01 มกราคม 2559

เรื่องราวของ Hippocrates ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์ยุคปัจจุบัน ตอนที่ 2

     เอาละ...ทำไมถึงว่าคุณฮิบโปจึงกลายเป็นบิดาแห่งการแพทย์ยุคใหม่ไปได้   คืออย่างนี้นะครับสมัยก่อนนี้มนุษย์ ซึ่งผมตีความว่าเฉพาะชาวกรีกนะ เชื่อกันว่าโรคภัย การเกิด การป่วย การตาย เกิดจากการลงโทษของพระเจ้า การทำบาปและอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ  ที่ผมบอกว่าเฉพาะชาวกรีกเพราะบันทึกต่างๆมีหลักฐานแค่ชาวกรีกเท่านั้น แต่จริงๆแล้วมนุษย์ผู้อื่นในโลกก็มีที่ไม่ได้คิดแบบชาวกรีกครับ เช่นชาวจีนนั้นมีการใช้สมุนไพรมากว่า 3000 ปีแล้ว หรือกระทั่งการคิดหาเหตุผลแบบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีมาก่อนหน้านั้นครับเพียงแต่บันทึกไม่ชัดเจนเท่า เปรียบสมัยนี้ก็ Hippocratic Corpus เป็นหลักฐาน class I level A ประมาณนี้    
     แต่ว่าคุณฮิบโปแกคิดต่างครับ แนวคิดของเขาคือ โรคภัย การเกิด การป่วยและการตายนั้น เกิดจากความไม่สมดุลกันองปัจจัยสิ่งแวดล้อม อาหาร อนามัย และพฤติกรรมการอยู่อาศัย ทั้งหมดรวมๆกันทำให้เกิดโรค  พอมีแนวคิดแบบนี้เขาก็ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ครับเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของเขา โดยการสังเกต บันทึก คิดหาเหตุผลและสรุป หลังจากทำซ้ำหลายๆครั้งจนได้ข้อสรุปก็บันทึกลงในอนุทิน เป็นการหาความรู้แบบการแพทย์ในยุคปัจจุบัน เทียบๆก็เป็น observational study หรือเป็น open-labeled clinical trial ข้อเท็จจริงหลายๆอย่างก็ยังนำมาใช้จนทุกวันนี้เช่น การใส่ท่อระบายหนองจากเยื่อหุ้มปอด การตรวจปอด การดามขาในผู้ป่วยกระดูกหัก การรัดหลอดเลือดริดสีดวงทวารหนัก  และทำอีกหลายๆโรคได้ดีภายใต้ข้อจำกัดความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาที่ยังไม่ก้าวหน้า เนื่องจากการผ่าศพศึกษาและการทดลองในคนยังเป็นสิ่งผิดมากในยุคนั้น

         การเรียนแพทย์ในยุคนั้นและที่คุณฮิบโปได้พัฒนาขึ้นมามีแค่สองวิชาครับ  ย้ำๆๆ สมัย 2000 ปีก่อนเรียนกันแค่สองวิชานะครับ คือ Knidian และ Koan  เริ่มที่ Knidian ก่อนเป็นวิชาว่าด้วยการวินิจฉัยครับ หมอในสมัยนั้นจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรคและอาการ เป็นฟังก์ชั่นหนึ่งต่อหนึ่ง เช่น เลือดออกง่าย คือ ฮีโมฟิเลีย, ก้อนที่คอ คือ ไทรอยด์เป็นพิษ, ไอเป็นเลือดคือ วัณโรค  หลังจากคุณฮิบโปได้พัฒนาหลักสูตรก็เริ่มเข้าใจได้ว่า หนึ่งอาการเป็นได้หลายโรค และหนึ่งโรคก็มีอาการได้หลากหลาย ที่ทางการแพทย์ใช้มากโดยเฉพาะในสาขาวิชาอายุรศาสตร์คือการวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnosis) เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงความคิดดั้งเดิมกว่าจะสำเร็จก็ยาวนานมาก  แต่ในบันทึกเรื่องราวของคุณฮิบโปนั้น สิ่งที่เขาพัฒนาอย่างมากจริงๆคือ วิชา Koan คือวิชาว่าด้วยการรักษาซึ่งเป็นการรักษาเชิงรับและรักษาสมดุลของร่างกาย และการพยากรณ์โรค มากกว่าการรักษาเชิงรุกและป้องกันเหมือนในสมัยนี้
   
    ผมยกตัวอย่างง่ายๆเช่นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ในสมัยคุณฮิบโปก็จะ เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เช็ดตัว ให้สมุนไพรบรรเทาปวด นอนหัวสูง พอผ่านระยะวิกฤติก็จะให้คนไข้นอนมากๆ(คือเพราะเขาเดินแล้วเหนื่อย)  ให้ดื่มน้ำน้อยๆ(เพราะกินมากแล้วเหนื่อย)  ถ้าผู้ป่วยรอดและอยู่ได้ก็สำเร็จ แต่ถ้าเสียชีวิต ทางการแพทย์ยุคนั้นเรียก crisis คือการเจ็บป่วยที่เกิดนั้น รุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายจะเยียวยาได้เลยจุดที่จะรักษาได้มาตั้งแต่ต้น ก็จะเข้าสู่การดูแลระยะท้ายของชีวิตต่อไป  แต่ในยุคปัจจุบันไม่ว่าอยู่ที่จุดใดรุนแรงหรือไม่รุนแรง การรักษาจะออกเชิงรุกคือ สวนหัวใจ ฉีดสีใส่บอลลูน วางขดลวด กินยาป้องกันการเกิดซ้ำและลดอาการเหนื่อยอีก 8 ตัว (เอ่ออ...สุดท้ายอัตราตายยังไม่ค่อยเปลี่ยน )
     คุณฮิบโปเขาศรัทธาในการรักษาแบบ Koan นี้มากๆครับ  แต่การรักษาแบบนี้ก็เป็นรากฐานของการรักษาในยุคปัจจุบันนะ วิวัฒนาการทางการแพทย์ในช่วงสองพันปีที่ผ่านมาทำให้มีการแตกแขนงการรักษาที่มากขึ้นและลงลึกมากขึ้น  แต่การรักษา “คน” แบบ Koan ยังคงเป็นจริงมาเสมอตั้งแต่ยุคนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น