15 มกราคม 2560

ทำคลอดครั้งแรก

ความทรงจำ..เมื่อครั้งให้กำเนิดชีวิต สมัยเรียนแพทย์

   หนึ่งในความตื่นเต้นที่สุดในชีวิตการเป็นนักเรียนแพทย์ คือ การทำคลอดครับ เวลาเราเริ่มเข้าสู่วิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ตอนที่เรียน เรามักจะรู้สึกกระวนกระวายใจเพราะเป็นเรื่องของการให้กำเนิดชีวิตในช่วงเวลาสั้น ที่ต้องเตรียมพร้อม ทั้งตัวและใจ ผมขอเล่าเรื่องราวสมัยที่ผมยังเรียนนะครับ
   อีกอย่างนะครับ ที่ประทับใจมากคือ ผมได้เรียนการทำคลอดในตึกที่ผมเกิดขึ้นมาด้วย

ตอนที่เราเริ่มขึ้นชั้นปีที่สี่ วิขาที่เราให้ความสนใจจะเป็นวิชานรีเวชวิทยา เรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและสุขภาพของสตรีและระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทั้งหมด ส่วนเมื่อเราขึ้นชั้นปีที่ 5 วิชาที่เน้นคือวิชาสูติศาสตร์ เรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ นั่นคือ เรื่องราวเชิงวิชาการ ตำรา วิดีโอ หุ่นจำลองการคลอด เราจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด การเข้าช่วยการผ่าตัดคลอดและฝึกทำ
   เมื่อเราจะต้องเดินทางไปสู่การทำคลอด เมื่อเราได้เรียนเชิงทฤษฎีแล้ว เราต้องไปเฝ้าก่อนคลอดครับ คือตั้งแม่คุณแม่ท้องแก่เข้ามานอนรอคลอด ก็จะต้องมีการตรวจ การประเมินช่องคลอด ท่าทางเด็ก ความพร้อมการคลอด ที่เป็นการปฏิบัติงานจริงภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์และแพทย์ประจำบ้านรุ่นพี่  และต้องติดตามการบีบตัวของมดลูก
ไปนั่งข้างเตียง สังเกตสัญญาณชีพ อาการของแม่ ใช้มือแตะที่ยอดมดลูก รอเวลาที่มดลูกบีบตัว ความถี่ความแรง ฟังและนับอัตราการเต้นหัวใจเด็ก และอาจต้องติดอุปกรณ์ติดตามการบีบตัว ตั้งแต่เจ็บห่างๆ จนกลายเป็นเจ็บถี่ๆแรงมากขึ้นจนใกล้คลอด
   ต้องไปเฝ้าครับ เก็บชั่วโมงบินให้ครบก่อนเข้าสู่ขั้นต่อไป ก็อดหลับอดนอน ถูกตามแบบไม่คาดคิดได้ เพราะคนจะคลอดย่อมไม่มาเป็นเวบาราชการอยู่แล้ว ใครเก็บครบก็ช่วยตามเพื่อนๆมาเรียนมาเก็บให้ครบ

    เมื่อคนไข้ที่เราเฝ้ามาตลอดเข้าห้องคลอด แน่ละครับ ยังไม่ได้ทำเอง ต้องเข้าไปสังเกตการณ์ก่อน พี่ๆพยาบาลห้องคลอดที่เก่งกาจ พี่ๆแพทย์ประจำบ้าน เราก็เข้าไปดู เข้าไปเป็นผู้ช่วย ก็จะถูก."สอบ" เป็นระยะๆ ถูกถาม ถูกไล่ต้อน แต่คือสิ่งที่ดีนะครับ เราจะได้รู้ว่า เรารู้หรือไม่รู้อะไร และก่อนที่เราจะทำคลอดเอง สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ การดูแลหลังคลอดครับ ต้องฝึกการดูแลแผลตัดฝีเย็บ การเย็บแผล การตรวจหลังจากคลอดเสร็จ ทำภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์รุ่นพี่ครับ และวันรุ่งขึ้นๆ ก็ต้องไปติดตามดูแลคนไข้ที่เราเย็บซ่อมฝรเย็บด้วยนะ ว่าปลอดภัยหรือมีผลแทรกซ้อนใดบ้างไหม
   ต้องเป็นผู้ช่วย และฝึกเย็บแผลฝีเย็บห้ารายครับ ก่อนที่เราจะได้รับอนุญาตให้ทำคลอดด้วยตัวเอง

   เมื่อเราฝึกการดูแลก่อนและหลังการคลอดแล้ว ก็ถึง..วินาทีสำคัญ .. ทำคลอดเอง เช่นเคยครับก็ต้องไปอยู่เวร เกิดเวรที่เราอยู่ไม่มีใครมาคลอดเลย เราก็ต้องฝากเพื่อนที่อยู่เวรว่าถ้ามี ช่วยตามด้วยนะ..สมัยนั้นใช้..เพจเจอร์ครับ มีใครทันไหม ก็เช่นกันครับ ไปไหนไม่ได้ รอเคสเช่นกัน
   พอมีคนท้องแก่มาแล้ว เข้าสู่ระยะคลอดแล้ว ก็ต้องไปตรวจสอบผู้ป่วยตรวจเองด้วย (เพราะบางครั้งเราอาจต้องทำคลอดรายที่เพื่อนคนอื่นเฝ้าครับ ไม่งั้นเก็บไม่ครบ) และไปรายงานตัวกับอาจารย์หรือพี่แพทย์ประจำบ้านอาวุโสที่อยู่เวร...พี่ครับ..ผมพร้อมแล้ว..ขอบินเดี่ยวทำคลอดครับ...พี่ก็จะดูโหงวเฮ้ง ..เอ๊ย..จะสอบถามเราคร่าวๆ ซึ่งจริงๆก็เห็นหน้าค่าตากันจากตอนเฝ้าคลอดอยู่แล้ว

   และพี่หรืออาจารย์ ก็จะไปพร้อมเรา เราต้องทำเองทุกอย่างครับ เสมือนเราเป็นสูตินรีแพทย์มือหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มจนจบ โดยมีรุ่นพี่ อาจารย์คอยดูแลอยู่ข้างหลัง และเพื่อนๆที่อยู่เวรวันนั้น มาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เราช่วยกัน ให้กำลังใจกันครับ เริ่มตั้งแต่ปูผ้าสะอาด จัดท่า เตรียมการตัดฝีเย็บ พอเด็กเริ่มเคลื่อนที่ลง คนทำจะตื่นเต้นมากๆ เด็กมาแล้วๆ บางคนมือสั่นก็มีนะครับ ฉีดยาชา ตัดฝีเย็บ ควบคุมการคลอดศีรษะ เสียงร้องเชียร์เบ่งจากเพื่อนๆจะมาช่วยตลอด ฮืบ ฮืบ..เอาละเด็กออกมาแล้วก็ต้องดูแลและช่วยเหลือเด็กให้รอดด้วย หลังจากนั้น อีกทีมจะมาช่วยเราดูแลเด็ก
   ยังครับ ยังไม่จบ ต้องกลับมาทำคลอดรก กลับมาตรวจความเรียบร้อยและเย็บแผล ซึ่งรุ่นพี่และอาจารย์ก็ยังคงอยู่ครับ เพราะเรายังไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องปฏิบัติภายใต้การดูแลของอาจารย์ แต่สาเหตุที่มากกว่านั้น คืออาจารย์ก็จะคอยให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากครับ คำแนะนำของจริงภายใต้สถานการณ์จริง และพร้อมจะช่วยเหลือถ้าเราเกิดปัญหา  หลังจากคลอดเสร็จก็ต้องเขียนรายงานการคลอด และสรุปให้อาจารย์หรือรุ่นพี่ฟังด้วย จึงจะถือว่าสมบูรณ์ครบถ้วน..ผ่าน..ครั้งแรก

เราก็จะต้องเก็บประสบการณ์การทำคลอดอย่างน้อยสามราย ก่อนจะสอบลงกอง ว่าผ่านการปฏิบัติงานหรือไม่ จึงเป็นช่วงที่วุ่นวาย รัดตัว ตื่นเต้น  มันเป็นความรู้สึกที่ยอดมากที่เราได้เป็นคนแรกที่ได้ต้อนรับชีวิตน้อยๆที่เกิดมาบนโลกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น