหลักฐานบ่งชี้การติดเชื้อเท่านั้น  หลักฐานนั้นคือ เหนื่อยมากขึ้น เสมหะมากขึ้น หรือ เสมหะเปลี่ยนสีเป็นเข้มขุ่นเขียว
   เลือกใช้ยาขึ้นกับข้อมูลของแต่ละที่ว่าพบเชื้ออะไรมากและดื้อยาอะไร และถ้ากำเริบบ่อยๆอาจต้องติดถึงเชิ้อตัวร้ายๆคือ Pseudomonas ด้วยนะครับ ระยะเวลาการให้ยาก็ 5-7 วันครับ

  หลังจากอาการกำเริบดีขึ้น ก็ให้มาประเมินการรักษาระยะยาวและการดูแลที่บ้านต่อไป หรือจะตัดสินใจส่งขึ้นไอซียูต่อไป ...ย้ำนะครับรีบมารพ. และ ช่วยให้เร็วที่สุด

หนึ่งเรื่องหนึ่งตอนจาก GOLD guideline 2017 สามารถโหลดได้ที่..ฟรีตามเคย

http://goldcopd.org/gold-2017-global-strategy-diagnosis-management-prevention-copd/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น