19 มกราคม 2560

ความเข้าใจการเลิกบุหรี่

หลายวันที่ผ่านมานี้ มิตรสหายหลายท่านสอบถามเรื่องการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ใครพูดจริง ใครหมกเม็ด ผมเคยพูดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้ว แต่ในเมื่อมีข้อมูลชุดใหม่ๆออกมาก็จะมากล่าวอีกครั้ง ในวันนี้จะมาร่ายยาว ย้ำว่าร่ายยาว เรื่องการเลิกบุหรี่ ก่อนนะครับ

   บุหรี่ มีโทษ อันนี้ทุกคนคงไม่เถียง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน ยาเส้น อันตรายจากบุหรี่เกิดจากสองประการ ประการแรกคือ สารพิษสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นเขม่า น้ำมันดิน โลหะหนัก ชัดเจนนะครับ โรคหัวใจ โรคกระเพาะ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง เป็นสิ่งที่น่ากลัว ..ตรงนี้บุหรี่ไฟฟ้าจะเคลมได้ล่ะครับว่า สารพวกนี้มันน้อยกว่า..
   ประการที่สอง คือ มันเสพติด สารนั้นคือ นิโคติน ออกฤทธิ์กระตุ้นสารสื่อประสาทโดปามีนในสมอง ผ่านตัวรับที่ชื่อ แอลฟ่า4บีต้า2 จำเจ้าตัวนี้ไว้นะครับ เมื่อร่างกายได้รับนิโคติน ก็จะหลั่งสารโดปามีนออกมา รู้สึกกระปรี้กระเปร่า รู้สึกดี และมีคุณลักษณะของสารเสพติด คือ ต้องการอยู่เรื่อยๆ ต้องการปริมาณมากขึ้น และมีอาการขาดสารนั้นหากไม่ได้รับ ทำให้เราโหยหาบุหรี่ครับ คนสูบแรกๆสูบเพราะมีความสุขจากสารนี้ ส่วนสูบไปนานๆ ไม่กล้าหยุดเพราะหยุดจะทรมาน (craving) เหมือนลงแดงบุหรี่

   ทำไมบุหรี่จึงเลิกยาก..คำตอบคือ เลิกไม่ถูกวิธีครับ ..ส่วนมากหักดิบ จริงอยู่นะครับว่าบางคนก็เลิกได้ถาวรแต่สัดส่วนนั้นน้อยมาก ไม่เกิน 20% และกลับไปสูบใหม่ทั้งสิ้น..แต่ถ้าเข้สู่กรรมวิธีของคลินิกเลิกบุหรี่ โอกาสสำเร็จ 40-60% ดูตัวเลขนะครับ ดีที่สุดประมาณ 60% เลยครึ่งมานิดนึง ดังนั้นถามว่าทางการกลัวอะไร เขากลัวคนสูบบุหรี่หน้าใหม่ครับ เพราะสูบติดแล้วเลิกยากนั่นเอง เขายอมลดผู้เสพหน้าใหม่ ลงทุนตรงนี้ครับ
  วิธีที่ถูกเวลาเลิกบุหรี่ คือ ต้องควบคุม ทั้งสามปัจจัยการติด คือ ปัจจัยตัวเอง ปัจจัยสิ่งรอบข้าง ปัจจัยนิโคติน

  ปัจจัยตัวเอง..ต้องพร้อมใจ ไม่ถูกบังคับมา หรือแค่ลองๆดู จะไม่สำเร็จครับ และต้องรู้จักวิธีรับมือกับอาการลงแดงบุหรี่ เพื่อไม่ให้หวนกลับไปหาบุหรี่อีก
  ปัจจัยสิ่งแวดล้อม คือ ต้องหลีกหนีสภาพที่ชวนสูบบุหรี่ เช่นในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ ก็อย่าไปอยู่กับเขาเวลาสูบบุหรี่ จัดสภาพแวดล้อมให้ไม่เอื้อต่อการจุดบุหรี่ เอาอุปกรณ์ทิ้งให้หมด หลังกินข้าว หากิจกรรมทำ ให้ครอบครัวช่วยเหลือ
  ปัจจัยนิโคติน บางครั้งถ้าติดมากก็ต้องใช้ยาช่วยนะครับ เพราะเจ้านิโคตินมันเป็นสารเสพติดที่รุนแรงพอตัว และ การสูบนิโคตินผ่านทางบุหรี่นั้น นิโคตินจะเข้าสู่สมองและไปถึงจุดออกฤทธิ์เร็วมาก ไม่เกิน 10 วินาที สามารถไปกระตุ้น แอลฟ่า4บีต้า2 ในสมองเลย ความเร็วของการออกฤทธิ์นี่แหละครับ ทำให้บุหรี่เลิกยาก ติดง่าย

   การเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ มีอะไรที่ต่างจากเลิกเอง..คือจะมีการประเมิน การติดตามผล การติดตามผลนี่  **ถือเป็นกุญแจสำคัญของการรักษาเลยนะครับ** เพราะถ้ามีคนเข้าใจให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ จะช่วยให้การเลิกสำเร็จอย่างมาก มีการใช้ตัวชี้วัดเป็นรูปธรรม เช่นวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ การใช้ยา การใช้สารทดแทนนิโคติน หรือมีการทำกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนช่วยเพื่อนครับ รวมทั้งให้คำปรึกษาผู้ดูแลและครอบครัวด้วย เนื่องจาก ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่สุด
   ถ้าได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว โอกาสสำเร็จสูงมาก แต่ถ้าครอบครัวบอกว่า ช่างมันเถอะ ชีวิตมัน บอกเตือนกี่รอบก็ไม่ฟัง อย่างนี้เลิกยากครับ
   คลินิกบุหรี่ส่วนมากก็จะมีช่องทางติดต่อเพื่อ ให้คำปรึกษาเวลามีปัญหาทั้งฮอตไลน์หรือแอปพลิเคชั่นสื่อสาร อย่างคลินิกบุหรี่ส่วนกลางก็จะมีหมายเลข 1600 คอยให้คำปรึกษาครับ และคลินิกเลิกบุหรี่ก็จะดำเนินการเชิงรุกคือโทรไปหา ไปปรึกษา มากกว่าจะรอเป็นฝ่ายตั้งรับ
    เวลามีปัญหาถ้าไม่มีใครปรึกษา เขาจะหันกลับไปสูบบุหรี่ซึ่งหาได้ง่าย และแก้ไขปัญหาของเขาได้ใน 10 วินาที

   สำหรับยาเลิกบุหรี่..ที่ใช้ทุกวันนี้ มีสองประเภทครับ คือ ยาที่ไปควบคุมสารสื่อประสาท และ สารที่ใช้ทดแทนนิโคติน เรามาดูแต่ละอย่างกัน

   ยาที่ไปควบคุมสารสื่อประสาทที่มีใช้อยู่ตอนนี้คือ nortriptyline, bupropion, varenicline ทั้งสามตัวนี้เมื่อใข้ร่วมกับกระบวนการคลินิกเลิกบุหรี่ จะทำให้โอกาสเลิกได้สำเร็จเพิ่มขึ้น ***คือต้องใช้ร่วมกับการเข้าคลินิกนะครับ*** ไม่มีการศึกษาแบบ เดินไปซื้อแล้วกินยาอย่างเดียว แล้วจะเลิกได้ จะเห็นว่ากระบวนการคลินิกเลิกบุหรี่สำคัญมาก nortriptyline เป็นยาราคาถูก มีในบัญชียาหลัก ใช้รักษาโรคซึมเศร้าแต่ก็สามารถนำมาใช้เลิกบุหรี่ได้  ยา bupropion หรือ quomem กินวันละสองครั้ง หนึ่งเม็ดเช้าเย็น เดิมทีก็เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและสมาธิสั้น แต่ก็มาช่วยลดบุหรี่ได้ ดังนั้นก็ต้องระวังผลข้างเคียงของการใช้ยาคือ ความดันโลหิตต่ำลง ปากแห้ง และใน bupropion ห้ามใช้ในผู้ป่วยลมชัก

  varenicline หรือ champix (chantixในบางประเทศ) เป็นยาตัวล่าสุดที่ออกมา ประสิทธิภาพสูงสุด ออกแบบมาเพื่อเลิกบุหรี่โดยเฉพาะ คือไปออกฤทธิ์ที่ตัวรับ แอลฟ่า4บีต้า2 ในสมองโดยตรง ประสิทธิภาพสูงกว่ายาทั้งสองตัวข้างต้น และ เมื่อหยุดยาแล้วโอกาสกลับมาสูบซ้ำก็ลดลง มีการศึกษาการใช้ร่วมกับ bupropion ก็เพิ่มประสิทธิภาพ
   ยาออกฤทธิ์สองอย่าง อย่างแรกคือเมื่อมันไปปิดตัวรับนิโคติน เวลาสูบบุหรี่เข้าไป นิโคตินก็ไม่ไปออกฤทธิ์ มันก็ไม่ซาบซ่านอย่างที่เคย สูบบุหรี่จึงเหมือนดูดควันยากันยุง ไม่มีรสชาติ อย่างที่สองคือมันไปจับตัวรับนิโคติน กันไม่ให้นิโคตินไปออกฤทธิ์แล้วยังออกฤทธิ์เองด้วย แต่ก็ไม่ได้กระตุ้นแรงๆเท่านิโคติน ทำให้สารสื่อประสาทโดปามีนหลังออกมาสร้างความสุขแค่เบาๆ ไม่ซาบซ่านเท่าสูบบุหรี่ อันนี้ก็จะไปช่วยลดการลงแดงบุหรี่ลงได้ ไม่ทรมานถึงขั้นต้องไปหาบุหรี่มาสูบอีก
   ก่อนหน้านี้เคยมีความกังวลเรื่องโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ใช้ยา varenicline และปัญหาทางโรคหัวใจ แต่ปัจจุบันได้มีการทำงานวิจัยเพื่อยืนยันความปลอดภัยของยาในสองมิตินั้นเรียบร้อยแล้วว่าไม่เกิดอันตรายครับ ยังสามารถใช้ได้เลยในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (EVITA trial)
   สมัยก่อนราคายามันแพงกว่าบุหรี่ ตอนนี้บุหรี่แพงขึ้นและราคายาลดลง จึงมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นครับ **ย้ำอีกครั้งการใช้ยาทั้งหมดใช้ร่วมกับการเข้าคลินิกเลิกบุหรี่นะครับ***

  มาอยู่อีกอย่างคือ สารทดแทนนิโคติน สารทดแทนนิโคตินนี้มีไว้เพื่อ ลดความทรมานจากอาการลงแดงบุหรี่ เราจะใช้เป็นอย่างสุดท้ายเมื่อวิธีอื่นใช้ไม่ได้ผลครับ แต่ว่าจริงๆหลายๆการศึกษาก็ให้ร่วมกับยาเลิกบุหรี่ด้วยพร้อมกันไปเลยก็มีประสิทธิภาพสูงนะครับ สารทดแทนนิโคตินอันนี้ หลักการคือ ต้องออกฤทธิ์ช้ากว่าและเบากว่าบุหรี่หลายๆเท่า เพราะถ้าออกฤทธิ์ดีกว่าคุณก็จะติดสารพวกนี้แทนบุหรี่นั่นเอง ...ตรงนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นสารทดแทนนิโคตินที่ได้ดีนัก เพราะออกฤทธิ์เร็ว และออกฤทธิ์ได้แรงพอๆกับบุหรี่มวนเลย โอกาสจะหย่าขาดนิโคตินจึงลดลง..

    หมากฝรั่ง..ใช้ยากเพราะต้องเคี้ยวนาน เคี้ยวแล้วต้องหยุดเป็นพักๆ อมข้างแก้มให้เกิดการดูดซึม ไม่ค่อยสำเร็จเพราะ เมื่อยกรามครับ
   แผ่นแปะ..ออกฤทธิ์ช้ามากๆ บางทีหายอยากไปแล้วนิโคตินยังไปไม่ถึงสมองเลย อีกอย่างบ้านเราร้อนชื้น แปะได้ไม่นานครับ
   บุหรี่ไฟฟ้า..ออกฤทธิ์เร็วแรงพอๆกับนิโคตินจากบุหรี่ แก้ไขอาการลงแดงได้ดี ถ้าใช้อย่างฉลาดสามารถช่วยลดเลิกบุหรี่ได้ แต่ว่ายังไม่ได้รับรองให้ใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อเลิกบุหรี่อย่างเป็นทางการครับ

   สารทดแทนนิโคตินนี้ไม่ได้ช่วยการเลิกได้มากนัก การศึกษาที่บอกว่าช่วยนั้น ก็เหมือนกับยาเลิกบุหรี่ทั้งหลายคือ ต้องใช้ในคลินิกภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ มีการติดตามการใช้สารทดแทนจึงจะมีประโยชน์ การไปซื้อหมากฝรั่งมาเคี้ยวเพื่อหวังผลจะเลิกบุหรี่แบบตรงๆนั้น อาจมีคนทำได้จริง..คือเขาตั้งใจจริงอยู่แล้ว..แต่ถ้าถามถึงการศึกษาที่เป็นรูปแบบชัดเจน ยังไม่ได้ผลครับ

   เวลาที่จะเลิกบุหรี่ที่ดี ควรเป็นเวลาที่สบายๆดี มีครอบครัวมาด้วย ช่วยกันเลิก ไม่มีภาวะบีบคั้นใดๆ และเจ้าตัวที่สูบบุหรี่ต้องสมัครใจด้วยนะครับ ถ้าถูกบังคับมาโอกาสเลิกยาก และเลิกแล้วก็มักจะกลับไปสูบอีก หลายๆคนยื่นข้อเสนอการเลิกบุหรี่ให้เวลาคนไข้ป่วย เช่น ป่วยจากถุงลมโป่งพองกำเริบ ป่วยจากหลอดเลือดหัวใจตีบ พบว่าความสำเร็จไม่ได้มากไปกว่าการชักชวนให้เลิกในเวลาสบายๆดีครับ
   โดยทั่วไปก็จะสำเร็จในสองถึงสามเดือน แต่ก็คงต้องติดตามต่อไปครับ เพราะแม้แต่ในการศึกษาที่ดีมากๆ เมื่อเลิกสำเร็จก็ยังมีโอกาสกลับมาสูบซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 25-30% และในกลุ่มคนที่กลับมาสูบซ้ำนั้น การเลิกครั้งต่อไปจะยากขึ้นมาก ดังนั้นการตั้งใจเลิกครั้งแรกจึงมีความสำคัญมากครับ

  เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่มวน ผมขอเวลาสรุปการศึกษาสักหน่อยนะครับ เพราะมันมีผลกระทบสูง มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง รอติดตามสักหน่อย อยากฟังก็ยกมือขึ้นหนึ่งไลค์นะครับ

แต่สิ่งที่จะสรุปได้แน่ๆคือ ..ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น