SPRINT trials และข้อคิดที่ได้ จาก การศึกษา..ระดับ..โลก
ผมเองเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ SPRINT trials หลายครั้ง คือ เราทราบดีว่า ความดันโลหิตสูงเป็นความเสี่ยงสำคัญของโรคทางหลอดเลือด การลดความดันก็ลดการเกิดโรคหลอดเลือดลง คำถามคือ จะลดลงต่ำแค่ไหน การศึกษาชื่อ SPRINT ได้ทำขึ้นเพื่อดูว่าในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวานนั้น ถ้าเราลดความดันลงไปอีกกว่ามาตรฐานคือ 140/90 ไปจนได้ประมาณ 120-130 จะดีไหม
ตอนที่การศึกษาออกมาใหม่ๆนั้น เรียกว่าฮือฮาพอควรเนื่องจากพบว่า ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ จนคิดว่านี่คือ เป้าใหม่ของเราเลย อาจต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา..จริงหรือ ????
แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงประเด็นต่างๆมากมาย ที่hot คือ เรื่องการวัดความดันที่ใช้เครื่องอัตโนมัติ แค่แบบมีคนเฝ้ากับวัดเอง ตัวเลขก็ต่างกัน ...เรื่องการเกิดวูบหรือความดันโลหิตต่ำที่เกิดมากในกลุ่มที่ลดความดันลงมากๆ แต่ว่าไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง...เรื่องวิธีการควบคุม ที่กลุ่มคนที่ควบคุมอยู่ดีแล้ว เมื่อมาเข้าร่วมการศึกษาและจับฉลากได้กลุ่มควบคุม ต้องลดยาที่ควบคุมลง เพื่อให้ได้เป้าความดันตามการศึกษาซึ่งอาจจะสูงกว่าที่เคยคุมได้
การรีบปิดการศึกษาและประกาศออกมาก่อน peer review อาจจะด้วยเหตุผลเชิงกฎหมายและการเมือง ทำให้เหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งคนที่ทำการศึกษา ทำให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการศึกษานี้ ตามมาภายหลัง
ในประเทศไทย...การดีเบตระหว่าง อ.ระพีพล เลขาฯสมาคมโรคหัวใจ กับ อ.ปิยะมิตร คณบดีแพทย์รามา ยังเป็นที่กล่าวขวัญมาถึงทุกวันนี้
เมื่อได้ฟังจาก ESC live ก็ยังถกเถียงกันอยู่ แต่มีประเด็นที่อยากส่งถึงแฟนๆสองอย่าง
อย่างแรก....ในบรรดาการศึกษาใหม่ๆ ที่ออกมาบอกว่าผลการรักษาดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ น่าตื่นตาตกใจกับผลที่เกิดขึ้น อย่าลืมมองว่า ถ้าพูดเรื่องผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนจะพูดเรื่องประโยชน์ คนจะยัง impress ต่อการศึกษานั่นอยู่ไหม
คนเราฟังประโยชน์ก่อน ชอบด้านบวกมากกว่า ต้องหัดและฝึก ฟังผลเสีย ฟังด้านลบ และลองคิดดูว่า ถ้าเราพูดด้านลบออกมาก่อน สิ่งที่จะตามมามันจะยังเหมือนเดิมไหม
ต่อไป การฟังเรื่องใด คงต้องฟังทั้งสองด้าน หรือ มากกว่าสองด้าน โดยเฉพาะ การศึกษาทางการแพทย์ครับ
อย่างที่สอง..การศึกษานี้ อาจจะแค่พิสูจน์แนวคิดเท่านั้น อย่างที่ อ.ระพีพล เคยนำเสนอ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแนวทางทางเวชปฏิบัติ เพราะถ้านำผลการศึกษานี้มาใช้ตรงๆอาจจะมีผลเสียเพราะการวัดความดันต่างกัน และผลของการวูบ ความดันโลหิตต่ำคงจะเกิดมากขึ้น พอๆกับประโยชน์ที่จะเกิด
เพราะแนวทางทางเวชปฏิบัติไม่ใช่กฎหมาย ที่ออกมาแล้วบังคับให้ทุกคนทำตาม แต่แนวทางในเวชปฎิบัติออกมาให้คนส่วนใหญ่ได้ใช้ เป็นแนวทาง ดังนั้น ข้อปฏิบัติใดๆ ที่อาจใช้ได้แค่บางกลุ่ม และอาจอันตรายในอีกบางกลุ่ม อาจจะไม่สามารถบรรจุ หรือ เปลี่ยนแปลงแนวทางทางเวชปฏิบัติได้
การเลือกใช้ แนวทาง จึงแค่เป็นแนวทาง ว่า ศึกษามาแล้วในคนส่วนมากว่าทำได้และเกิดประโยชน์ เมื่อเอามาใช้ อาจจะต้องปรุงแต่งให้เข้ากับแต่ละคนเสมอครับ จะใช้แบบตรงๆทื่อๆ ไม่ได้ ต้องใช้เหตุผลประกอบเสมอ
เหมือนประโยคที่ว่า คนส่วนมากใส่ผ้าฝ้าย มีแค่บางคนที่ใส่ไม่ได้ แต่ถ้าจะเลือกมาใส่กับใคร จะเอามาห่อมาห่มทันทีคงไม่เหมาะ ต้องวัดและตัดให้เข้ากับคนนั้น จึงจะสมบูรณ์ครับ
ข้อคิดที่ได้จาก..ESC live..SPRINT debate
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น