30 กันยายน 2558

ลองอ่านบทความทางการแพทย์

ลองอ่านบทความทางการแพทย์

ผมลองเขียนอธิบายบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ทุกสัปดาห์ ท่านที่อ่านเก่งอยู่แล้วก็ถือว่าฟังบทความใหม่ๆนะครับ ท่านที่ยังไม่เคยรู้จักก็จะรู้ว่ามันไม่ยากครับ
ผมสรุปมาจาก บทสรุปย่อ(abstract) ของวารสาร JAMA วารสารที่มีผลมากในทางการแพทย์ของโลก เอ่อ คือ ปีนี้ไม่ได้ต่ออายุสมาชิกน่ะครับ เลยไม่มีฉบับเต็ม รอผู้ใจดีมาออกทุนให้

เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทดลองทางการแพทย์ การวิจัยและทดลองทางการแพทย์ ต้องมีคณะกรรมการจริยธรรม และทำตามข้อกำหนดของการทดลองในคนครับ เกี่ยวกับ การป้องกันการเกิดโรคหัวใจซ้ำในคนที่เคยเป็นโรคแล้ว ทำในโรงพยาบาลใหญ่ๆในออสเตรเลียครับ (ประมาณ โรงพยาบาลศูนย์)
ทางผู้วิจัยเขาสนใจว่าการป้องกันโรคนั้น ต้องอาศัย การติดตามและการกระตุ้นเตือนเป็นประจำจึงจะสำเร็จ จึงได้ทำการทดลองนำคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว 710 คน ---การกำหนดตัวเลขตัวอย่างนี้ เป็นการคำนวณนะครับ ไม่ได้อยากได้เท่าไร ก็กำหนดเอง--- มาแบ่งกลุ่มแบบสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม ( กลุ่มทดลอง 352 คน และ กลุ่มควบคุม 358 คน) กลุ่มควบคุมก็ดูแลกันตามปกติ ให้คำแนะนำ กินยา นัดติดตาม ส่วนกลุ่มทดลองนั้น เขาใช้การส่งข้อความไปเตือนทางมือถือทุกวัน จำนวน 4 ข้อความต่อสัปดาห์ เป็นเวลาทั้งสิ้น หกเดือน เป็นข้อความที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวตามความเสี่ยงของคนๆนั้น เก็บข้อมูลกันสองปี

สิ่งที่ผู้วิจัยเขาเทียบสองกลุ่มว่าแตกต่างกันไหม คือ ระดับไขมัน LDL, ค่าความดันโลหิต ค่าดัชนีมวลกาย การออกกำลังกาย และ การสูบบุหรี่ โดยเป้าหมายหลัก (primary endpoint) คือ ค่า LDL ก็พบว่า กลุ่มที่ได้รับข้อความจะมีค่าไขมันต่ำกว่า เฉลี่ยที่ 5, ค่าความดันต่ำกว่า เฉลี่ยที่ ลดลง 7.6 ค่าอื่นๆก็ลดลงหมด ที่สำคัญคือได้ใช้การคำนวณทางสถิติแล้วว่า ความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มนั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ ต่างกันจริงนะ ไม่บังเอิญ และ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า การใช้ข้อความนั้น เข้าใจง่าย 97% ไม่เว่อร์ 86% เรียกได้ว่าส่งผลเปลี่ยนแปลงจริงๆในเชิงวิทยาศาสตร์ ถ้าเราจะเอาความจริงที่ได้จากการทดลองนี้ไปใช้ก็จะเรียกได้ว่าเป็น หลักฐานเชิงประจักษ์ครับ

ถามว่ามีผลจริงๆและเอามาใช้ได้ไหม ต้องเอามาวิเคราะห์อีกหลายขั้นตอน และอาจต้องวัดความสำเร็จจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ว่า ค่านั่น ค่านี่ ลดลงจริงๆ แต่ว่า อัตราการป่วยซ้ำ อัตราการตาย ไม่ได้ลดลง อันนี้อาจจะเอามาใช้ได้ยาก หรือ อาจเป็นแค่ปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลัก โหยย..ทำมาตั้งเยอะ..แอดมินบอกว่าอาจใช้ไม่ได้ คนทำมิเสียใจหรือ.. ก็เราว่าตามความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ และความคิดวิเคราะห์ เพื่อไม่ให้เกิดการเชื่อข้อมูลง่ายๆ และ หลงคารมผู้ทำวิจัยที่มีผลประโยชน์แอบแฝงครับ (critical appraisal)

แต่ว่าส่วนตัวก็น่าจะมีประโยชน์นะครับ เพราะคนใช้มือถือ 5พันล้านคนทั้งโลก ถ้าได้ผลจริงๆแต่เปอร์เซนต์เดียวก็ตั้ง 50 ล้านคนแล้วครับ

ยากไหมครับ ไม่ยากนะ ส่วนซับซ้อนมากๆ อยากรู้ก็หลังไมค์ครับ

29 กันยายน 2558

สมองเสื่อม

สมองเสื่อม

ท่านอาจเคยสงสัยว่าตัวเองสมองเสื่อม หรือญาติผู้ใหญ่สมองเสื่อมหรือไม่ เพียงเพราะหลงลืม เพียงเพราะเหนื่อยเพลีย แต่จริงๆแล้วเรามีเกณฑ์คร่าวๆในการคิด ส่วนรายละเอียดเรื่อง การทำข้อสอบดูโรคสมองเสื่อม การทำ MRI ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเขาว่ากันไปครับ ที่อยากมาแนะนำเพื่อจะได้เข้าใจถูกและ ไม่เครียดว่าคนรอบข้างเป็นหรือไม่
ความผิดปกติ 6 แบบนี้ อาจมีทั้งหมดหรือไม่ก็ได้ และอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันนะครับ

1.ความใส่ใจเชิงซ้อน ความสนใจสิ่งรอบตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดสมาธิ หรือ ใส่ใจทำสองสิ่งได้พร้อมๆกัน เช่น อ่านหนังสือพิมพ์จนจบเรื่อง หรือสามารถอ่านหนังสือและต้มมาม่าไปด้วย โดยมาม่าก็อร่อย หนังสือก็รู้เรื่อง (อันนี้นักศึกษาแพทย์ ทำได้ดี)

2.หน้าที่ในการจัดการบริหาร การเรียงลำดับการตัดสินใจ การแก้ปัญหา การยืดหยุ่นในการคิด เช่น เวลาต่อแถวรดกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม แล้วปรากฏว่าลืมกระเป๋าเงินมา ถ้าคนทั่วไป คงออกมาจากแถวให้คนอื่นกดก่อน ตัวเองก็กลับไปหยิบกระเป๋ามากดใหม่ แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ก็จะยืนอยู่ในแถว เงอะเงิ่น ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

3.การเรียนรู้และการจำ อันนี้เป็นการเสื่อมอย่างแรกๆเลยของอัลไซเมอร์ครับ ถามซ้ำคำถามเดิมบ่อยๆ เพราะจำไม่ได้ (อันนี้ต้องแยกจาก หูตึง และ กวน..นะครับ) จำไม่ได้ว่ามาเข้าห้องน้ำนี่ มาทำอะไร จำไม่ได้ว่าเปิดเตาแก๊สทำไม คือ ต้องลืมแบบนี้นะครับ พวกลืมเอาโทรศัพท์มา ลืมหยิบของมา ลืมคืนเงินให้เจ้าหนี้ พวกนี้ไม่ใช่สมองเสื่อมนะครับ
หรือไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ซื้อเครื่องซักผ้าตัวใหม่มา ใช้ยังไงก็ไม่ได้ แต่ถ้าตัวเก่าจะใช้ได้ดี อย่างนี้เป็นต้นครับ
แต่ถ้าชอบสิ่งใหม่ๆ เช่น เมียใหม่ กิ๊กใหม่ อันนี้อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่า อัลไซเมอร์นะครับ

4.การใช้ภาษา การพูดการจา ไม่คล่องแคล่ว คิดนาน ติดขัด บางทีนึกไม่ทัน เช่นเห็นตู้ไปรษณีย์ ก็พูดคำนี้ไม่ออก ก็จะบอกว่า..ไอ้นั่น..ไอ้นั่นน่ะ ซ้ำๆกันอยู่แบบนี้ หรือ พูดรูปประโยคไม่ครบถ้วน ภาษาไม่เหมาะสม ไมมีประธาน กริยา หรือ กรรม
บางคนก็มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง
ส่วนมากจะบกพร่องกับการพูดมากกว่าเขียนครับ

5.การรับรู้ภาพที่เห็น เช่น เห็นนาฬิกา แต่ไม่รู้ว่าใช้ดูเวลา และบอกเวลาไม่ได้ วาดตามสิ่งที่เห็นไม่ได้ การสื่อสารของการมอง..การแปลภาพ..การนำไปใช้บกพร่อง หรืออีกตัวอย่างคือ ไม่เข้าใจป้ายจราจร
ต้องแยกจากปัญหาสายตาด้วยนะครับ

6.การรู้คิดทางสังคม เช่น การพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ หรือ การสนทนาเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ใส่ชุดว่ายน้ำไปเดินพารากอน หรือ เห็นคนทุกข์มากๆแล้วหัวเราะใส่เขา เป็นต้น
ความผิดปกติระดับนี้มักจะพบในระยะปลายๆของโรค เป็นปัญหาของผู้ดูแลมาก และสุดท้ายผู้ป่วยก็จะมีโลกส่วนตัวของตัวเองไป

สุดท้ายแล้วความบกพร่องทั้งหมดต้องทำให้สูญเสียหน้าที่ของตัวเองและสังคมไป จึง ถือว่าเป็นโรคครับ
ที่มา : บทความของ อ. วรพรรณ เสนาณรงค์ ใน อายุรศาสตร์ทันยุค
2557
WHO, demantia 2012
สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย

27 กันยายน 2558

อะไรอยู่ในกระเป๋าอายุรแพทย์

อะไรอยู่ในกระเป๋าอายุรแพทย์

ท่านเคยเห็นเสื้อกาวน์ของอายุรแพทย์ไหมครับ มันตุงๆหนักๆ วิ่งทีก็แกว่งไกวไปมา อาการแบบนี้เป็นตั้งแต่ นักเรียนแพทย์ที่มาผ่านแผนกอายุรศาสตร์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ต่อยอด หรือแม้แต่อาจารย์บางท่าน อันนี้เป็นความทรงจำของผมตั้งแต่จบมา กว่า 15 ปี ใครจะเพิ่มเติมก็เชิญได้ครับ

1. ปากกา อันนี้ของแน่ๆครับ มักพกอยู่กระเป๋าบน มีมากกว่าสองด้าม และส่วนมากจะเป็นของผู้แทนยา ที่..เอามาให้ --เขียนสองหน้า..พังแล้ว--

2. สมุดโน๊ตเล่มเล็ก บางคนเอากระดาษเอสี่ มาพับเอาก็มี ใช้จดงานที่ต้องทำในแต่ละวัน เรื่องที่อาจารย์สั่งให้ทบทวน หรือ วาดรูปแก้เซ็ง ส่วนตัวตอนเรียนนั้น ผมใช้โพสต์อิท ติดด้านในเสื้อกาวน์ครับ

3. คู่มือยาเล่มเล็ก เช่น pocket pharmacopia หรือ sanford guide ขนาดพกพา ความจริงคือพวกเราจำยาได้ไม่หมดหรอกครับ เมื่อไม่มั่นใจ เปิดหาดีกว่ามั่วเอา เดี๋ยวนี้คงใช้ smartphones กันหมด

4. หูฟัง บางคนคล้องคอ บางคนก็ม้วนๆยัดใส่กระเป๋าล่าง มักมีแท็กป้ายชื่อเจ้าของติดไว้ แต่ไปดูเถอะครับ ชื่อเจ้าของกับชื่อในแท็กไม่เคยตรงกัน ..และ..บางคนก็..ยืมชาวบ้านใช้ (อย่างเช่นแอดมินเป็นต้น)

5. ไม้สามเหลี่ยมเคาะเข่า ใช้ได้สารพัดตั้งแต่ เคาะเข่า ขูดเท้า..ขูดเท้านี่ดูการตอบสนองนะครับ จิ้มตรวจการรับสัมผัส ผมเคยเห็นนักเรียนแพทย์เอามาใช้เกาหลังบ่อยๆ เคาะหัวกันเล่น เคยเห็นเอามาใช้ขีดเส้นแทนไม้บรรทัดก็มี

6. แผ่นวัดสายตา หมอรุ่นเก่าๆอย่างผม พกแผ่นตรวจตา ที่เป็นการตรวจระบบประสาท ขนาดประมาณ ไอโฟนหกพลัส พกแล้วอาจารย์จะปลื้มว่า " อืมม.. มันตรวจร่างกายครบถ้วนนะ สายตาก็วัด"

7. Palm หรือ pocket pc ผมบอกแล้วว่าผมเป็นหมอยุคเก่า ตอนนั้นใช้เครื่องลงโปรแกรมอ่านตำรา แทนพกตำราหนาๆได้ สมัยนี้ก็เป็นแอปใน ipad iphone กันหมด (สมัยก่อนลงเถื่อน แครกกระจาย โดยเฉพาะ up to date )

8. คู่มือเล่มเล็ก เช่น Harrison manual, pocket medicine กระเป๋าล่างขวา พอดีเลยครับ ที่ว่าเล่มเล็กนี่คือ หนาประมาณ กูลิโกะป๊อกกี้ ขนาดเท่าขายหัวเราะครับ เอาเข้าจริงคือ พกเหมือนเป็นพระเครื่องนะครับ ไม่เคยใช้แต่อุ่นใจไว้ก่อน

9. อันนี้เป็นของแอดมินเองครับ ไม่ได้เหมือนใคร คือ ช็อกโกแลต เอ็มแอนด์เอ็มครับ ติดกระเป๋าล่างซ้ายเสมอ การตรวจไม่เป็นเวลา กินข้าวบ้างไม่ได้กินบ้าง ไม่มีเวลาออกไปไหน นี่แหละครับ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เลยนะ เคยเอาให้ผู้ป่วยน้ำตาลต่ำกิน ผู้ป่วยงงๆ ถามว่าหมอรู้ได้ไงว่าผมจะน้ำตาลต่ำ ถึงมีให้เลย....ดูเป็นเทพเลยครับ.. จริงๆแล้วคือพกไว้กินเองต่างหาก

สนุกๆขำๆ กับวันอาทิตย์สบายๆ ย้อนอดีตสมัยเป็นแพทย์ประจำบ้านครับ ตอนนี้ไม่พกไรเลย ใช้น้องๆตรวจแทน..



26 กันยายน 2558

ยา brand และยาสามัญ

ยา brand และยาสามัญ

วันเสาร์เบาๆ แบบนี้ ผมมาพักผ่อน อารมณ์ดี ขอพูดเรื่องเบาๆแบบคุยกัน ก็จะพูดเรื่อง ยาต้นฉบับ กับ ยาเทียบเคียง ข้อมูลจาก FDA ของสหรัฐอเมริกา และ EMA ของฝั่งยุโรปครับ
ท่านคงนึกแปลกใจว่า ทำไมผมพูดเรื่องยาต่างๆบ่อยมาก ...ก็เพราะผมเป็นอายุรแพทย์ครับ อาวุธหลัก อาวุธหนัก ในการรักษาผู้ป่วยคือ "ยา" ครับ

ยาต้นฉบับ (brand drug) ก็จะได้รับการพัฒนาจากบริษัทต่างๆ ที่ต้องลงทุน การคิดสูตร การหาขนาดยาที่เหมาะสม การทดลองในสัตว์ การทดลองในคน การศึกษาทางคลินิก การติดตามผลหลังการขายเพื่อดูผลข้างเคียง กระบวนการเหล่านี้ใช้ทรัพยากรมหาศาล เป็นหลายร้อยถึงพันล้านบาท ต่อยาหนึ่งชนิด จึงทำให้ยาราคายาต้นฉบับมันแพงครับ และโดยทั่วไปก็จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ประมาณ 20 ปี

เมื่อยาต้นฉบับหมดอายุลิขสิทธิ์ บริษัทยาอื่นๆ ก็จะมีสิทธิ์เอาสูตรสำคัญของยา (active ingredients) เอาไปผลิตเป็นยาสามัญเทียบเคียง (biological equivalence) โดยทางองค์การอาหารและยาต่างๆ ก็จะกำหนดว่า สารออกฤทธิ์ของยาต้องเหมือนกันเลยนะ ทั้งการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร การกระจายในเลือด การเข้าสู่จุดออกฤทธิ์ การกำจัดยา

รวมถึงส่วนอื่นๆเช่น การบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา ผลข้างเคียง รูปแบบเม็ด รสชาติ สารรักษาความคงตัวของยาอื่นๆ ในย่อหน้านี้ไม่ได้บอกว่าต้องเหมือนกันเป๊ะๆ แต่ก็ต้องไม่ต่างกันจน การใช้ยาไม่ได้ผล
การที่จะบอกว่าเทียบเคียงกับต้นแบบได้นั้น ต้องทำการศึกษาตามแบบที่องค์การอาหารและยากำหนดอย่างเคร่งครัด และเป็นการทดลองในคนด้วย จะเห็นว่า กว่าจะออกมาเป็นยาต้นแบบนั้นยากมากๆ การที่จะออกยาสามัญก็ไม่ใช่ง่ายๆ เช่นกัน

แต่ทำไมราคามันต่างกันมากๆ บางตัวต่างกันเป็นสิบเท่า จนหลายๆท่านคิดว่ายามันถูกมาก จะใช้ได้จริงหรือ ที่มันถูกกว่าเนื่องจากไม่ต้องลงทุนในการคิดค้น พัฒนาและทดลองนั่นเอง ข้อมูลจาก FDA อเมริกาบอกในปี 2011 ว่า ยาสามัญนั้นลดค่าใช้จ่ายลงได้ 158 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี หรือ 3 พันล้านดอลล่าร์ต่อสัปดาห์นะครับ

ไม่อยากให้ท่านกังวลถ้าท่านไม่ได้กินยา "ตัวจริง"

25 กันยายน 2558

ความดันโลหิตสูง silent killer

ความดันโลหิตสูง silent killer

ความดันโลหิตสูง เป็นฆาตกรเงียบตัวจริงเสียงจริงครับ จับตัวยากด้วย เราจะมาทำความเข้าใจการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงอย่างง่ายๆแต่ครบถ้วนกันครับ
ถามอย่างแรกความดันโลหิตสูงมีอาการไหม...คำตอบคือไม่มีครับ .. เป็นโรคทางอายุรศาสตร์ที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติ ต้องอาศัยการวัดค่าความดันโลหิตเท่านั้น บางท่านคิดว่าความดันขึ้นทำให้ปวดหัว ความเป็นจริงคือปวดหัวต่างหากที่ทำให้ความดันขึ้น ดังนั้นเราจึงมักจะพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเวลาเขามาตรวจโรคอื่นหรือตรวจร่างกายครับ และที่สำคัญเวลาที่ท่านมาโรงพยาบาลด้วยสาเหตุใดๆ เช่น ปวดท้อง หกล้ม เป็นหวัด ภาวะตึงเครียดทางกายเหล่านี้ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นถ้าจะวินิจฉัยให้แม่นยำแล้วล่ะก็ ต้องวัดตอนที่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยครับ
ความสำคัญที่สุดของการวินิจฉัย คือ วิธีวัดความดันที่ถูกต้องครับ อย่างแรกที่ต้องเน้นย้ำกันก่อนเลยคือ การวัดความดันในสถานพยาบาลนั้น ความดันโลหิตของท่านจะมีแนวโน้มสูงเนื่องจากความตึงเครียดหลายประการ เช่น หมอหล่อ พยาบาลดุ หาที่จอดรถไม่ได้ คิวรอตรวจยาวมาก เวลาท่านวัดแล้วสูง เขาจึงให้พัก 10-20 นาทีแล้ววัดซ้ำไงครับ ปรากฏการณ์นี่เรียกว่า white coat effect
ทางการแพทย์เราเชื่อความดันที่บ้านมากกว่าครับ ไม่ว่าจะติดเครื่องวัด 24 ชั่วโมง หรือวัดเป็นครั้งๆที่บ้าน แล้วมาดูค่าเฉลี่ย เราเรียก home blood pressure monitoring ปัจจุบันเครื่องดันความดันใช้ง่ายเป็นแบบอัตโนมัติ สอดแขนแล้วกดปุ่ม อ่านค่าได้เลย แต่ก็จะมีทริกเล็กน้อยดังนี้ครับ

1. ควรวัดความดันตอนตื่นนอน ก่อนลุกไปไหน
2. เลือกขนาดแถบวัดให้เหมาะ คือ กว้างอย่างน้อย สองในสาม หรือครึ่งหนึ่ง
ของความยาวต้นแขน
3. รัดให้พอดี ง่ายๆคือรัดแล้ว ยังสอดนิ้วลงไปได้หนึ่งนิ้ว
4. เครื่องจะอยู่ระดับใดก็ได้ แต่แถบรัดต้องอยู่แนวเดียวกับหัวใจ (ตัวอย่างง่ายๆ
ห้ามยกมือก่ายหน้าผากแล้ววัด)
5. ตรวจสอบความแม่นยำกับร้านที่ท่านไปซื้อมาทุกปี

เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปคือค่าเกิน 140/90 เป็นโรคความดันโลหิตสูง บางแนวทางอาจใช้ตัวเลขที่ต่ำกว่านี้ถ้าเป็นค่าที่วัดจากที่บ้าน แต่ช่างมันเถอะครับ ให้พวกแพทย์ประจำบ้านเขาจำไปสอบเท่านั้น เอาค่า140/90 นี่หล่ะครับ เมื่อวินิจฉัยได้แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะมาบอกวันนี้คือ จะต้องดูว่าความดันโลหิตสูงนั่นมีสาเหตุหรือไม่ กว่า 90% ความดันที่ตรวจเจอกันไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนครับ เรียกว่า essential hypertension ก็ใช้การปรับชีวิต และใช้ยาเพื่อลดความดัน ลดความเสี่ยง

ที่ต้องหาคือ ความดันโลหิตสูงอันมีสาเหตุจากโรคอื่น เนื่องจากถ้ารักษาโรคต้นกำเนิดได้ทันเวลา ระดับความดันก็จะเป็นปกติแบบหายขาดครับ โรคพวกนี้มักจะมี "ข้อสังเกต" เช่น อายุน้อยๆ มีอาการผิดปกติของฮอร์โมนเช่น อ้วนเร็วๆ หญิงมีหนวดดก อาการของระบบประสาทอัตโนมัติเช่น เป็นลม หน้าแดงมาก เหงื่อออกจัดๆ หรืออาการทางไตเช่นปัสสาวะมีฟองปน หรือผลเลือดผิดปกติ เช่นค่าโปตัสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น จะต้องหาข้อสังเกตของโรคกลุ่มนี้ทุกครั้ง เมื่อหาแล้วไม่พบ จึงเรียกได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ และเข้าสู่กระบวนการรักษาความดันตามปกติครับ

ก่อนที่จะได้โรคความดันโลหิตสูงมาเป็นโรคประจำตัว...ต้องชัดเจนก่อนครับว่าใช่และถูกต้อง
รักและหวังดี จาก แอดมิน ณ แอนฟิลด์

ที่มา - NICE hypertension guideline 2012
- JNC 8
- thai hypertension guideline 2012

24 กันยายน 2558

น้ำในช่องท้อง

น้ำในช่องท้อง เป็นซีรี่ส์น้ำในร่างกาย อย่างสุดท้ายครับ บางคนเรียก ท้องมาน ผมเองก็ไม่เข้าใจความหมายนี้นัก เหมือนเคยครับเรามาหลับตาจินตนาการกันอีก คราวนี้น้ำในช่องท้องจะเปรียบเหมือนเวลาเราไปซื้อบะหมี่น้ำ แล้วไม่ได้แยกน้ำครับใส่มาในถุงเดียวกัน ซึ่งปกติคนเราเป็นบะหมี่แห้งครับ พอน้ำมากๆก็จะพองออกเป็นบะหมี่น้ำ อวัยวะในช้องท้องคือลำไส้ก็จะลอยไปลอยมาครับ น้ำมากก็พองมาก น้ำน้อยก็แฟบๆแบนๆครับ

น้ำในช่องท้องนั้นมีสาเหตุหลากหลายมากกว่าน้ำในช่องอก หรือในเยื่อหุ้มหัวใจมากนัก ตามตำรามีการแยกหลายอย่าง ตามผลการตรวจทางเคมีที่ตรวจพบ เช่น จากตับแข็ง จากการติดเชื้อในช่องท้อง จากแรงดันเลือดดำจากหัวใจสูง จากโรคไต เนโฟรติก จะบอกสาเหตุได้ ก็เช่นเคยครับต้องเจาะตรวจ ส่วนอาการของน้ำในช่องท้องจะไม่ซับซ้อนนะครับ เพราะน้ำมากท้องก็จะโป่งให้เห็นชัดเจน เคาะได้ระดับน้ำ หรือทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์ก็จะเห็นน้ำชัดเจน

การเจาะตรวจน้ำในช่องท้องนั้นง่าย ไม่ซับซ้อน ผลข้างเคียงแทรกซ้อนน้อยมาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ยกเว้นน้ำน้อยมากหรือถูกขังไว้เฉพาะที่ อาจต้องใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ช่วยนำทาง ส่วนมากเจาะในท่านอนหงาย ระดับประมาณเส้นรอบสะดือ ตัดกับขอบซิกส์แพค เมื่อใส่เข็มเจาะเข้าไปจนได้น้ำก็อาจแค่ดูดไปตรวจ 30 ซีซี หรือต่อสายระบายออกมาให้น้ำออกมาสัก 4-6 ลิตร และถ้าเอาออกมากกว่า 6 ลิตร จะต้องให้สารแอลบูมินทางหลอดเลือด เพื่อปัองกันความดันโลหิตต่ำ ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดูดสุญญากาศเหมือนการเจาะปอดหรือเจาะใจ เพราะแรงดันในท้องสูงกว่าแรงดันอากาศข้างนอก น้ำจะไหลออกมาเอง ลมจะไม่รั่วกลับเข้าไป จึงมีความปลอดภัยสูงครับ

อันตรายที่อาจพบคือ ไปโดนหลอดเลือด หรือไปโดนอวัยวะภายในต่างๆ ทุกๆคนไม่ได้มีอวัยวะภายในตรงกันเป๊ะๆครับ จึงมีโอกาสที่จะเกิดได้ ถึงแม้ว่าตรวจสอบตำแหน่งอย่างดีแล้วก็ตาม
เช่นกันครับ ต้องเข้าใจว่าการเจาะท้องเป็นแค่การลดอาการแน่น และใช้เพื่อเป็นการวินิจฉัย ไม่ได้เป็นการรักษาที่สาเหตุแต่อย่างใดครับ ยิ่งเจาะบ่อยๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อมากขึ้นครับ

ยังย้ำคำเดิมครับ เมื่อจำเป็นต้องทำ ผู้ป่วยก็ต้องได้รับการเจาะ และอาจต้องเผื่อใจถึงโอกาสผิดพลาด หมอเองก็ต้องเจาะและระมัดระวัง ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เมื่อทราบใจเขาใจเรา การรักษาก็จะทรงประสิทธิภาพมากๆ และ โอกาสเข้าใจผิดพลาดก็จะน้อยลงครับ

23 กันยายน 2558

น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ


ต่อกันด้วยซีรี่ส์น้ำครับ คราวนี้คงไม่มีใครสับสนระหว่าง "น้ำใจ" กับ "น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ" เหมือนอย่างบทความที่แล้ว เอาล่ะ --- ก็มาหลับตาจินตนาการกันอีกครับ หัวใจบีบเลือดก็เหมือนลูกยางแดงดูดน้ำมูกเด็ก มีจังหวะดูดลมเข้าเป่าลมออก คล้ายหัวใจดูดเลือดเข้า ปั๊มเลือดออก แต่ถ้าเราบีบไม่ปล่อยก็เหมือนมีน้ำมากดเบียดไม่ปล่อย จะดูดเลือดเข้าก็ไม่ได้จะปั๊มเลือดออกก็ไม่ดี ทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติและเกิดอาการต่างๆ จากเลือดไปเลี้ยงไม่พอครับ

ผู้ป่วยที่มีน้ำมาขังเฉียบพลัน จะเจ็บอกรุนแรง ต้องนั่งโน้มตัวมาข้างหน้าจะดีขึ้น หายใจหอบ เหนื่อยมาก ความดันโลหิตต่ำลง ส่วนมากเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้ม เช่นติดเชื้อไวรัส หรือ เลือดออกในเยื่อหุ้ม เช่นเป็นผลข้างเคียงหลังการสวนสายสวนหัวใจ หรือ อุบัติเหตุ ส่วนพวกที่เป็นเรื้อรังก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย นอนหงายไม่ค่อยได้ จะสะสมน้ำเรื่อยๆ หัวใจพอปรับตัวได้จนน้ำมากจริงๆก็จะหอบครับ สาเหตุที่พบบ่อยๆคือ ติดเชื้อไวรัส วัณโรค มะเร็งแพร่กระจาย ไตวาย การตรวจร่างกายที่ผิดปกตินั้น ยกให้คุณหมอไปทบทวนเอาเองครับ pulsus paradoxus, distance heart sound, increase venous pressure

การวินิจฉัยยืนยันใช้การตรวจรังสีเอกซเรย์ทรวงอก และ การตรวจคลื่นความถี่สูงไม่ว่าจะเป็นอัลตร้าซาวนด์ หรือ การทำเอคโค่คาร์ดิโอแกรม (อืม คาร์ดิโอ คือ โรคหัวใจ คาร์ออดิโอ คือ เครื่องเสียงรถยนต์ ใกล้เคียงกันมาก ) ก็จะยืนยันการวินิจฉัยได้ย่างรวดเร็ว และการรักษาคงต้องเจาะใจเพื่อเอาน้ำไปวิเคราะห์ครับ
การเจาะแบบเร่งด่วน อันนี้ไว้ช่วยชีวิตเวลาน้ำมากๆ จนระบบหัวใจล้มเหลว คุณหมอบางท่านที่อยู่ในที่ที่ไม่มีอุปกรณ์มากมาย ก็สามารถทำได้ ท่านอาจจะตกใจเมื่อเห็นคุณหมออายุรกรรม หรือ หมอห้องฉุกเฉิน ใช้เข็มยาวๆจิ้มไปที่ปลายกระดูกสันอก ทะลุเข้าเยื่อหุ้ม โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษใดๆ แล้วดูดน้ำออกมามากที่สุด ขณะน้ำออกมาผู้ป่วยก็จะดีขึ้นแบบทันตาเห็นครับ ในที่ที่มีอุปกรณ์มากๆ เช่น ใช้อัลตร้าซาวนด์ นำทางเข็มไปในทิศทางที่แม่นยำ หรือใช้เอกซเรย์ดู ก็จะแม่นยำ ลดโอกาสที่จะไปโดนเส้นเลือดได้

ส่วนการเจาะระบายน้ำในกรณีไม่เร่งด่วน ก็มักจะใส่เข็ม ใส่ลวดตัวนำสาย แล้วใส่สายระบายขนาดประมาณหลอดดูดยาคูลท์ ตามสายลวดเข้าไปจนได้ตำแหน่งเหมาะสม แล้วถอดสายลวดออกเหลือแต่ท่อระบาย ต่อเข้ากับกระปุกสุญญากาศเพื่อดูดน้ำออก หรือบางหมอบางท่านก็ปรึกษาคุณหมอผ่าตัดเพื่อผ่าตัดระบายน้ำออกมา แต่จากผลการศึกษาหลายๆอันก็สรุปว่าการใส่สายระบายกับการผ่าตัดนั้น ผลการรักษาไม่ต่างกันมากนัก

ส่วนมากที่ทำการเจาะมักเป็นหัตถการช่วยชีวิต คือถ้าไม่เจาะก็จะอันตรายมาก เราจึงรับความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงได้ ตอนแอดมินเจาะมากๆนั้น เคยมีนักเรียนแพทย์ถามว่า แหมถ้าเจาะเข้าหัวใจหล่ะ ทำอย่างไร ( คิดถึงเพลง แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ ) ก็ไปค้นคว้ามาว่าไม่เป็นไร ถอดเข็มออกก็ไม่มีอันตราย ที่เสี่ยงจริงๆ คือมือแม่นมากๆเจาะโดนเส้นเลือดแดงที่วางตัวอยู่ที่ผนังหัวใจต่างหาก อันนี้ต้องผ่าด่วนครับ

เช่นเคยครับ บทความนี้ทำขึ้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบว่ามีการเจาะใจ ที่ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ และ เพื่อให้แพทย์ได้ตระหนักว่า เมื่อจำเป็นก็ต้องทำเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย สามารถทบทวนวิธีการเจาะที่ถูกต้องได้จาก
www.nejm.org ในหมวดวีดีโอหัตถการทางการแพทย์ครับ

22 กันยายน 2558

น้ำในเยื่อหุ้มปอด

น้ำในเยื่อหุ้มปอด
หลายท่านอาจสับสนน้ำในเยื่อหุ้มปอด (plueral effusion) และ น้ำท่วมปอด (pulmonary edema) ว่าเป็นภาวะเดียวกันหรือไม่ มันแน่นอนครับ คนละอย่างกันชัดเจน เอาละเรามาหลับตาจินตนาการไปด้วยกันครับ

ช่องอกของเราเปรียบเสมือนห้องใหญ่ห้องหนึ่ง ส่วนปอดของเราก็เหมือนกับเราเป่าลูกโป่งยักษ์ไว้ในห้องเต็มห้อง สูบเข้าสูบออก ตามการหายใจ แต่ถ้าเรามีน้ำขังอยู่ในห้อง แน่นอนว่าลูกโป่งยักษ์นั้นก็จะสูบเข้าไปไม่เต็มห้องเพราะมีน้ำดันไว้ เปรียบได้กับ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดครับ
ส่วนน้ำท่วมปอดนั้น คือ เราใส่น้ำแทนลมในการทำให้ลูกโป่งยักษ์พองออก ช่องอก คือ ที่ว่างในห้องก็จะไม่มีน้ำครับ แค่คิดง่ายๆแบบนี้ ท่านว่าต้องใช้น้ำมากไหมกว่าลูกโป่งจะพอง แสดงว่าภาวะน้ำท่วมปอดจะมีน้ำคั่งอยู่มากมาย ซึ่งเกิดจากปั๊มน้ำเสีย ก็คือ หัวใจวายนั่นเอง

ถ้าท่านเกิดมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ก็อาจจะเกิดโรคได้หลายโรค เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ วัณโรค มะเร็ง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ท่อน้ำเหลืองรั่ว ท่อไตรั่ว ฯลฯ สารพัด นั่นหมายความว่า การเจาะตรวจน้ำเยื่อหุ้มปอดจึงมีความสำคัญมาก เพื่อส่งตรวจทางเคมี เพาะเชื้อ หาสารภูมิคุ้มกันต่างๆ เพื่อแยกโรคต่างๆออกจากกัน

การเจาะตรวจอาจใช้วิธีธรรมดา คือ ใช้เข็มเจาะดูดออกมา ใช้เวลาสั้น ไม่เจ็บมาก ผลข้างเคียงน้อย โดยทั่วไปก็จะเจาะมาบางส่วนไปตรวจ ประมาณ 30-50 ซีซี หรือใช้การใส่สายระบายน้ำไปเลย ในกรณีที่น้ำมากๆจนทำให้พื้นที่แลกเปลี่ยนแก๊ซออกซิเจนลดลง หรือ ไปกดเบียดหัวใจ ก็อาจเป็นท่อแข็งประมาณปากกา หรือสายเล็กอ่อน ยาวประมาณสองฟุต แล้วคาสายต่อลงกระปุกเก็บ

     ยิ่งท่อใหญ่ยิ่งเจ็บ ผลข้างเคียงยิ่งมาก ที่พบมากๆคือ ลมรั่วเข้าไปแทนน้ำ หรือติดเชื้อ แต่ท่อใหญ่ก็ระบายได้ดีครับ การใส่ท่อหรือสายระบายบางครั้งอาจต้องใช้อุปกรณ์หรือใช้เอกซเรย์ช่วยนำทางก็มีครับ
ปัจจุบันอันตรายจากการเจาะตรวจหรือแม้แต่การใส่สายระบายนั้น น้อยลงมากๆเลยครับแพทย์ที่จบมาทุกคนก็จะได้รับการฝึกสอนตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะอายุรแพทย์นั้น ต้องทำได้ "อย่างเชี่ยวชาญ" เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ทำให้สายระบายยุคใหม่ๆ ไม่ระคายเคือง ลดโอกาสที่เชื้อโรคจะมาเกาะ ราคาที่ไม่แพงก็เข้าถึงง่าย การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ หรือการใช้เครื่องเอกซเรย์ที่เรียกว่า fluoroscopy ก็ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเจาะ ลดความเสี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อปอด หัวใจ หรือทะลุเข้าช่องท้อง
บทความนี้น่าจะช่วยเพิ่มความเข้าใจ
    และช่วยให้ท่านตัดสินใจเข้ารับการตรวจโดยการเจาะช่องปอดอย่างมั่นใจ และช่วยย้ำเรซิเดนท์ เฟลโลว์ ว่าจะต้องรอบคอบ ตั้งสติก่อนเจาะทุกครั้ง (แอดมินเห็นข้อผิดพลาดมาหมดแล้ว ทั้งโดนหัวใจ ทิ่มปอด ลมรั่ว เลยไปในท้อง และ....ผิดข้าง)

20 กันยายน 2558

อิทธิพลของบริษัทยา

การแพทย์ยุคใหม่ กับ อิทธิพลของบริษัทยาข้ามชาติ

คุณเชื่อไหมว่าความรู้ทางการแพทย์ยุคใหม่ๆ การรักษายุคใหม่ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของบริษัททางการแพทย์ เช่น บริษัทยา บริษัทเครื่องมือต่างๆ ผมมาเปิดใจพูดแฟร์ๆเลยนะ

หลายท่านอาจจะคิดต่างว่า เพราะว่าบริษัทพวกนั้น สุดท้ายต้องการผลกำไรต่างหากจึงมาสนับสนุน จริงๆแล้วสุดท้ายปลายทางก็เป็นเช่นนั้นครับ เป็นเป้าทางธุรกิจอยู่แล้ว บางบริษัทก็มีอิทธิพลทางธุรกิจ และ ทางการเมืองสูง จนสามารถบีบนโยบายทางการแพทย์ และ ทางการสาธารณสุขได้ แต่ทำไมสิ่งนี้ยังเกิดอยู่ ทำไมยังเกิดความร่วมมือในภาคธุรกิจ และ การรักษาอยู่ได้

การพัฒนายา หรือเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการทดสอบทางการแพทย์ ในยุคปัจจุบันมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องศึกษาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง มีคณะกรรมการจากหลายแขนงมาคอยควบคุม ทุกขั้นตอน ต้องมีการส่งรายงาน ที่เรียกว่า interim analysis ถ้าการศึกษาใดมีแนวโน้มจะเกิดอันตราย ก็จะถูกยุติการทดลอง ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาตกลงกันที่เรียกว่า " Declaration of Helsingi " เพื่อควบคุมการศึกษาทดลองค้นคว้าต่างๆ ให้ไม่ผิดจริยธรรม

ระหว่างการศึกษาแต่ละอันๆ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ แม้จะไม่ตรงตามวัตุประสงค์งานวิจัยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยยาลดความดันในผู้ป่วยเบาหวาน ก็จะเกิดความจริงที่ว่า ตัวเลขความดันเท่าไรกันนะ จึงจะช่วยลดอันตรายได้ และได้ความจริงอีกว่า ถ้าชะลอโปรตีนที่รั่วทางปัสสาวะได้ อัตราการเกิดไตวายจะลดลง ความจริงนี้เกิดกับยาลดความดันทุกตัวที่มีสมบัตินี้ ไม่ใช่แค่ยาทีบริษัทสนับสนุน การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนอันนี้ ทางการแพทย์เรามีขั้นตอนและกระบวนการเพื่อสกัดเอาข้อเท็จจริง และ ผลประโยชน์เคลือบแฝงออกจากกัน

งานวิจัยใหม่ๆ จะต้องแสดงตัวชัดเจน ผู้ทำวิจัย ผู้คิด ผู้เขียน ผู้พูด มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางบริษัทหรือไม่ เพื่อให้ผู้ฟังได้ฟังหูไว้หูครับ และการศึกษาวิจัยเป็นหลายร้อย ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ในปัจจุบัน และที่ไม่ได้ตีพิมพ์อีกเป็นจำนวนมาก มักจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยา นั่นคือ กำไรที่เขาคาดหวัง 100% ก็จะมีส่วนที่ออกมาเป็นความรู้ใหม่ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในวงการแพทย์ และชีวิตที่ดีของคนไข้เกือบๆ 50% (ก็ไม่แปลกใจที่ราคายามันแพงมาก)

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าทุนนิยม ผลประโยชน์ อิทธิพล ความรู้ ถ้าผู้ใช้เอาไปใช้ถูกทางก็จะเกิดประโยชน์กันถ้วนทั่ว แต่ถ้าไปใช้ผิด ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมกำกับ ไม่ว่าใครก็วิบัติ ครับ

19 กันยายน 2558

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ผมชอบคำแปลคำนี้มากครับ มากกว่าน้ำตาลเทียม ผู้ป่วยมักชอบมาปรึกษาว่า ดื่มกาแฟใส่น้ำตาลได้เท่าไร ทั้งคนที่เป็นเบาหวาน และกลุ่มคนที่ควบคุมน้ำหนัก วันนี้ก็เลยไปอ่านทบทวนมาแล้วมาเล่าให้ฟังครับ เผื่อท่านได้เอาไปใช้ประโยชน์ได้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ขอเรียกสั้นๆว่า "สาร" นะครับ เราแบ่งง่ายๆ เป็นสารที่ใส่มาในผลิตภัณฑ์แล้ว และ สารที่เราเติมเพิ่มเข้าไปเอง สารจำพวกนี้จะมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200-400 เท่าเลยครับ จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาก
ความเข้าใจสองประการที่ต้องเข้าใจคือ

1. ถ้าเป็นสารที่มาจาก น้ำตาลที่มาจากแอลกอฮอล์ เช่น sorbitol หรือ xylitol ที่ใช้ในลูกอม หมากฝรั่ง เพื่อไม่ให้ฟันผุ มันสามารถให้พลังงานเท่าน้ำตาลเลยนะ เพียงแต่มันดูดซึมช้า น้ำตาลเลยไม่ค่อยสูง แต่กินมากๆก็จะท้องอืด ท้องเสียได้ จาก alcohol และ fiber ย้ำๆๆ กินมากๆน้ำตาลก็สูงและอ้วนได้

2. สารให้ความหวานที่ไม่มีพลังงานและคุณค่าทางอาหารเลย อัันนี้พลังงานน้อยมากๆ แต่หวานมากๆ ที่เห็นใช้มากๆคือ สาร saccharin หรือ aspartame จริงๆแล้วมันก็มีพลังงานนะครับ แต่ว่าถ้าเทียบกับน้ำตาลแล้วพลังงานน้อยมากๆ เมื่อได้ความหวานเท่ากัน สารนี้ที่ใช้บ่อยสุดคือ equal (aspartame) คิดง่ายๆ ใช้น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา เท่ากับ equal แบบเม็ด 1 เม็ด หรือ แบบซองแค่ครึ่งซอง ใส่มากๆจะหวานจัดแล้วก็อ้วนได้นะ ส่วนที่มีคนพูดว่าทำให้เกิดมะเร็งไหม ก็พบแต่ในสัตว์ทดลองครับ

ข้อสำคัญคือการใช้สารเหล่านี้ต่อเนื่อง มันจะทำให้เราติดรสหวาน คราวนี้พอไม่มีสารพวกนี้ เราก็จะหันไปหา "น้ำตาล" ของจริงครับ เพราะฉะนั้น ลดหวานจะคงทนกว่า ลดน้ำตาลครับ

18 กันยายน 2558

ข้ออักเสบ

เมื่อวานได้พบกับแฟนเพจคนหนึ่งโดยบังเอิญ ไดัรับการบอกเล่าว่า ผมเริ่มเขียนยาวไปแล้ว มาคิดดู เออแฮะ..จริงเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วอ่านมา 2-3 เล่ม เล่มละ 10-20 หน้า แล้วเอามากลั่นเอาแต่หัวกะทิเลยครับ
งั้นเรามาสั้นๆ 5 ข้อ กับโรคข้อ กันอีกแล้วกัน

1. ข้ออักเสบต่างจากปวดข้อทั่วๆไป ตรงที่ข้ออักเสบจะกดเจ็บรอบๆข้อทุกด้าน บวม แดง ร้อน และมักจะใช้งานข้อนั้นๆได้ไม่ดีเท่าเดิม

2. การตรวจเลือดอย่างเดียว ไม่สามารถวินิจฉัยโรคข้ออักเสบใดๆได้ จำเป็นต้องพิจารณา จำนวนข้อที่เป็น ระยะเวลาที่เป็น การเรียงลำดับข้อที่เป็น อาการร่วมที่พบ เช่น มีไข้ มีผื่น เป็นต้น เพราะฉะนัั้นต้องตร;จ ต้องคลำ ต้องบันทึก จึงวินิจฉัยได้

3. การถ่ายภาพเอกซเรย์ข้อ มักจะมีประโยชน์ในกรณี ปวดข้อเรื้อรัง (มากกว่า 12 สัปดาห์) หรือ โรคข้อที่ตรวจยากๆ เช่น ข้อสันหลัง ข้อสะโพก ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ทุกครั้งครับ อ้อ..ยกเว้นอุบัติเหตุ ข้อเคลื่อน ด้วยครับ

4. การรักษาประกอบด้วย การแก้ปวด และ การรักษาสาเหตุของโรคด้วย บางครั้งพอให้ยาแก้ปวดอย่างเดียว แล้วหาย ก็จะลืมการรักษาสาเหตุ เช่น ยาปรับโรครูมาตอยด์ การลดการใช้งาน และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาถาวรกว่า

5. การรักษาโรคข้อ ใช้เวลานานนะครับ ต้องติดตามการรักษาต่อเนื่อง ใช้การสังเกตต่อเนื่อง จึงจะรักษาหาย .. อย่าเปลี่ยนที่รักษาบ่อยๆ เพียงเพราะ หายไม่ทันใจ..

ไม่มีอ้างอิงนะครับ ทั้งหมดเขียนด้วยความรักและ ความเป็นห่วงล้วนๆ

17 กันยายน 2558

ปลาเข็ม

ปลาเข็ม

ท่านรู้จัก halfbeak fish ไหมครับ ผมอ่านในวิกิพีเดีย บอกว่ามันเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ปากยาวออกมา และริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบนมากๆ ริมฝีปากก็แข็งมาก ผมลองกดกูเกิลดู มันแปลว่า ปลาเข็ม ผิดถูกอย่างไรวานผู้รู้มาช่วยบอกด้วยนะครับ

เช้านี้วันพฤหัส ผมเปิดดูอีเมล์ตามปกติเพื่อดูวารสาร new england journal of internal medicine รายสัปดาห์ตามปกติ พบหัวข้อหนึ่งน่าสนใจดี เลยมาเล่าให้ฟัง
ชายอายุ 52ปีคนหนึ่งมีอาการปวดตาซ้าย ตาซ้ายบวมแดง ปูดโปนขึ้น และหนังตาตก ปกติแล้วถ้ามาหาหมออายุรกรรม เราก็จะคิดว่าน่าจะเป็นการอักเสบที่โพรงลูกตา เราจะส่งหมอผ่าตัด ซึ่งในรายนี้ก็เป็นจริงๆครับ พบมีก้อนที่หลังลูกตาซ้าย ยังอยู่ในโพรงลูกตา ไม่เข้ากระโหลก คุณหมอก็ผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมาวินิจฉัย
ขณะผ่าตัดอยู่นั้น ก็พบเจ้าสิ่งยาวๆคล้ายหลอดเล็กๆยาวประมาณเปลือกตา คุณหมอก็เอาออกมาเพื่อวินิจฉัย ผลตรวจออกมา ใช่แล้วครับมันคือ halfbeak fish มีทางเข้าอยู่ที่เปลือกตา ทะลุเข้าไปอยู่หลังลูกตา ดีที่ไม่เข้ากะโหลก หลังจากผ่าตัดเอาออก 3 เดือนหลังจากนั้น คนไข้ก็หายเป็นปกติ
ชายคนนี้มีประวัติไปว่ายน้ำที่ทะเลแดง เมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน ขณะว่ายน้ำอยู่นั้น เขาได้ว่ายน้ำโดนฝูงปลาฝูงหนึ่ง อาจจะบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก จนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

ทำไมผมจึงคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ก็เพราะว่าประวัติที่สมบูรณ์จะช่วยวินิจฉัยแยกโรคได้ดี เช่น ไปเที่ยวภาคใต้ อาจต้องคิดถึงการติดเชื้อ malaria ไปทำนามาอาจต้องคิดถึงโรคฉี่หนู ไปเที่ยวกินปลาดิบที่ญี่ปุ่น อาจต้องคิดถึงติดเชื้อพยาธิ capillaria philippinensis เป็นต้น

ผู้ป่วยและหมอ ต้องให้ความสำคัญกับประวัติการเจ็บป่วยมากๆนะครับ
ที่มา : New England Journal of Intermal Medicine ฉบับวันนี้

16 กันยายน 2558

โรคกินผิดปกติ bulimia nervosa

โรคกินผิดปกติ bulimia nervosa

ใครจะคิดว่า มีโรคที่เกิดจากความผิดปกติจากการกิน เคยได้ยิน โรคบูลิเมีย เนอโวซา ไหมครับ ( Bulimia nervosa ) บางท่านอาจเคยได้ยินจากข่าว กอซซิบดารา ข่าวตามหนังสือพิมพ์ ลองอ่านแล้วคิดตามดีๆนะครับ บางที่ท่านอาจเป็นโรคนี้อยู่ก็ได้
โรคบูลิเมียนี้เป็นความผิดปกติทางจิตใจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโภชนาการอยู่บ้างครับ เป็นหนึ่งในโรคจากการกิน (อีกโรคคือ anorexia nervosa ลักษณะร่วมกันของทั้งสองโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะกลัวอ้วน กลัวหุ่นไม่สวย กลัวสุขภาพไม่ดีจากอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ จนทำให้พฤติกรรมการกินผิดไป โรค anorexia นั้น คนไข้จะไม่ยอมกินอะไรเลยจนร่างกายแห้งเหี่ยว ส่วน bulimia นี้จะยากกว่าคือว่า ผู้ป่วยที่เป็น bulimia เขาจะกินเยอะๆมากๆ ประมาณสัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง แล้วหลังจากกินเยอะๆแล้วเขาจะกังวลครับ ก็พยายามที่จะเอาสารอาหารนั้นออกไป ไม่ว่าจะเป็นการล้วงคอให้อาเจียน การใช้ยาถ่าย การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือหลังจากกินหนักๆ เขาก็จะไปออกกำลังกายหนักๆมากๆ เพื่อไม่ให้อาหารที่กินหนักๆไปนั้น ไปทำให้เขาอ้วน

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีรูปร่างปกติดีครับ เขาจะห่วงรูปร่างมากจนบางครั้งดู “เยอะ” เช่นชั่งน้ำหนักบ่อยๆ ทุกครั้งก่อนกิน ส่องกระจกดูหุ่นตัวเองบ่อยๆ กลัวน้ำหนักขึ้น แต่พอเวลากินแล้วควบคุมไม่ได้นั้น ก็จะนั่งกินอาหารเป็นชั่วโมงๆ กินของที่คนอื่นไม่กิน เช่นไปกินบุฟเฟ่ต์แล้ว กินหนักสามชั่วโมงแล้วยังรอกินผักสลัดรองจานจนหมด กินหนักแต่ละที กินจนจุก จนปวดท้อง แล้วก็ไปเข้าห้องน้ำ ล้วงคอให้อาเจียน หรือรีบไปซื้อยาถ่ายขนานแรงๆ มาทันที และจะซื้อผลิตภัณฑ์ลดอาหารทุกอย่างมาใช้ ออกกำลังกายเป็นบ้าเป็นหลังจนร่างกายบาดเจ็บ
ท่านก็คงคิดว่า…อ้าวแล้วมันอันตรายตรงไหนล่ะ เค้ากิน เค้าเอาออก เค้าก็กิน สลับไปสลับมาก็ไม่น่าห่วงสิ... ก็ไม่ใช่อย่างนั้นครับอันตรายก็มีมากครับ เช่น

-ใช้ยาขับปัสสาวะและอาเจียนมากจนไตวาย
-ประจำเดือนผิดปกติ
-ลำไส้ทำงานผิดปกติจากการใช้ยาระบายผิดวัตถุประสงค์
-มีการใช้ยาผิดกฎหมายจนเกิดพิษ
-ขาดสารอาหาร

กลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นมากคือ สาวๆวัยทีน คนที่ดูสื่อๆต่างๆแล้วหลงเชื่อ เช่น หุ่นสลิมแล้วจะได้เป็นนางฟ้า นักกีฬา นักแสดงที่ถูกกดดันจากโค้ช เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยไม่รู้ตัวหรอกครับ มักเป็นคนใกล้ชิด คนที่รักและหวังดีบอกให้รู้ตัว หรือว่าเอาไปถามหมอให้ แถมวินิจฉัยก็ยาก เพราะผู้ป่วยมักจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ สุดท้ายรักษาก็ไม่ค่อยได้ เพราะส่วนมากต้องพบจิตแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี คงต้องค่อยๆคุยให้มาพบแพทย์ครับ (พบอายุรแพทย์ก็ได้ครับ)
การรักษาหลักนั้น ใช้ Cognitive Behavioral Therapy ใช้การปรับความเชื่อ โดยต้องร่วมมือกันหลายทีม ทั้งจิตแพทย์ อายุรแพทย์ ในการควบคุมภาวะทางใจ และผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากกการขาดน้ำ เกลือแร่ ขาดอาหาร พิษจากยา ใช้ความร่วมมือจากครอบครัว เพื่อนฝูง ช่วยกันเตือน ช่วยกันดูแล ใช้นักกำหนดอาหารเพื่อให้สารอาหารและพลังงานที่ถูกต้อง ส่วนการใช้ยาก็มีที่ได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยาของอเมริกา คือ ยาต้านโรคซึมเศร้า Fluoxitine

โรคนี้ใกล้ตัวมากนะครับ ยิ่งในยุคสื่อครองเมือง ทั้งสื่อผิดและสื่อถูก ลองสังเกตตัวท่านและคนรอบข้างท่าน ว่ามีใครเข้าข่าย BULIMIA NERVOSA หรือไม่ครับ
ที่มา : harrison’s principle of internal medicine 19th
Harrington BC in American family physicians 2015 ;91 :46
Bulimia nervosa : MayoClinic from www.mayoclinic.org

15 กันยายน 2558

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

วันที่ 15 กันยายน ถือเป็นวัน world lymphoma day วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก เริ่มต้นจัดที่อาร์เจนตินาในปี 2004 เพื่อให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจและทำเป็นแหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จนถึงปัจจุบันเรายังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างถูกต้องถึง 62% (2014 Global Patient Survey) ในปี 2008 ทางองค์กร lymphoma coalition ได้ทำการสำรวจใหญ่และพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัวคือ
--กว่า 50% ของคนที่มีต่อมน้ำเหลืองโต เคยได้ยินและรู้จัก lymphoma แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้ด้วยว่ามันคือมะเร็ง
-- กว่า 67% ของคนที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ไม่เคยรู้เลยว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น เป็นมะเร็งที่โตเร็วและรุนแรงที่สุดอันหนึ่ง
เพราะว่าวันนี้เป็นวันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก ผมจะพาท่านไปรู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลืองง่ายๆครับ

เป็นมะเร็งของระบบโลหิตวิทยาที่พบบ่อยที่สุดครับ โดยมากพบตอนอายุ 50-60 ปี อาการเด่นๆของมะเร็งชนิดนี้ แบ่งเป็นสองประการครับ

ประการที่หนึ่ง..เกิดจากก้อน ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับ มะเร็งของต่อม อาการที่พบคือ อวัยวะน้ำเหลืองจะโตขึ้น อันได้แก่ต่อมน้ำเหลืองโต แข็ง ยึดติดกับโครงสร้างด้านล่างเช่น กล้ามเนื้อ พังผืด อาจโตเป็นกลุ่มๆ เช่น ที่คอ ที่รักแร้ หรือ โตทั่วตัว พวกโรคติดเชื้อมักโตเร็วกว่า กดเจ็บ บวม กลิ้งต่อมไปมาได้ และยุบลงเมื่ออาการติดเชื้อดีขึ้น และอวัยวะน้ำเหลืองอื่น เช่น ม้ามโต ก็จะคลำได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย ตับโต ต่อมทอนซิลโต ที่มักจะโตนาน แข็ง
ก้อนอาจใหญ่มากไปกดเบียดอวัยวะข้างๆได้ และ อาการของก้อนที่ดูไม่เป็นก้อนอีกอันคือ ตัวเซลล์มะเร็งนี้อาจแทรกตัวอยู่ในผนังอวัยวะต่างๆ ทำให้มีอวัยวะที่ไม่เกี่ยวกับน้ำเหลืองโตได้ ยกตัวอย่างมี่พบบ่อย คือ แทรกตัวอยู่ในผนังกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะโต และสูญเสียหน้าที่ในการย่อยอาหารด้วยครับ

ประการที่สอง เนื่องจากเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น คือ เม็ดเลือดขาวชนิด ลิมโฟไซท์ มันหลั่งสารต่างๆได้ครับ ก็จะเกิด ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เม็ดเลือดแตก ภูมิคุ้มกันผิดปกติ มีทั้งไวเกิน และ บกพร่อง
พูดง่ายๆ --มีอาการได้ทุกอย่าง--ในทางอายุรกรรมนั้น เราจะต้องคิดถึงโรคนี้ไว้เสมอ เผื่อไว้เสมอ เนื่องจากมีอาการได้ทุกอย่าง มันเลยวินิจฉัยยากมากไงครับ
การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจทางพยาธิวิทยา และย้อมพิเศษครับ เพื่อระบุชนิด ความรุนแรง และการตอบสนองต่อการรักษา ส่วนการตรวจอื่นๆเพื่อประเมินระยะโรคเป็นสำคัญครับ เรื่องการแยกชนิด เป็น T-cell , B-cell, Hodgkin's disease เอาไว้ให้เรซิเดนท์ท่องสอบครับ

ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากจริงๆคือการรักษาครับ การรักษาโรคนี้ประสบผลสำเร็จดี เรียกว่าเป็นมะเร็งที่น่ารักษาทีเดียวครับโดยเฉลี่ยยืดชีวิตได้ 8-10 ปี ในประเภทรุนแรงคือ diffuse large B cell lymphoma นั้นมีโอกาสหายขาด 50-60% ครับ การรักษาประกอบด้วยแบบเดิมคือ ตัดก้อนถ้าใหญ่มาก ให้ยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน อาจฉายแสงถ้าก้อนโตหรือเสี่ยงไปโดนอวัยวะสำคัญ การรักษาแบบดั้งเดิมนี้ยังใช้ได้ดีมากๆ ในกรณีเป็นซ้ำก็มีตัวเลือกเพิ่มคือ การปลูกถ่ายเซลต้นกำเนิดเม็ดเลือด นี่เป็นการใช้สเต็มเซลที่ถูกต้องเพียงกรณีเดียวครับ
แต่การรักษาแบบเดิมเปรียบเสมือน ใช้ปืนกลรัว ทิ้งระเบิดนาปาล์ม ตามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ มะเร็งก็ตายจริงครับ เซลอื่นๆก็ตายด้วย เผลอ เจ้าของก็ตายพร้อมๆกัน เราจึงคิด ขีปนาวุธนำวิถีทำลายเฉพาะเซลมะเร็ง ที่มันดันมีตัวรับพิเศษอยู่ที่เรียกว่า CD20 และอาวุธนั้นคือสารชีวภาพสังเคราะห์ "rituximab" ทำให้อัตราการอยู่รอดดีขึ้นมาก ปัจจุบันมีใช้ในไทย ต้องผ่านการลงทะเบียนก็มีสิทธิใช้ครับ ส่วนขีปนาวุธตัวใหม่ๆ กำลังสร้างเพิ่ม เช่น bretuximab, ibrutinib, idelalisib ยังอยู่ในห้องทดลองครับ

พอได้นะครับ รายละเอียดอื่นๆยาวมากๆๆ
ที่มา : http://www.lymphomacoalition.org/
: ASH-SAP textbook 3rd ed
: NHL, อ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ใน
essential hematology for general practitioner
: ตำราโลหิตวิทยา 3rd ed
: wintrobe's clinical hematology 12th ed

14 กันยายน 2558

ผึ้งต่อย ต่อต่อย

ผึ้งต่อย ต่อต่อย ผมว่าผมอ่านหนังสืออายุรศาสตร์เยอะมากครับ แต่ผมเพิ่งเคยอ่านบทความเกี่ยวกับ ข้อมูลแมลงต่อยที่ลึก แน่น กระชับมากสุด ก็ของ
อาจารย์ อธิก แสงอาสภวิริยะ จากหนังสือ emergency medicine ของแพทย์พระมงกุฏฯ ที่เพิ่งวางจำหน่ายพร้อมการจัดรีวิว เมื่อ 11 กย นี้เอง อ่านแล้วจับใจความ สรุปง่ายๆมาให้ท่านลิ้มรสกันเป็นข้อๆ ดังนี้

1. แมลงที่มีพิษ ออกฤทธิ์แบบเดียวกันนี้คือ ผึ้ง ต่อ แตน มด ย้ำๆ มดด้วยนะครับ พิษทั้งหมดนี้ ทำให้บวม ไหม้ การทำลายเนื้อเยื่อ ถ้ารุนแรงอาจมีหลอดลมตีบ หัวใจล้มเหลว ไตวายได้ และมดจะมีสาร alkaloid toxins ทำให้เกิดตุ่มน้ำครับ

2. ปฏิริยาจะรุนแรงมากๆ ในการถูกต่อยครั้งที่สอง เพราะ ร่างกายจดจำสารกระตุ้นพิษครั้งก่อนได้ และ.และ.. การจดจำอันนี้อาจผิดพลาดได้ หมายถึง ครั้งนี้ถูกผึ้งต่อย ครั้งหน้าถูกมดกัดแต่เกิดปฏิกิริยารุนแรงเหมือนถูกผึ้งต่อยครั่งที่สองได้ ( cross reaction )
ปฏิกิริยามีทั้งเป็นเล็กๆน้อยๆ ตรงที่ถูกต่อย หรือเป็นบริเวณกว้างๆมากกว่า 10 เซนติเมตร ลามตามเส้นน้ำเหลือง คล้ายๆผื่นผิวหนังติดเชิ้อได้ สุดท้ายก็อาจเป็นผลจากพิษทั้งตัว เกิดมีไข้ อวัยวะล้มเหลวได้

3. ปริมาณพิษ สัมพันธ์กับอาการ แต่บางทีพิษน้อย แต่คนๆนั้นไวต่อการแพ้ก็อาจแพ้รุนแรงได้ หรือบางทีก็อาจเกิดปฏิกิริยาหน่วง คือ หายไปแล้วกลับมาเกิดได้อีก ดังนั้น การสังเกตอาการจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะถูกต่อต่อย เพราะมันพิษมากและต่อยหลายที หรือ เคยแพ้รุนแรงมากมาก่อน แต่ว่าอุบัติการณ์พบแพ้รุนแรงจากผึ้งมากกว่าต่อ อาจเป็นเพราะว่า คนโดนผึ้งต่อยมากกว่าต่อนั่นเอง

4. การรักษาก็มักให้ยาตามอาการ ในรายรุนแรงอาจต้องให้ยากระตุ้นหลอดเลือด epinephrine, ยาสเตียรอยด์ ยกเว้นถ้าโดนต่อ yellow jacket ต้องฉีดยาบาดทะยักร่วมด้วย เพราะมันหาอาหารในกองขยะ ส่วนยาฆ่าเชื้อไม่มีข้อบ่งชี้ให้ ยกเว้นติดเชื้อซ้ำเข้าไป

5. การทดสอบทางผิวหนัง เชื่อได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ แค่เป็นแนวทางช่วยในการป้องกันและให้ยาเท่านั่น เช่น ต่อ yellow jacket และ แตน hornet ก็จะมีปฏิกิริยาข้ามกันได้ ใช้สำหรับผู้ที่จะรักษาด้วยการฉีดพิษเช่นเคยแพ้รุนแรงแต่ไม่รู้ว่าแพ้ตัวอะไร หรือ อาชีพเสี่ยงต่อการถูกต่อย ต้องป้องกัน ( ไม่ใช่นักมวยนะครับ )
หรือใช้การทดสอบดูระดับภูมิคุ้มกันต่อตัวแมลง ( specific IgE ) ที่ใช้เฉพาะรายที่จำเป็นมากๆจริงๆ คือเคยแพ้หนักๆมากแล้ว ( แหม..น่าไปทดสอบกับทีมลิเวอร์พูลนะครับ )

6.การรักษาแบบให้พิษ venom immunotherapy ใช้ในรายที่แพ้มากๆ และเสี่ยงที่จะแพ้อีก เช่น ทหารออกรบ คนเลี้ยงผึ้ง คนที่เคยแพ้รุนแรงมากๆ ถ้าแพ้อีกจะอันตราย ช่วยลดความรุนแรง ร่างกายต้านพิษได้ แต่ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 3-5 ปี และมีโอกาสกลับมาแพ้ซ้ำ ปัจจุบันจึงแนะนำเฉพาะรายครับ

ไม่เคยอ่านรีวิวเรื่องนี้แบบเจ๋งๆแบบนี้มาก่อน เลยมาเล่าสู่กันฟังครับ ค้นข้อมูลเพิ่มตอนนี้ เจอแต่ข้อมูลพิษ ของ yellow jacket ที่เป็นศัตรูของ antman ในหนังครับ

13 กันยายน 2558

สิ่งที่ควรเตรียมตัวเวลาไปตรวจคลินิกอายุรกรรม

สิ่งที่ควรเตรียมตัวเวลาไปตรวจคลินิกอายุรกรรม

1. เตรียมสมุดคู่มือประจำตัวผู้ป่วยของท่าน และยาที่ใช้อยู่ตอนนี้ไปด้วยครับ หมดเมดจะงงมาก เวลาถามว่าท่านมีโรคประจำตัวอะไร และได้คำตอบกลับมาว่า เป็นโรคหัวใจ..เอ่อ โรคอะไรล่ะ ลิ้นรั่ว หัวใจโต เยื่อหุ้มแข็ง .. ถามต่อแล้วใช้ยาอะไรครับ คำตอบที่ได้..ยาลดความดัน เม็ดสีขาวๆน่ะหมอ...เอ่อ มียาเม็ดสีขาวๆเป็นพันเลยคร้าบ

2. ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ถอดง่าย แยกเสื้อ กางเกง ที่บอกแบบนี้เพราะอายุรแพทย์ จะตรวจร่างกายในหลายๆส่วน เราตรวจส่วนใดเราเปิดส่วนนั้น บางทีจะคลำชีพจรที่หลังเข่า แต่ใส่ขาเดฟมา!#?:!* ถกกันเข้าไป ต้องไปต้องให้ไปเปลี่ยนผ้าถุงมาตรวจ บางทีจะตรวจท้อง โอ้!! ใส่ชุดแซคมาครับ เปิดจากล่างขึ้นบนกันเลยทีเดียว

3. ไม่ควรสวมเครื่องประดับ และควรล้างเล็บครับ เวลาท่านต้องเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าต่างๆ บางทีกว่าจะถอดได้ แทบเอาเลื่อยมาเลย ตรวจสีเล็บไม่ได้.. หลายๆโรคต้องตรวจเล็บ วัดความอิ่มตัวของออกซิเจน คราวนี้วิ่งหายาล้างเล็บกันวุ่นครับ ที่สำคัญโรงพยาบาลส่วนมากไม่มียาล้างเล็บนะครับ

4. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารมาคอยท่านะครับ กว่าท่านจะได้ตรวจ เกือบบ่าย ตกลงมาตรวจปวดข้อ กลับมารักษาอาการเป็นลม น้ำตาลต่ำแทน หมดเมดใช้ประวัติตรวจร่างกายเป็นหลัก และอาจตรวจเพิ่ม ซึ่ง 90% ไม่ต้องใช้การงดอาหารครับ ถ้าจำเป็นก็อาจนัดมาครั้งหน้าครับ

5. ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติเองได้ พาญาติที่รู้ข้อมูลมาด้วยนะครับ ที่พบบ่อยๆคือ ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่บ้าน ป่วยมานานแล้ว ลูกหลานมาจากในเมือง เห็นว่าป่วย พามาหาหมอ ผู้ป่วยก็ไม่รู้ตัว ให้ประวัติไม่ได้ หูตึง..ฯลฯ ส่วนญาติก็ไม่รู้อะไรเลย หมอก็....แห้งเหี่ยวตามสายลม

6. เล่าเรื่องราวให้หมอฟังมากๆ ถ้าไม่รู้หรือจำไม่ได้ ก็บอกหมอตรงๆเลยครับ อย่าคิดเอง หรือ อย่าให้หมอคิดเอง อันนี้ผิดบ่อยครับ จะทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดมากๆ ยิ่งถ้าไม่พูดอะไรเลย..หมดเมด ไม่ค่อยเก่งเรื่องดูโหงวเฮ้งนะครับ

ไม่มีอะไรมากครับ เป็นกระทู้บ่นของผมเอง ขอให้มีความสุขในวันหยุดครับ

12 กันยายน 2558

การแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ


" หมอชุ่ย บอกคนไข้เป็นเอดส์ " พาดหัวข่าวประมาณนี้ ดังกันไปทั่ว ในฐานะที่อยู่ในวงการและเคยประสบเหตุแบบนี้มาแล้ว จะมาเล่าให้ฟังบ้างครับ

ผมเคยเจอทั้งคนที่สงสัยมากๆ ว่าจะเป็นเอดส์แต่ตรวจเลือดไม่เป็น และคนที่ไม่มีความเสี่ยงเลย แต่ผลตรวจเป็นบวก มันมีปรากฏการณ์แบบนี้ด้วยหรือ !! คำตอบคือ การใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหลาย มันมีความไว และความจำเพาะ ของแต่ละการทดสอบ ซึ่งไม่เป็น 100% นะครับ อาจอยู่ที่ 95-99% หมายความว่ามันมีโอกาสผิดได้ ตามทฤษฎีแล้วถ้ามีโอกาสผิดได้ เมื่อทำการทดสอบซ้ำๆกันมากระดับหนึ่ง จะพบข้อผิดพลาดแน่นอน คล้ายๆกับท่านซื้อลอตเตอรี่ครับ โอกาสถูกเลขท้ายสองตัวที่ 1% ท่านสุ่มซื้อไปเรื่อยๆครับ ท่านจะถูกรางวัลแน่ๆ แต่จะกี่งวดนั้น บอกไม่ได้ครับ การทดสอบทางการแพทย์ก็เหมือนกัน

นอกจากนั้นก็ต้องใช้หลักการความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์ มาคำนวณด้วยครับ อย่างนี้ครับ ตัวอย่างคนไข้ของผม เป็นหญิงที่มีโรคที่พบในผู้ป่วยเอดส์ เธอมีสามีมาสองคน สามีทั้งสองคนเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ แต่ผลการตรวจเอดส์บอกว่าเป็นลบ ท่านเชื่อผลไหมครับ อย่างในรายนี้ก็ต้องบอกว่าโอกาสที่คนไข้จะติดเชื้อนั้นสูงมาก ถ้าผลการตรวจเป็นลบแสดงว่าวิธีนี้ใช้กับคนไข้รายนี้ไม่ได้แล้ว ต้องใช้วิธีอื่นครับ ทำไมต้องใช้วิธีอื่นอีกน่ะหรือ ก็เพราะความน่าจะเป็นโรคมันสูงมากครับ ผลคือใช้วิธีอื่นแล้วผลเป็นบวกครับ

ท่านก็นึกในใจ อ้าว แล้วคุณหมอเชื่อได้อย่างไรว่าวิธีที่สองของคุณหมอมันถูกต้อง ก็เพราะว่าเรามีวิธีการคำนวณทางสถิติที่บอกว่า โอกาสเป็นโรคเท่าใด และถ้าใช้การทดสอบด้วยความจำเพาะขนาดนี้ สรุปแล้ว ผู้ป่วยจะเป็นโรคจริงๆกี่เปอร์เซนต์ และก็ยืนยันด้วยการตรวจวิธีที่สามด้วยครับ

ส่วนคนไข้อีกราย ตรวจก่อนผ่าตัด พบผลการตรวจเอดส์เป็นบวก ผู้ป่วยไม่มีประวัติเสี่ยงใดๆเลยนะครับ ก็เลยต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีที่สอง ผลออกมาเป็น ลบ ก็คิดแบบเดียวกันครับ มีข้อผิดพลาดในการตรวจได้ และโอกาสที่เกิดโรคต่ำมาก ถ้าใช้การตรวจที่จำเพาะสูงๆ เมื่อผลเป็นลบนั้น เชื่อได้ว่าลบจริงครับ ผลบวกปลอมนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายภาวะครับ เช่น เคยติดเชื้อวัณโรค ไวรัสเริม ตับอักเสบจากการดื่มเหล้า ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายเกินปกติ

หัวข้อนี้อ่านยากหน่อย แต่อยากอธิบายว่า จะบอกว่าคนๆหนึ่งเป็นโรคนั้น ไม่ได้ใช้แค่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้นครับ ต้องคิดโอกาสการเกิดโรค ใช้วิธีตรวจที่ถูกต้อง จึงจะแปลผลที่ถูกต้องได้ครับ
ปัจจุบันการตรวจเอดส์นั้น มาถึงรุ่นที่ 4 แล้วนะครับ ประกอบด้วยการตรวจสองอันในการตรวจครั้งเดียว ความไวความจำเพาะมากกว่า 99 เปอร์เซนต์ และถ้าผลเป็นบวก จะมีการตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นเสมอครับ

ทุกข้อมูล ฟังหูไว้หู ครับ

11 กันยายน 2558

ความเข้าใจในการรักษาไวรัสตับอักเสบ

ความเข้าใจในการรักษาไวรัสตับอักเสบ

สุดสัปดาห์นี้ลองเปลี่ยนบรรยากาศการฟังจากอธิบาย มาเป็นการแก้ต่างกันบ้าง..ไม่ต้องงงครับ ว่าแก้ต่างให้ใคร แก้ต่างให้กับคนทั่วไปที่เข้าใจผิดหรือไม่รู้เกี่ยวกับการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซึ่งผมจะพูดโดยรวมทั้งตับอักเสบบี และตับอักเสบซี ครับ

อย่างแรก ต้องรักษาทุกคนไหม..หลายๆท่านก็อยู่ในภาวะนี้ คือ เจาะเลือดเจอเชื้อ ทำไมหมอไม่รักษา ทางการแพทย์เราเก็บข้อมูลจากการศึกษาทดลองเป็นร้อยๆ ก็พบว่ามีผู้ป่วยบางกลุ่มบางประเภทที่จะได้ประโยชน์จากการรักษา และกำหนดเป็นแนวทางเอาไว้ ง่ายๆคือ การติดเชื้อนั้นต้องเรื้อรัง และ มีการทำลายตับพอสมควร ก็จะวัดปริมาณเชื้อ ความสามารถของเชื้อในการขยายพันธุ์ การอักเสบของตับจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือการวัดความยืดหยุ่นของตับ การตรวจเลือดดูค่า ALT ปัจจัยหลักทั้งหลายนี้เป็นข้อตัดสินเบื้องต้นว่าควรรักษาหรือไม่ การตอบสนองดีไหม
ส่วนประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ก็มีนะครับ เช่น เป็นโรคร่วมด้วย อย่างเช่นเป็น HIV ผู้ป่วยที่ต้องรับยาเคมีบำบัดก็ต้องให้การักษาไวรัสตับอักเสบบีก่อน กรณีย่อยๆแบบนี้พิจารณาเป็นรายๆไป
เป็นคำตอบที่ว่าไม่จำเป็นต้องรักษาทุกรายแต่ติดตามทุกราย

อย่างที่สอง การใช้ยารักษา หลายๆท่านที่รักษาจะได้รับยาที่ต่างกัน ผลการรักษาและผลข้างเคียงก็จะต่างกัน ขึ้นกับปริมาณเชื้อ สายพันธุ์เชื้อ ภาวะการทำงานของตับ เป็นประเด็นที่เอามาคิดครับ เช่นถ้าอายุน้อย การอักเสบมาก ก็อาจเลือดใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอร์รอน แต่ถ้าอายุมาก ตับแข็งพอควรก็คงจะได้ยากิน ลามิวูดีน หรือ ทีโนโฟเวียร์ การเลือกยานี่สำคัญครับ เพราะจะเล็งแต่ประโยชน์แห่งการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ เรื่องผลข้างเคียง โอกาสการดื้อยาในอนาคตเป็นสิ่งที่ต้องเอามาคิด
สิทธิการรักษามีผลไหม..มีแน่ๆครับ ถ้าท่านเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก คงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ แต่การใช้ยาที่ราคาแพง อย่างการรักษาไวรัสซีที่ต้องใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอร์รอนร่วมกับยากิน ไรบาวาริน ก็ใช้เงินต่อเดือน 30000-40000 บาท รักษาหายแต่ไร่นาก็คงหายไปด้วย ทางสิทธิการรักษาจึงให้ผู้ป่วยทุกสิทธิเข้าถึงยาได้ จริงอยู่ว่าคงต้องมีกฎเกณฑ์ และคงไม่ได้ยาทุกตัว ( หมายถึง เรา เลือกเองไม่ได้ ) แต่ทางภาครัฐก็อาศัยข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วนะครับ ว่าการักษาแบบที่รัฐให้นั้น ไม่ด้อยมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ

อย่างที่สาม บางทีไม่หายแต่หมอก็หยุดการรักษา เอ่ออ..จริงๆแล้วอาจแค่หยุดให้ยา แต่ไม่ได้หยุดรักษา โดยเฉพาะการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ที่ต้องใช้ยาราคาแพง และผลข้างเคียงสูง ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด อินเตอร์เฟอร์รอน หรือ ยากินชนิดใหม่ sofosbuvir, boceprevir จะมีการติดตามผลที่ใกล้ชิดว่าใช้ยาแล้ว เชื้อโรคน้อยลงไหม ถ้ามีแนวโน้มไม่ลดลงหรือดื้อยา การศึกษาบอกว่าการรักษาต่อ ไม่เกิดประโยชน์ จึง เป็นผลต่อนโยบายว่าควรหยุดเพื่อไม่ให้สูญเสียงบประมาณด้วย
ประโยคที่ผ่านมาสำคัญนะครับ เราไม่ได้หยุดรักษาเพราะกลัวเปลืองอย่างเดียว แต่มันมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า การรักษาต่อไปจะไม่มีประโยชน์ต่างหาก

อย่างสุดท้าย (จริงๆแล้วมีหลายอย่างมากๆ แต่เอามาแต่เน้นๆ..เนื้อๆ..) ถ้าผมบอกว่า เรามีเกณฑ์การรักษา มียาที่ดี มีสตางค์จ่ายให้ เราทั้งหลายควรไปตรวจหาไวรัสกันไหม คำตอบเลยนะครับ ควรอย่างยิ่งครับ เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว หรือถ้าท่านยังไม่ถึงเกณฑ์การรักษา อย่างน้อยก็ได้ "เช็คสเตตัส" ของตัวเอง เนื่องจากสองโรคนี้ มันมีช่วงที่ไม่แสดงอาการ หรือที่นิยมเรียกว่า เป็นพาหะ พอเราไม่มีอาการ เราก็ไม่ระวังตัวเอง ไม่ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น --ทางเพศสัมพันธ์-- ไม่ระวัง เลยได้รับเชื้อมาเพิ่ม --ก็ทางเพศสัมพันธ์อีก--- ไม่ดูแลตัวเอง ดื่มเหล้า ทำลายตับ --แหม อันนี้ ไม่ต้องเป็นตับอักเสบมันก็ไม่ควรดื่มอยู่แล้ว---
คำถามที่ผมยกมาเขียนวันนี้ เป็นคำถามจริงที่ผู้ป่วยตั้งคำถามมา ทั้งเคสตัวเอง และที่ได้รับปรึกษามาครับ

ที่มาข้อมูล : แนวทางการรักษาตับอักเสบ ประเทศไทย 2015
: Sleisenger, GI textbook 10th ed

10 กันยายน 2558

วัยทอง

  การเตรียมตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน พยายามหาว่าทำไมจึงมีการเรียกภาวะนี้ว่า วัยทอง แต่ไม่พบครับ วานผู้รู้ช่วยบอกกันด้วยนะ จริงๆแล้วคลินิกวัยทองส่วนมากจะอยู่ที่แผนกสูตินรีเวช แต่ก็มีอาการหลายๆอย่างที่คล้ายๆกับโรคทางอายุรกรรม และ ต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคทางอายุรกรรมในอนาคตได้เช่นกัน

ในช่วงวัยนี้เราแบ่งออกเป็นสองช่วงครับ ช่วงแรกเป็นช่วงเปลี่ยน เรียกใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ฮอร์โมนจะกระท่อนกระแท่น จากที่เคยสร้างและหลั่งฮอร์โมนเป๊ะๆ ก็สร้างมากบ้างน้อยบ้าง ประจำเดือนมาๆหยุดๆ มีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อย ออกร้อนออกเย็นตามตัว ช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ใช้เวลา 2 ถึง 4 ปี การวินิจฉัยนั้นมาจากประวัติประจำเดือนที่เริ่มไม่คงที่ มีอาการหงุดหงิด ร้อนหนาว ถ้าไปวัดฮอร์โมนเพศจะพบฮอร์โมนเพศหญิง estradiol เริ่มลดลง ถ้าอาการมากจนทนไม่ไหวก็จะให้ฮอร์โมนเพศชดเชยครับ
     ส่วนที่สองคือผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงแล้ว เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่แท้จริง ฮอร์โมนเพศทั้งสองตัวลดลงติดดินเลย ( estradiol และ estrone) ทำให้เกิดอาการ ร้อนๆหนาวๆ เจ็บแสบตามตัว เหงื่อออกมากบ้างน้อยบ้าง เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า vasomotor symptoms คืออาการเกิดจากการควบคุมหลอดเลือดและประสาทส่วนปลายบกพร่องไปครับ

    แต่อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นอันตรายจริงๆ คือ ภาวะกระดูกพรุน และเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นครับ หลายๆท่านก็บอกว่า จริงๆแล้วมันก็เป็นความเสื่อมตามธรรมชาตินะ ไม่รักษาก็ได้
      ทางการแพทย์ก็ได้มีการศึกษาทดลองจริงจังว่า โอเค..ท่านหมดฮอร์โมนนะทำให้เกิดปัญหา เอางี้ ลองใส่ฮอร์โมนกลับเข้าไปซิ ปัญหามันจะน้อยลงอย่างที่คาดไว้หรือเปล่า มีการศึกษาในสตรีวัยทองกว่า 27000 คนครับ ติดตามไป 5 ถึง 7 ปี เก็บข้อมูลคนที่ได้ฮอร์โมน และไม่ได้ จึงพบข้อมูลมากมาย และสิ่งที่ไม่คาดหวัง แต่ว่าเกิดขึ้น จนทางผู้ทดลองต้องหยุดการศึกษาทดลองคือ ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนนั้น ทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ และ โอกาสการเกิดอัมพาต เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในกลุ่มที่ได้ฮอร์โมน

    ข้อเท็จจริงที่พบมีดังนี้ครับ พบว่าถ้าท่านจะใช้ฮอร์โมนนั้นสิ่งที่ได้ประโยชน์ คือ อาการร้อนๆหนาวๆ จะลดลง ( ซึ่งยาตัวอื่นๆก็ลดได้นะครับ) และ โอกาสเกิดกระดูกหักจะลดลง 20-40% (เช่นกัน ยาอื่นๆก็ทำได้นะ) แต่โทษที่จะเกิดแน่ๆ คือโอกาสเกิดมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม ทั้งสองอย่างนี้มีโอกาสเกิดมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมน 24 % โอกาสเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน 3-5 เท่า และโอกาสการเกิดนิ่วถุงน้ำดี 60-90% ฟังดูอย่างนี้นี่ คิดหนักเหมือนกันนะครับ จะเอาฮอร์โมนดีไหม

    เอ้าลองฟังเพิ่มอีกนิด..แล้วไอ้โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มันลดลงไหมล่ะ คำตอบคือ ผลการศึกษาปัจจุบันยังไม่รับรองว่าจะลดความเสี่ยงครับ บางการศึกษาพบว่าเพิ่มความเสี่ยงด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น การเลือกใช้ฮอร์โมนในการรักษาอาการวัยทองนั้น ต้องพิจารณาอย่างดีเป็นรายๆไป คุยถึงข้อดีข้อเสียให้เรียบร้อยครับ แล้วถ้ารักษาด้วยฮอร์โมนก็จะต้องติดตามการรักษาสม่ำเสมอครับ แล้วถ้าอย่างนัั้น.. มันมียาอื่นๆลดอาการร้อนๆหนาวๆไหม คำตอบคือมีนะครับ ผลเสียน้อยกว่าฮอร์โมนด้วย เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า venlafazine , ยารักษาปลายประสาทอักเสบ pregabalin, วิตะมินอี เป็นต้น
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นครับ นี่คือภาวะเสื่อมของร่างกาย ไม่ได้เป็นโรค บางสิ่งบางอย่าง เราก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ครับ

08 กันยายน 2558

โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

"โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" โรคที่ยังอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ที่บอกแบบนี้เพราะว่า สาเหตุที่พบบ่อยมากๆ (จริงๆอยากเพิ่มไม้ยมกอีก 10 ไม้ แต่อย่าเลยส่งเสริมภาษาไทยดีกว่า) คือการสูบบุหรี่ครับ และคนไทยก็มีคนที่เป็นโรคนี้อีกมาก และรอคิวจะเป็นโรคนี้อีกมากเช่นกันครับ

แต่ก่อนเราชอบเรียกโรคนี้ว่าถุงลมโป่งพอง ซึ่งเป็นจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งมันเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังครับ รวมกันสองอันนี้ เรียกว่าหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มันจึงมีส่วนผสมทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง คือ ไอ มีเสมหะ หลอดลมตีบลง และมีส่วนผสมของถุงลมโป่งพองคือ พื้นที่แลกเปลี่ยนแก๊สลดลง เหนื่อยมากขึ้น ปอดขยับได้น้อย สุดท้ายอาการจะคล้ายๆ กับโรคหอบหืด และก็จะรักษาคล้ายๆกัน อ้าว...ถ้างั้นมันต่างกันอย่างไร

   โรคหอบหืดนั้น เวลากำเริบจะหนักมาก แต่ แล้วเมื่อหายจะกลับเหมือนเดิมเลย ( จริงๆแล้วก็ประมาณ 95-99%) ส่วนถุงลมโป่งพองจะมีความเสียหายถาวร ถึงแม้ช่วงปกติก็จะยังพบการตีบแคบของหลอดลมอยู่ตลอด
   โรคหอบหืดส่วนมากจะกำเริบโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนโรคถุงลมโป่งพองนั้นส่วนมากจะกำเริบจากการติดเชื้อที่หลอดลมครับ
โรคหอบหืดเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายตอบสนองผิดปกติ ทำให้หลอดลมไวมากต่อการกระตุ้น และเรื้อรัง ส่วนโรคถุงลมโป่งพองจะเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยสารระคายเคืองเป็นเวลานาน ทำให้ไปกระตุ้นการอักเสบของหลอดลม ตัวกระตุ้นนั้นคือ ควันบุหรี่ ไอเสีย ใยหิน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลากำเริบก็หอบมาก หายใจมีเสียงวี้ดๆ จนถึงหายใจล้มเหลวได้เช่นกัน
 
แนวทางการวินิจฉัยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังนั้น ในปัจจุบัน ต้องใช้ประวัติที่มีการสัมผัสสารกระตุ้นเรื้อรัง เช่นสูบบุหรี่ มีอาการเข้าได้ และ..และ ปัจจุบันตาม GOLD guidelinesที่เป็นมาตรฐานการรักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังทั่วโลก ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทำการตรวจสมรรถภาพปอดว่าเข้าได้กับ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เอาละสิที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำการทดสอบนี้เสียด้วย เพราะว่าเครื่องมือยังไม่แพร่หลาย และต้องการผู้ควบคุมที่มีประสบการณ์และผ่านการอบรมจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย

     การตรวจสมรรถภาพปอดนี้ ไม่ใช่การเป่าท่อสั้นๆที่เป็น peak flow นะครับ แต่มันจะเป็นเครื่องใหญ่ต่อกับคอมพิวเตอร์วัดทั้งแรงสูดและแรงเป่า วัดความจุปอด ค่าความเร็วลม รวมถึงมีการทดสอบใช้ยาพ่นขยายหลอดลมแล้วดูว่าตอบสนองต่อยาพ่นหรือไม่  ถ้ามีการตอบสนองดีก็ช่วยบอกว่าน่าจะเป็นหอบหืดมากกว่า ( FEV1/FVC < 70% , change in FEV1 or FVC lessthan 12% or 200 ml ) ในวงเล็บคือเกณฑ์ไม่ตอบสนองนะครับ

   แต่เนื่องจากเราไม่มีเครื่องวัดสมรรถภาพปอดทุกโรงพยาบาลดังนั้นการใช้อาการยังสามารถวินิจฉัยได้ดี มีการศึกษาทำในสวีเดนตีพิมพ์ในวารสาร respiratory medicine เดือนเมษายน ปี 2010 แสดงให้เห็นว่า ประมาณ หนึ่งในสามของผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจสมรรถภาพปอด แต่ก็สามารถรักษาได้ดีเหมือนเดิม แต่การตรวจยังจำเป็นเพื่อแยกโรคอื่นๆออกไปครับ ในความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าทำได้ควรตรวจสมรรถภาพปอดทุกรายครับ 0แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นข้อโต้แย้งว่าจะไม่รักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังนี้ครับ


   ส่วนการรักษานั้นหลักๆเลยคือต้องเอาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคออกไปก่อน คือหยุดสูบบุหรี่ครับ อันนี้สำคัญมากๆ ถ้าไม่ทำไม่หาย การใช้ยาพ่นเป็นลำดับขั้นตอน ค่อยๆปรับขึ้นตามระยะของโรค ( ส่วนโรคหอบหืดเราจะให้ยามากๆก่อน แล้วค่อยปรับลดลงครับ ) เพื่อลดการกำเริบและ รักษาคุณภาพชีวิตที่ดี สังเกตว่าเป้าหมายการรักษาไม่ใช่ "หายขาด" นะครับ และต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพปอดที่ดี วิธีแกว่งแขนที่ฮิตๆกัน ก็ใช้ได้นะครับ และต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีครับ

มีทั้งวิชาการ และการประยุกต์ ค่อยๆเรียนกันไปนะครับ เป็นสาระที่เพลิดเพลิน ไม่เบื่อ และ ไม่สะเปะสะปะจนเกินไป ข้อมูลทั้งหมดมาจาก GOLD guidelines 2011 ครับ สามารถดาวน์โหลดตัวเอกสาร แผ่นพับ สื่อการสอนต่างๆได้ฟรีครับ ที่ www.goldcopd.org
พรุ่งนี้ครบรอบ สามเดือน ที่เปิดเพจมา แฟนเตรียมตัวนะครับ พรุ่งนี้เจอกัน
เครดิตภาพ www.globalasthmareport.org

07 กันยายน 2558

แนวทางการรักษา และจัดกลุ่ม หลอดเลือดหัวใจตีบแบบ NSTEMI ของ ESC 2015

สวัสดีครับทุกท่าน เรากลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากผมหนีไปพักมาสามวัน ไอเดียพุ่ง ชนกัน ทะลักเลย กลับมาประจำการตามเดิมครับ เริ่มต้นเบาๆ เช้าวันจันทร์นี้ NSTE-MI guidelines

   คิดอยู่นานว่าไอ้เจ้า แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ที่เพิ่งตีพิมพ์และวิจารณ์กันสดๆร้อนๆที่ประชุม โรคหัวใจยุโรปเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมจะเอามาอธิบายท่าน ดีหรือไม่ ยากไปไหม แต่สุดท้าย ด้วยสิ่งที่เปลี่ยนไปมากจริงๆ และกระทบต่อท่านๆทั้งหมด ผมขอพูดง่ายๆที่สุด เนื้อๆที่สุด และง่ายๆที่สุด เพื่อท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการ (เอ้ยย ยังกะดารา) ได้เข้าใจด้วยครับ

อย่างนี้ก่อน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ใครๆก็ทราบแล้วว่าด่วนมาก ยิ่งถ้าตีบแบบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมากๆ ( ST elevation MI) ก็จะด่วนมากมีทางด่วน ทางไปกันมากมาย สิทธิการรักษาเบิกได้หมด ห้องสวนหัวใจผุดขึ้นเพียบ รองรับเทคโนโลยีตรงนี้  แต่ว่าถ้ามันไม่เป็นแบบด่วนสุดๆล่ะ  ( NON-ST elevation MI) เดิมเราจะมีเวลารอ มีเวลาคิด แต่ตอนนี้ การศึกษาบอกว่าต้องรอให้น้อยลง แบ่งกลุ่มคนเร่งด่วนให้มากชึ้น เพื่อให้การรักษาด่วนมากขึ้น ช่วยชีวิตได้ดีขึ้น เราเร็วขึ้น ดีขึ้นอย่างนี้ครับ

1. วินิจฉัยเร็วขึ้น ในฝันเลยนะ เรียก 1 hour protocol คือวินิจฉัยได้เร็ว และแม่นยำในชั่วโมงแรก โดยใช้การตรวจเลือด high sensitive troponin ไอ้เจ้าเลือดตัวนี้ ไวมากครับ ตรวจง่าย ตรวจซ้ำสองครั้งดูการเปลี่ยนแปลงนี่...แยกด่วน ไม่ด่วน ได้เลย อนาคตจะเป็นแบบตรวจปลายนิ้ว เร็วมาก จิ้มจึ๊ก รู้ทันที และอาจพัฒนาไปอยู่ที่รถฉุกเฉิน สนามบิน และ..และ..อันนี้ส่วนตัวครับ ที่เซเว่น

2. ให้ความใส่ใจกับเรื่องของผลข้างเคียงของการรักษามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเลือดออกจากการรักษา มีการแจกแจงแนวทาง การจัดกลุ่มคนที่จะมีเลือดออก มาก หรือ น้อย ควรใช้ยากี่ชนิด แต่ละชนิดใช้เวลาเท่าไร มีการป้องกันและรักษาชัดเจน เพื่อความปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

3. อันนี้ ไฮไลต์ เรื่องการไปทำการสวนหัวใจ บอกเลยว่าถ้าเสี่ยงสูง เราจะไม่รอแล้วนะ เดิมนั้นเรามีเวลารอ ได้ 72 ชั่วโมง หรือถ้าแพทย์เห็นว่าด่วนก็ไปทำก่อนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจ  แต่แนวทางอันนี้ ชี้ชัดเลยว่า เสี่ยงสูงมากต้องทำเลยนะ ในสองชั่วโมง ถ้าเสี่ยงมากต้องทำในวันนั้นเลย ถ้าเสี่ยงปานกลาง ก็ควรทำใน 72 ชั่วโมง บอกเลยว่าปัจจัยใดที่เรียกเสี่ยงสูง ปัจจัยใดเรียกเสี่ยงมาก และแนะนำว่าต้องส่งไปที่ห้องสวนหัวใจเร็วขึ้นมากๆๆ

4. ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด มีผลการศึกษา ที่ชัดเจนมาบอกว่า ควรใช้ยาตัวใด ก่อนหน้านี้ผลการศึกษายังไม่ชัดเจน แต่อันนี้ชัดแล้วครับ ยาที่ใช้ปกป้องหัวใจ ปรับเกณฑ์เป็น ต้องให้ --ต้องให้นะครับ หลายๆตัว บอกเป็น class Ia คือ ต้องทำ เนื่องจากมีประโยชน์ มีผลการศึกษาที่ดีมาก จำนวนมากรองรับครับ

ผมจะสรุปง่ายๆว่า ตอนนี้ถ้าท่านเกิดเจ็บอก แล้วควรรีบแยกโรคเส้นเลือดหัวใจตีบโดยเร็ว และ ไม่ว่าท่านจะตีบแบบใด ตอนนี้เราอยากให้ท่านเข้าสวนหัวใจเร็วขึ้น จนถึงเร็วที่สุด และ การกระทำต่างๆเหล่านี้ ปลอดภัยมากขึ้น มีผลการศึกษารองรับมากขึ้น สรุปได้ชัดเจนขึ้นครับ แต่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการของประเทศไทยนั้น  อาจต้องรอถึงทรัพยากรและความคุ้มทุนของประเทศเราก่อนครับ
ลิงค์ http://www.escardio.org/…/Acute-Coronary-Syndromes-ACS-in-p…
ถ้าท่านอาจารย์ท่านใดอ่านอยู่ เห็นต่างใดๆ ก็เชิญให้ความเห็นได้ครับ ( ผมว่าท่านอาจารย์บัญชา ต้องอ่านแน่ๆ)

03 กันยายน 2558

5 สิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับ ครีมกันแดด

5 สิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับ ครีมกันแดด

    นี่คือสารชลอความแก่โดยแท้ครับและช่วยลดการเกิดมะเร็งผิวหนังด้วย  บทความนี้สรุปมาจาก "fact and fiction about antiaging" ของ อ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน ใน common problems of internal medicineโดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ

1. สารกันแดด มี 3 แบบ อย่างแรกเป็นสารเคมี ดูดซับคลื่น UV แล้วเปลี่ยนเป็นรังสีความร้อนออกมา เดิมป้องกันได้แต่ UVB แต่ตอนนี้บังคับให้ป้องกัน UVA ด้วยจึงต้องใช้สารเคมีหลายตัว อย่างที่สองเป็นสารสะท้อนรังสี เดิมไม่ค่อยนิยมเพราะมันสะท้อนแสง แต่ตอนนี้ปรับให้ไม่สะท้อนและป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB อย่างสุดท้ายคือ tanning sunscreen ใช้ทำผิวเป็นสีน้ำผึงครับ ส่วนชื่อสารเคมี..ช่างมันเนอะครับ

2. ค่า SPF (sun protection factor) เป็นหน่วยวัดเทียบแสงที่ทำให้ผิวแดง ระหว่างคนทาครีม กับไม่ทาครีม ว่าต่างกันเท่าไร พูดแปลง่ายๆคือ ถ้า SPF สูง ก็ป้องกันผิวไหม้แดงได้มากขึ้น ทั่วๆไป SPF 15 ก็พอ ---อ๊ะๆๆ ค่า SPF นี้วัดมาจากห้องทดลองนะครับ พอใช้กับแสงแดดจริง SPF 15 เหลือแค่ 7-12 ส่วน SPF 45 เหลือ 11-30

3. กันน้ำ มีการทดสอบโดยทาครีมแล้วแช่น้ำ whirlpool jacuzzi 20 นาที ขึ้นมา 20 นาทีแล้ววัด SPF ลงไปจุ่มน้ำ 20นาที แล้วขึ้นมาวัด SPF อีกรอบ ถ้ารับรองกันน้ำ SPF ต้องลดลงไม่เกิน 50 % ครับ ส่วนถ้าได้รับรอง very water resistance อันนี้ทดสอบจุ่มน้ำ 4 รอบนะครับ

4. ค่า PA++ ค่านี้เราใช้วัดประสิทธิภาพการป้องกัน UVA เดิมนั้นเราคิดว่า UVB เท่านั้นที่ทำให้เป็นมะเร็ง แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่า UVA ก็ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังโดยเฉพาะ melanoma จึงต้องป้องกัน UVA ด้วย ประสิทธิภาพการป้องกัน UVA นี้ยิ่งมากยิ่งป้องกันผิวคล้ำได้ดี (UVB ใช้ค่า SPF ที่บอกการป้องกันผิวไหม้) กำหนดค่าโดย Japaneae Cosmatics Industry Associations บอกว่า
PA+      ป้องกัน UVA 2-4 เท่า (มากกว่า คือ มากกว่า ไม่ป้องกัน)
PA++    ป้องกัน UVA 4-8 เท่า
PA+++ ป้องกัน UVA มากกว่า 8 เท่า

5. การทาครีมนี่ สำคัญมากนะครับ เมืองนอกมีอาชีพรับจ้างทาครีมด้วยนะ   แอดมินเองพักร้อนเมื่อไรจะไปหาลำไพ่  รับจ้างทาครีมสาวๆเหมือนกัน-- มันต้องมีศาสตร์ ถึงทำถูก-- อิอิอิ
   การศึกษาเขาทาครีมหนา 2 มิลลิกรัมต่อพื้นที่หนึ่งตารางเซนติเมตร แต่ในชีวิตจริงทากันบางกว่านั้นครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ SPF ลดลง 20-50% เลยนะครับ ทางผู้ผลิตเขาเลยผลิตครีมที่ SPF สูงๆออกมา เพราะเราทาครีมบาง และ พอโดนแสงแดดธรรมชาติ ค่า SPF จากห้องทดลองมันจะลดลงครับ
   ศิลปะการทาครีมก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะกายวิภาคของคนเรามีร่องผิวหนัง ส่วนนูน ส่วนเว้าแตกต่างกัน ครีมมักจะไปกองกันอยู่ตรงร่องผิวหนัง ส่วนที่นูนๆ ตึงๆ ก็มักจะถูกทาบางลงก็เลยแนะนำทาให้ทั่ว และทาซ้ำทุกสองชั่วโมงครับ -- เข้าทางแอดมินเลย ทาบ่อยๆ เน้นส่วนนูนส่วนตึง พวกเหี่ยวๆ ทาครั้งเดียวพอ ---

จบบทความนี้ทุกท่านคงซึ้งแล้วว่า การแพทย์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

02 กันยายน 2558

โรคฮีโมฟิเลีย

วันนี้ผมจะพาไปรู้จักโรคเลือด ที่มีชื่อเรียกว่า Royal disease ทำไมถึงชื่อนี้ ก็เพราะพบโรคนี้ในราชวงศ์ของยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งอังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย สเปน ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัยนั้นเขาเป็นพันธมิตรโดยการ "ดอง"กัน คือแต่งงานข้ามชาติ เพื่อผูกมิตรเป็นสุวรรณปฐพีกัน ไม่รุกรานกัน ช่วยเหลือในทางเศรษฐกิจ จึงทำให้โรคที่เกิดจากพันธุกรรมด้อย แสดงออกมาอย่างเด่นชัด เพราะส่วนมากก็เป็นญาติๆกันเอง โรคนี้ดังที่สุดที่รัสเซีย กับเจ้าชาย Alexei Nikolaevich พระราชโอรสของกษัตริย์ซาร์ นิโคลัสที่สอง ที่เป็นเหตุให้เจ้าหมอผี รัสปูติน เข้ามารักษาเจ้าชาย และ ยึดอำนาจใหญ่ในวัง สุดท้ายราชวงศ์รัสเซียก็...... 

   โรคนั้นคือโรค ฮีโมฟิเลีย Hemophillia โรคนี้เป็นแต่ในผู้ชายครับ มีรายงานตั้งแต่ศตวรรษที่สอง พบเด็กที่ทำการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศแล้วเลือดออกจนเสียชีวิต เหตูเพราะมันถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ X คือผู้หญิงมี X สองตัวน่ะครับ ต้องแย่ทั้งสองตัวซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้ชายมี X แค่ตัวเดียว เสียตัวนี้ไป เป็นฮีโมฟิเลียเลย
โรคนี้จะเกิดสารเร่งการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อว่า แฟกเตอร์ 8 (ฮีโมฟิเลีย A) ไม่สร้างหรือสร้างน้อยมาก จนถ้ามีเลือดออก เลือดก็ไม่แข็ง ออกจนเสียชีวิต (แต่ถ้าขาดแฟกเตอร์ 9 เราเรียก ฮีโมฟิเลีย B) หรือบางที เลือดออกเองครับ คือแบบว่าแค่เดิน ข้อเข่าก็เลือดออกแล้ว เราพบเลือดออกในข้อเข่านี้ เป็นอาการที่พบบ่อยมากๆครับ เพราะเดินตลอด เด็กหกล้มหกลุก เข่าบวม ศอกบวม จ้ำเลือด ก็มักจะวินิจฉัยได้ตั้งแต่วัยตั้งไข่ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงก็จะมาแสดงตอนวัยเรียน เริ่มเล่นพละ ทะเลาะกับเพื่อน

เ  รารักษาโดยการให้สารที่มี แฟกเตอร์ 8 หรือ แฟกเตอร์ 9 เข้มข้น เช่น แฟกเตอร์ 8 บริสุทธิ์แบบกึ่งสำเร็จรูป เป็นผงพร้อมละลายฉีด หรือ ให้น้ำเลือดที่เรียกว่า FFP หรือ cryoprecipitate ที่มีแฟกเตอร์พวกนั้นมากๆ ก็จะหยุดเลือดได้ แต่ต้องให้เร็วๆนะครับ ให้ช้าเกินไป สารการแข็งตัว 1 2 5 7 10 ก็จะหายไปด้วย คราวนี้งานเข้าแน่ๆ ต้องใช้เลือด มหาศาลเลย -- การให้เลือดปริมาณมากๆและบ่อยๆ นี่แหละครับที่เป็นปัญหา แพ้เลือด สร้างสารมาต่อต้านเลือด ติดเชื้อจากการให้เลือด สารอื่นๆที่ไม่จำเป็นก็จะเกิน หรือหัวใจวายถ้าให้มากเกินไป เพราะเลือดออกทีก็ให้ทีนึง ยังไม่พบชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุ "กระตุ้น" ให้เกิดเลือดออก 

  เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรมที่คาดเดาได้ชัดเจน อายุรแพทย์จะถามประวัติญาติของท่านทุกคนเรียกว่าการทำ "พงศาวลี" เพื่อตรวจหาว่าใครเสี่ยงที่เป็นโรค และหญิงคนใดที่เป็นพาหะนำโรค เพื่อให้คำแนะนำก่อนแต่งงานต่อไป ผมนำภาพพงศาวลี ของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักร ที่เป็นต้นพาหะจอง hemophillia B -- the royal disease-- เอามาให้ดูครับ

รู้ไหมครับว่ารัสปูตินรักษาเจ้าชายอเล็กไซ แห่งโรมานอฟอย่างไร... เขาสะกดจิตอเล็กไซให้อยู่เฉยๆครับ เมื่อไม่วิ่งไปมา ทำอะไรช้าๆ เลือดก็ไม่ออกนั่นเอง..
เครดิตภาพ : www.englishmonarchs.co.uk

01 กันยายน 2558

เบาหวานจากการตั้งครรภ์

เบาหวานจากการตั้งครรภ์

  gestational diabetes เป็นเรื่องหนึ่งที่น่ารู้ครับ คิดว่าจะได้ประโยชน์กันในวงกว้างแน่นอน ผมคงไม่ได้มาแจกแจงการรักษาทั้งหมด และทำเหมือนเรื่องย่อนะครับ ให้ได้รู้จักกัน

ทำไมคนท้องถึงจะเป็นเบาหวาน -- เพราะว่าในช่วงท้องนั้น ร่างกายเราจะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนที่สร้างเพื่อควบคุมน้ำตาล ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ น้ำตาลเลยไม่ลง

โอ้วว--เกิดบ่อยไหมล่ะหมอ-- การศึกษาในประเทศไทยที่ รพ ราชวิถี พบ 2.1 % ของคนท้อง

แล้วฉันจะเสี่ยงไหม ต้องตรวจไหม-- ปัจจุบันคำแนะนำของ american diabetes association แนะนำให้คนท้องตรวจคัดกรอง ทุกคนนะครับ‬ ยกเว้นเสี่ยงต่ำมากๆ คือ อายุน้อยกว่า 25 ไม่เคยตั้งครรภ์ผิดปกติ ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว โดยตรวจเลย ถ้าเสี่ยงสูง แต่ถ้าปกติให้ตรวจซ้ำที่เวลา 24-28 สัปดาห์‬‬‬‬‬‬

ตรวจยังไง-- งี้ครับ งดอาหารมา 6 ชั่วโมงมาตรวจน้ำตาล ตรวจเสร็จก็จะได้ดื่มน้ำหวานที่มีน้ำตาล 75 กรัม แล้วรอเจาะเลือดซ้ำที่ 1 และ 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาล ค่าที่ได้ไม่ควรสูงกว่า 92,180,153 ผิดไปอันใดอันหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน ( HAPO study)

ไม่ตรวจได้ไหมหมอ..กลัวเข็ม-- อืออ อย่าเลย ตรวจเหอะ ถ้าเป็นเบาหวาน อาจเกิดครรภ์เป็นพิษ น้ำคร่ำมากเกิน หรือติดเชื้อง่าย ส่วนลูก ก็อาจแท้ง หรือเกิดความผิดปกติที่กระดูกช่วงล่างของร่างกายไม่เจริญ‬ (caudal regression syndrome) พูดง่ายๆ ไม่มีขา ไม่มีสันหลังน่ะครับ‬‬‬‬‬‬

หยึย..น่ากลัว ตรวจดีกว่า..โอ เป็นเบาหวาน ทำไงหมอ --- ใจร่มๆครับ ให้ควบคุมอาหาร ซึ่ง‎ต้องสมดุลกันคุมมากเด็กไม่โตคุมน้อยเบาหวานไม่ลง‬ ต้องมาวางโปรแกรมอาหาร วัดน้ำหนักทุกเดือน ประมาณ 32 กิโลแคลอรี่ต่อวัน มีอาหารว่าง. สัดส่วน โปรตีน 20 แป้ง 50 ไขมัน 30 เอ่ออ เดี๋ยวหมออายุรกรรมเขาคำนวณให้ครับ รวมๆน้ำหนักขึ้นประมาณ 8-10 กิโลกรัม กำลังดี‬‬‬‬‬‬

ต้องใช้ยาไหม--ถ้าคุมอาหารแล้วไม่ลงก็ฉีดยาอินซูลิน และเจาะน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้านเพื่อปรับยาครับ ยากินหลายชนิดเด็กอาจพิการ ยากินหลายชนิดข้ามรกไปหาลูก ลูกเลยน้ำตาลต่ำแทน ตอนนี้ฉีดยาเซฟสุด รักษาน้ำตาลก่อนอาหารไม่เกิน 95 รักษาระดับน้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 120

ต้องผ่าไหมล่ะหมอขาาา--- เอ่อ ผมเป็นหมอเมด ไม่ใช่หมอขา (ไม่ได้รักษาขา) การผ่าตัดก็ขึ้นกับเงื่อนไขทางสูติกรรมครับ ‎การเป็นเบาหวานไม่ได้บังคับว่าต้องผ่า‬ เพียงแต่ต้องให้อายุรแพทย์มาช่วยควบคุมน้ำตาลช่วงคลอดครับ และต้องติดตามระดับน้ำตาลในลูกน้อยด้วย‬‬‬‬‬‬

คลอดแล้ว..เบาหวานจะหายไหมคะ --- โดยทั่วไปก็มักจะเป็นปกติใน 6 สัปดาห์ครับ แต่ควรติดตามไปจนหนึ่งปีหลังคลอด โอกาสการเกิดเบาหวานหลังจากจบการตั้งครรภ์ อยู่ที่ 7.49 เท่ามากกว่าหญิงทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวานขณะท้องครับ

พอเห็นภาพนะครับ ข้อมูลมาจาก ADA 2015, review DM#2 after GDM ใน Lancet 2009;373, HAPO ใน new England 2008, GDM ของ อ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ใน ตำราอายุรศาสตร์สัญจร ราชวิทยาลัยฯ