ผลสรุป 10 ข้อ บุหรี่ไฟฟ้า กับ การเลิกบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้า หรือชื่อที่ถูกคือ อุปกรณ์นำส่งนิโคตินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic nicotine delivery systems : ENDs) คืออุปกรณ์ที่ใช้แปรเปลี่ยนนิโคตินเหลวผ่านอุปกรณ์ความร้อนเพื่อให้กลายสภาพเป็นควัน นำส่งนิโคตินแบบควันเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปออกฤทธิ์ที่สมอง ต้องใข้สารตัวกลางหลายอย่างเช่น กลีเซอรีน โพรพิลีนไกลคอล และโลหะหนักหลายชนิดในการนำพานิโคติน ENDs มีมาหลายปีแล้วแต่เพิ่งมาได้รับความนิยมมากในช่วง 10 ปีมานี้ มีหลากหลายยี่ห้อ หลายบรรจุภัณฑ์ หลากกลิ่น หลากรส หลายประเทศให้จำหน่าย หลายประเทศควบคุม สำหรับไทยยังห้ามนำเข้าและจำหน่ายครับ
ข้อมูลเรื่องของผลเสียต่อสุขภาพเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ครับหรือที่มีก็ยังไม่สามารถสรุปได้เพราะ ระยะเวลาในการติดตามจะน้อยเกินไป โรคพวกนี้ต้องมีการศึกษาเป็นระบบ ควบคุมดีๆ มากกว่า 20-30 ปี หลายๆที่หลายๆชนชาติ จึงจะสรุปได้
ข้อมูลที่ออกมามากตอนนี้ จะเป็นข้อมูลเรื่อง บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากขึ้นหรือไม่ และสามารถใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการเลิกบุหรี่ได้หรือไม่ เรามาดูข้อมูลสรุปจากการศึกษาทางการแพทย์ครับ
1. การศึกษาที่เป็นการทดลองในมนุษย์แบบที่ควบคุมดีๆ ที่เรียกว่า randomized controlled trials มีน้อยมาก และที่มีอยู่ก็จะเป็นการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างน้อย เวลาติดตามยังไม่นานมาก ข้อมูลเกือบทั้งหมดจึงมาจากการเฝ้าติดตาม (cohort) การสอบถาม (cross section) แต่ละชุดข้อมูลก็มีความหลากหลายและจำนวนผู้ที่ติดตามไม่มาก จึงต้องนำมารวมกันและวิเคาระห์แบบภาพรวม ที่เรียกว่า systematic review
2. จาก systematic review ที่ออกมาล่าสุด 5 วารสารการศึกษา แต่ละวารสารก็ได้รวบรวมผลการศึกษาที่เชื่อถือได้ มีตัวชี้วัดที่ถูกต้อง ระเบียบวิธีวิจัยที่พอใช้ได้ เพื่อมาวิเคราะห์ผลโดยรวมของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ ก็พบว่า เมื่อคัดเอาการศึกษาที่เชื่อถือได้จะมีการศึกษาเหลือมาทำการวิเคราะห์ไม่มาก จำนวนผู้รับการวิจัยโดยรวมไม่มาก (ประมาณ 500-4000) ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะถ้าเอามาทั้งหมดจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวารสาร (พวกที่ตัดออกไปส่วนมากก็จะมีอคติการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัยไม่ดี ใช้สถิติไม่ถูก)
3. งานวิจัยที่นำมาสรุป ส่วนมากเป็นประชากรทางอเมริกาและยุโรป มีทางออสเตรเลียบ้าง การประยุกต์ใช้ในบ้านเราอาจต้องมาทบทวน และ เนื่องจากมีความหลากหลายของบุหรี่ไฟฟ้ามากมายในท้องตลาดรวมทั้งพัฒนาการของบุหรี่ไฟฟ้าที่รวดเร็วมาก งานวิจัยทั้งหลายจึงอาจมาใช้ตรงๆไม่ได้เพราะอาจไม่ตรงกันทั้งหมด และไม่ตรงกับลักษณะที่วางขายในบ้านเรา อันนี้เป็นข้อจำกัดครับ
4. ผลของการศึกษาโดยรวมพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการเลิกบุหรี่สำเร็จได้ประมาณ 25-30% เมื่อเทียบกับไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆช่วย **ช่วยเพิ่มความสำเร็จนะครับ** ไม่ได้ช่วยชักจูงให้อยากเลิกมากขึ้น ในทุกๆ systematic review, meta analysis ที่ผมเคยทำลิงค์มาให้ ทุกอันก็สรุปเหมือนกันว่า มีหลักฐานว่าช่วยเพิ่มความสำเร็จ
5. แต่ว่า เพิ่มความสำเร็จนั้น ทุกๆวารสารก็ได้เขียนตรงกันว่า จากหลักฐานที่มี ที่คิดว่าเอาที่น่าเชื่อที่สุดมาทำการวิเคราะห์ หลักฐานเหล่านั้นก็ยังถือเป็น “low” และ “very low” ในแง่ความน่าเชื่อถือ เพราะระเบียบวิธีวิจัยที่มีตัวแปรปรวนมาก ข้อกำหนดในงานวิจัยที่ยังหลากหลายไม่ตรงกัน กลุ่มประชากรยังขนาดน้อยเกินไป และมีความแปรปวนข้อมูลมากเหลือเกิน ก่อนจะสรุปโดยรวมว่าช่วยการเลิกบุหรี่ได้นั้น มีทั้งข้อมูลที่บอกว่าช่วย มีข้อมูลที่ไม่ช่วย และข้อมูลว่าทำให้เลิกไม่ได้ก็มีนะครับ ไม่ใช่ว่าเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด
6. ในเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ แต่ทำไมสรุปผลออกมากลับบอกว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็เพราะเหตุผลดังข้อ 5 และเมื่อมาพิจารณาผลการศึกษาก็พบว่า ที่บอกว่าเลิกได้นั้น เลิกได้จริงเมื่อวัดที่เวลาตั้งแต่ 7 วันจนถึง 1 เดือนบ้าง สามเดือนบ้าง และที่สำคัญที่ว่าลดได้นั้น อัตราการลดได้มันน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็นทั้งกลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ ทำให้ความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาที่ว่าลดบุหรี่ได้นั้น มันจึงลดลงมาก (เทียบได้กับ underpower) ด้วยข้อมูลต่างๆจึงยังไม่เพียงพอที่จะรับรองให้เป็นอุปกรณ์การช่วยเลิกบุหรี่
7. การศึกษาที่เปรียบเทียบกับอุปกรณ์เลิกบุหรี่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นแปะ หมากฝรั่ง (เทียบกับกลุ่มทดแทนนิโคตินครับ ห้ามไปเทียบกับยาเลิกบุหรี่เพราะคนละกลุ่มกัน) ก็มีน้อยมากๆๆ เรียกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้..การศึกษาชื่อ ASCEND ทำในนิวซีแลนด์ เทียบบุหรี่ไฟฟ้ากับแผ่นแปะนิโคติน เทียบกันว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ต่างกันไหม สรุป ไม่ต่างกัน ส่วนใหญ่การศึกษาของบุหรี่ไฟฟ้าจะเทียบกับยาหลอก คือ บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน หรือ ไม่เทียบกับอะไรเลย
8. จำนวนบุหรี่ที่สูบ ปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ปริมาณนิโคตินในเลือด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่วัดได้ การควบคุมการสูบ อายุ เพศ โรคร่วมต่างๆ ความตั้งใจจะเลิกหรือไม่ได้ตั้งใจจะเลิก ไม่ได้ส่งผลต่อความสำเร็จในข้อ 4 คือ ไม่มีผลต่อความสำเร็จในการเลิกบุหรี่..ใช้ได้หมด สำเร็จได้พอๆกัน
9. ถ้าถามว่า จะใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาแทนบุหรี่จริง ในการเลิกบุหรี่ ทำได้ไหม..คำตอบคือ ไม่รู้เพราะไม่มีข้อมูล สิ่งที่ทำคือใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาช่วยลดอาการลงแดงบุหรี่ หรือตัดยอดบุหรี่มวนให้ลดลง และอย่าลืมข้อสรุปในบทนำที่ว่า ผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่ากลีเซอรีนหรือโลหะหนักต่างๆ หรือผลเสียโดยรวม เรายังไม่ทราบจริงๆว่ามันจะส่งผลไปทางใด ต้องรอผลการศึกษา..ปล..มีอีก 15 การศึกษาที่ยังทำอยู่ ยังไม่เสร็จ ครั้งหน้าอาจมีข้อมูลมากกว่านี้
10. สรุปว่า จากข้อมูลตอนนี้ บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้การเลิกบุหรี่สำเร็จมากขึ้น แต่ด้วยข้อมูลที่น้อยและไม่สมบูรณ์จึงต้องรอการศึกษาและผลการวิจัยมากกว่านี้ครับ ยังไม่สามารถนำมาเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เลิกบุหรี่ได้ ณ เวลานี้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น