08 ธันวาคม 2559

holiday heart syndrome

การดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีโทษทั้งทางกาย ทางใจ ทางเงิน ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบทความเรื่องเมาวันเสาร์หลับข้ามคืน ตื่นมายกมือไม่ขึ้นที่เรียกว่า saturday night palsy มาแล้ว วันนี้เรามารู้จัก อีกหนึ่งภาวะที่เกี่ยวกับเหล้า คือ holiday heart syndrome
   ก่อนหน้าปี 1970 เราทราบกันดีว่าการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องกันนานๆ นอกจากตับแข็งแล้วยังเป็นสาเหตุของโรคหัวใจบีบตัวผิดปกติ ที่เรียกว่า alcoholic cardiomyopathy ด้วย จนกระทั่งในปี 1978  คุณหมอ Philip Ettinger ได้พบหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในคนที่แข็งแรงดีแต่ดื่มแอลกอฮอล์ และได้ตั้งชื่อ ภาวะนี้ว่า holiday heart syndrome เพราะว่า ตอนที่พบโรคนี้ บันทึกไว้เป็นกรณีหลายๆคนนั้น พบในคนปกติธรรมดาแข็งแรงๆ ที่ดื่มเหล้ามากในช่วงวันหยุดยาว ภาษาทางการแพทย์เรียก binge drinker แต่เวลาที่คุณตอบหมอคุณจะตอบว่า...เอ่อ..ก็ดื่มสังสรรค์..เวลาเจอเพื่อนๆน่ะครับ หรือ ดื่มบ้างเวลามีงานน่ะค่ะ  แต่เจอเพื่อนทุกวันและมีงานวันเว้นวัน !
   พบว่าหัวใจที่เต้นผิดจังหวะนั้นส่วนใหญ่เป็นการเต้นพริ้วของหัวใจห้องบนที่เรียกว่า atrial fibrillation ส่วนการเต้นผิดจังหวะแบบอื่นก็พบนะครับ แต่ไม่มากเท่า AF และผู้ป่วยบางส่วนก็เสียชีวิต จากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงคนไข้กลุ่มนี้ก็จะไม่ทราบว่าเป็นอะไร ผิดจังหวะแบบใดกันแน่
    เมื่อให้หยุดเหล้าจนอาการดีขึ้นหรือได้รับการรักษาการถอนเหล้าแล้วก็จะพบว่า holiday heart syndrome หัวใจเต้นผิดจังหวะต่างๆก็หายไปได้เอง เมื่อทิ้งระยะเว้นดื่มเหล้าก็หยุดไป และเมื่อกลับมาดื่มใหม่ ก็มักจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะกลับมาอีก
   ภาวะนี้ยังไม่พบชัดเจนว่าสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ไหม มีโรคร่วมหรือภาวะอย่างอื่นๆไหม เพราะไม่ว่าคนมีโรคหรือไม่มีโรค คนดื่มแบบ binge หรือดื่มแบบติดทุกวัน ก็มีโอกาสเกิดพอๆกัน แต่หลายๆการศึกษาก็พบว่า มักจะเกิดกับคนที่ดื่มเกิน 36 กรัม (ของแอลกอฮอล์) หรือประมาณ 3 ดื่มครึ่ง คือเบียร์ประมาณ 850 ซีซี หรือวิสกี้ หรือเหล้าขาวแค่ 100 ซีซี เท่านั้น (มาตรฐาน ชายไม่เกิน 2 ต่อวัน หญิงไม่เกิน 1 ต่อวัน)
   เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทควบคุมการเต้นของหัวใจที่ไม่เท่ากัน ทำให้เต้นผิดจังหวะ ยิ่งคนที่ดื่มมากๆ หรือติดเหล้า ก็จะมีเกลือแร่ในเลือดผิดปกติอยู่แล้วก็จะเพิ่มโอกาสการเกิด holiday heart syndrome มากขึ้นด้วย
    การรักษาก็เหมือนกับการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะจากสาเหตุใดๆ ส่วนเรื่องหังใจเต้นผิดจังหวะ AF แบบที่เกิดจากแอลกอฮอล์นี้จะเพิ่มโอกาสการเกิดอัมพาตหรือไม่ เท่าที่ผมค้นก็พบว่ายังไม่สัมพันธ์โดยตรง ไม่มีเหตุผลที่ชัดๆว่า AF แบบนี้จะเกิดโรคอัมพาตเพิ่ม (แต่ โดยรวมทั้งหมด AF เพิ่มโอกาสอัมพาตมากกว่าคนปกติ 5 เท่า) ผมคิดว่าเพราะส่วนมากเมื่อพ้นวันหยุด สร่างเมาแล้วก็หายจึงไม่ได้ติดตามระยะยาวมากกว่า
  ที่ต้องย้ำคือ ใครเป็นโรคนี้แล้วก็ควรหยุดเหล้า เพราะถ้าไปดื่มอีกก็มีโอกาสเกิดซ้ำอีก คราวหน้าอาจไม่โชคดีเหมือนครั้งนี้ก็ได้ อาจหัวใจวาย อัมพาต หรือเสียชีวิตกระทันหันก็ได้
  นอกจากนี้ถ้าติดเหล้าแล้วเวลาหยุดเหล้าทันที  ที่เรียกว่าลงแดง ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน เห็นไหมครับ แอลกอฮอล์มีดีแค่ใช้ล้างแผลเท่านั้น
ลิงค์ด้านล่างคือ บทความเรื่อง saturday night palsy
http://medicine4layman.blogspot.com/2015/12/blog-post_8.html
หยุดยาวนี้ อย่าลืมบทความของผมนะครับ
ที่มา : Arq Bras Cardiol.2013 Aug ;101(2)
        : heath.harvard.edu

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น