14 ตุลาคม 2559

ความเข้าใจเรื่อง แมกนีเซียม ..การตรวจแมกนีเซียม

ความเข้าใจเรื่อง แมกนีเซียม ..การตรวจแมกนีเซียม

   มีแฟนเพจที่เป็นคุณหมอท่านหนึ่ง สังเกตเห็นว่า ปัจจุบันมีการตรวจระดับแมกนีเซียมกันอย่างมากมาย อยากทราบความจริงของแมกนีเซียม ผมก็เห็นว่ามีความสำคัญนะครับ อย่างทีเป็นชุดการตรวจที่มีแมกนีเซียมอยู่ด้วย ทำให้เกิดการไขว้เขวและเสียเงินค่าตรวจมากขึ้น
  แมกนีเซียม เป็นธาตุโลหะกลุ่มเดียวกับแคลเซียม ทำงานพร้อมกัน ใกล้เคียงกัน แม้ว่าร่างกายต้องการปริมาณน้อยแต่ก็จำเป็น แมกนีเซียมนั้นร่างกายใช้มากในการสังเคราะห์พลังงาน การใช้พลังงาน การสร้างสารพันธุกรรม การทำงานของหัวใจและการสื่อประสาท ทั่วไปแล้วร่างกายต้องการแมกนีเซียมวันละประมาณ 250-350 มิลลิกรัม นับว่าเป็นปริมาณไม่มาก โอกาสจะขาดแมกนีเซียมจากการกินอาหารไม่พอนั้นน้อยมากทีเดียว อาหารที่มีแมกนีเซียมมาก คือ ผักใบเขียว ที่เขียนมาชัดๆคือ บร็อคโคลี่ และ ผักโขม  เมื่อกินเข้าไปและดูดซึมเข้าร่างกาย ส่วนมากแมกนีเซียมจะไปเก็บที่กระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ จะออกมาอยู่นอกเซลแค่ 1% และอยู่ในเลือดแค่ 0.3% เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะขับออกทางอุจจาระและท่อไต ถ้าระบบต่างๆทำงานดี แมกนีเซียมก็จะสมดุล

   แต่ว่าแน่นอน ก็มีโอกาสเกิดความผิดปกติทั้งขาดหรือเกินได้ สาเหตุและการรักษาเดี๋ยวจะกล่าวถึงนะครับ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขาดหรือเกิน เราวัดอย่างไร  อย่างที่กล่าวไปตอนต้นครับ แมกนีเซียมอยู่ในเลือดแค่ 0.3-1.0 %  การตรวจวัดระดับแมกนีเซียมในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเร็ว สามารถทำได้เกือบทุกที่ การตรวจนี้อาจไม่ได้บ่งบอกถึงระดับแมกนีเซียม "ในตัว" อย่างแท้จริง  เพียงแต่มันเป็นวิธีที่ง่ายเท่านั้น บางทีผู้ป่วยไม่ได้มีปัญหา ไม่มีอาการ แต่ว่าไปตรวจพบว่าระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ก็ไปแก้ไขและตามมาด้วยผลเสียของการแก้ไขโดยไม่จำเป็น
   การวัดที่แม่นยำกว่าจะเป็นการให้แมกนีเซียมทางเลือด แล้วดูว่าแมกนีเซียมยังถูกขับออกมาอีกไหม ถ้ายังถูกขับออกมาแสดงว่า ในตัวมีแมกนีเซียมเพียงพอ แต่วิธีนี้ทำยาก ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย วิธีอื่นๆก็ยาก อาทิเช่น การเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อมาวัดระดับแมกนีเซียมในเลือดเทียบกับในปัสสาวะ หรือการตรวจด้วยสารกัมมันตภาพรังสี
   ก็สรุปว่า การตรวจที่ง่ายที่สุดคือการวัดระดับแมกนีเซียมในเลือด ซึ่งไม่แม่นยำมากนัก และมีความแปรปรวนในแต่ละคนแต่ละแล็บ ดังนั้น การใช้เพื่อการวินิจฉัยและการติดตามผล ต้องระลึกข้อนี้ไว้เสมอ

   การวินิจฉัยและรักษา จึงออกมาในรูปแบบที่ว่าต้องมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดแมกนีเซียมในเลือดต่ำ เช่น ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ ดื่มเหล้า ได้รับยาเคมีบำบัด หรือเสี่ยงที่จะเกิดแมกนีเซียมสูง เช่น กินมากหรือใช้ยาที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมมาก ไตวาย   นำมาคิดร่วมกับอาการที่เกิดจากแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอันนี้ยาก ไม่ค่อยมีอาการครับ และอาการมักจะไปคล้ายกับ แคลเซียมในเลือดผิดปกติ
  ถ้าต่ำ ก็จะ เกร็ง ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ  แต่ถ้าสูง ก็จะซึม หายใจช้าลง ลำไส้ไม่ทำงาน ความไวกล้ามเนื้อลดลง (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราใช้สังเกตเวลาเราให้สารแมกนีเซียมเพื่อการรักษาคนไข้ ว่าที่ให้ไป เกินหรือไม่)
  เมื่อมีอาการ ความเสี่ยง และ อาการแสดงที่ตรวจพบ สามารถให้การรักษาได้ก่อนที่ผลระดับแมกนีเซียมในเลือดจะรายงานผลออกมาด้วยซ้ำ ดังนั้น ระดับแมกนีเซียมในเลือด จึงใช้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นในการวินิจฉัยและการติดตามผล ดังนั้นความรู้ความเข้าในเรื่อง แมกนีเซียมจึงมีความสำคัญ เพราะการตรวจที่ง่ายๆกลับไม่ค่อยส่งผลต่อ การขาด หรือ ไม่ขาด ที่แท้จริงได้ครับ  ผมแนบอ้างอิงมาให้ตอนท้ายนะครับ

  เอาล่ะ ในเมื่อการตรวจระดับแมกนีเซียมในเลือดเป็นการตรวจที่เรามีอยู่และง่าย ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าแมกนีเซียมในเลือดต่ำ อาการไม่รุนแรงมากจะให้เกลือแร่แมกนีเซียมเสริมทางการกินครับ ถ้าต่ำมากและมีอาการรุนแรงเช่นชัก เกร็ง หัวใจเต้นผิดจังหวะก็จะให้แมกนีเซียมทางหลอดเลือด ตรงนี้ต้องระวังแมกนีเซียมเกินครับ ในช่วงที่มีการใช้แมกนีเซียมทางหลอดเลือดต้องมีการตรวจการทำงานของไต การหายใจ การตอบสนองกล้ามเนื้อ และวัดระดับแมกนีเซียมติดตามผลอยู่เสมอๆ  การใช้แมกนีเซียมทางหลอดเลือดอีกหนึ่งภาวะที่ต้องใช้การระมัดระวังแบบนี้คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ แล้วต้องให้แมกนีเซียมเพื่อกันชักครับ
  ถ้าแมกนีเซียมสูง ส่วนมากเกิดจากสองภาวะคือ ไตวาย หรือ การใช้ยาที่มีแมกนีเซียมอยู่ด้วยมากเกินไป  จะให้หยุดสาเหตุนั้น แล้วค่อยๆติดตามผลระดับแมกนีเซียมในเลือดครับ ให้ยาถ่าย (ที่ไม่ใช่แมกนีเซียม) เพื่อเพิ่มการขับออกทางลำไส้ ให้สารน้ำมากขึ้น เพื่อเพิ่มการขับออกทางปัสสาวะ หรือในรายไตวายคงต้องฟอกเลือดเอา แมกนีเซียมออกไป   แต่ถ้ามีอาการซึมมาก หายใจไม่ไหวที่ต้องสงสัยจากแมกนีเซียมเกิน จะมียาที่ใช้ต้านพิษแมกนีเซียมเกิน ที่ได้ผลชะงัดทันตาเห็นมากๆ คือ ให้แคลเซียมขนาดสูงทางหลอดเลือดครับ
   รายละเอียดการรักษา ผมไม่ลงลึกมาก ใครสนใจไปอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

...ตั้งในทำงาน..ตั้งใจทำดี..ต่อไป..

http://synapse.koreamed.org/DOIx.php?id=10.5049/EBP.2008.6.2.86 : Magnesium Metabolism  Jang Won Seo, M.D.corresponding author and Tae Jin Park, M.D.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1855626/  : Clin Biochem Rev. 2003 May; 24(2): 47–66

http://ckj.oxfordjournals.org/content/5/Suppl_1/i3.full  :  Clin Kidney J (2012) 5 (Suppl 1): i3-i14.

pitfalls in management of common divalent ion disorder โดย อ.สาธิต คูระทอง ใน nephrology board review 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น