ท่านอาจเคยสงสัยว่าตัวเองสมองเสื่อม หรือญาติผู้ใหญ่สมองเสื่อมหรือไม่ เพียงเพราะหลงลืม เพียงเพราะเหนื่อยเพลีย แต่จริงๆแล้วเรามีเกณฑ์คร่าวๆในการคิด ส่วนรายละเอียดเรื่อง การทำข้อสอบดูโรคสมองเสื่อม การทำ MRI ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเขาว่ากันไปครับ ที่อยากมาแนะนำเพื่อจะได้เข้าใจถูกและ ไม่เครียดว่าคนรอบข้างเป็นหรือไม่
ความผิดปกติ 6 แบบนี้ อาจมีทั้งหมดหรือไม่ก็ได้ และอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันนะครับ
1.ความใส่ใจเชิงซ้อน ความสนใจสิ่งรอบตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดสมาธิ หรือ ใส่ใจทำสองสิ่งได้พร้อมๆกัน เช่น อ่านหนังสือพิมพ์จนจบเรื่อง หรือสามารถอ่านหนังสือและต้มมาม่าไปด้วย โดยมาม่าก็อร่อย หนังสือก็รู้เรื่อง (อันนี้นักศึกษาแพทย์ ทำได้ดี)
2.หน้าที่ในการจัดการบริหาร การเรียงลำดับการตัดสินใจ การแก้ปัญหา การยืดหยุ่นในการคิด เช่น เวลาต่อแถวรดกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม แล้วปรากฏว่าลืมกระเป๋าเงินมา ถ้าคนทั่วไป คงออกมาจากแถวให้คนอื่นกดก่อน ตัวเองก็กลับไปหยิบกระเป๋ามากดใหม่ แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ก็จะยืนอยู่ในแถว เงอะเงิ่น ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
3.การเรียนรู้และการจำ อันนี้เป็นการเสื่อมอย่างแรกๆเลยของอัลไซเมอร์ครับ ถามซ้ำคำถามเดิมบ่อยๆ เพราะจำไม่ได้ (อันนี้ต้องแยกจาก หูตึง และ กวน..นะครับ) จำไม่ได้ว่ามาเข้าห้องน้ำนี่ มาทำอะไร จำไม่ได้ว่าเปิดเตาแก๊สทำไม คือ ต้องลืมแบบนี้นะครับ พวกลืมเอาโทรศัพท์มา ลืมหยิบของมา ลืมคืนเงินให้เจ้าหนี้ พวกนี้ไม่ใช่สมองเสื่อมนะครับ
หรือไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ซื้อเครื่องซักผ้าตัวใหม่มา ใช้ยังไงก็ไม่ได้ แต่ถ้าตัวเก่าจะใช้ได้ดี อย่างนี้เป็นต้นครับ
แต่ถ้าชอบสิ่งใหม่ๆ เช่น เมียใหม่ กิ๊กใหม่ อันนี้อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่า อัลไซเมอร์นะครับ
4.การใช้ภาษา การพูดการจา ไม่คล่องแคล่ว คิดนาน ติดขัด บางทีนึกไม่ทัน เช่นเห็นตู้ไปรษณีย์ ก็พูดคำนี้ไม่ออก ก็จะบอกว่า..ไอ้นั่น..ไอ้นั่นน่ะ ซ้ำๆกันอยู่แบบนี้ หรือ พูดรูปประโยคไม่ครบถ้วน ภาษาไม่เหมาะสม ไมมีประธาน กริยา หรือ กรรม
บางคนก็มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง
ส่วนมากจะบกพร่องกับการพูดมากกว่าเขียนครับ
5.การรับรู้ภาพที่เห็น เช่น เห็นนาฬิกา แต่ไม่รู้ว่าใช้ดูเวลา และบอกเวลาไม่ได้ วาดตามสิ่งที่เห็นไม่ได้ การสื่อสารของการมอง..การแปลภาพ..การนำไปใช้บกพร่อง หรืออีกตัวอย่างคือ ไม่เข้าใจป้ายจราจร
ต้องแยกจากปัญหาสายตาด้วยนะครับ
6.การรู้คิดทางสังคม เช่น การพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ หรือ การสนทนาเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ใส่ชุดว่ายน้ำไปเดินพารากอน หรือ เห็นคนทุกข์มากๆแล้วหัวเราะใส่เขา เป็นต้น
ความผิดปกติระดับนี้มักจะพบในระยะปลายๆของโรค เป็นปัญหาของผู้ดูแลมาก และสุดท้ายผู้ป่วยก็จะมีโลกส่วนตัวของตัวเองไป
สุดท้ายแล้วความบกพร่องทั้งหมดต้องทำให้สูญเสียหน้าที่ของตัวเองและสังคมไป จึง ถือว่าเป็นโรคครับ
ที่มา : บทความของ อ. วรพรรณ เสนาณรงค์ ใน อายุรศาสตร์ทันยุค
2557
WHO, demantia 2012
สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น