07 สิงหาคม 2558

โรคแพ้ภูมิตัวเอง แอสแอลอี

โรคแพ้ภูมิตัวเอง เอสแอลอี

   โรคเอสแอลอี SLE หลายๆคนไม่รู้จักโรคนี้ในชื่อ SLE แต่รู้จักในชื่อ ‎โรคพุ่มพวง‬ เนื่องจากอดีตราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ป่วยเป็นโรคนี้และจากไปด้วยโรคนี้เช่นกัน โรคแอสแอลอีนี้เป็นตัวอย่างการเรียนอายุรศาสตร์ที่ดีมากเนื่องจากมีอาการได้ทุกระบบ ทั้งตัว มีทั้งอาการรุนแรง อาการเล็กน้อย มีความซับซ้อนในการรักษา จนมีคำพูดว่า to know SLE is to know medicine คุณเรียนรู้เอสแอลอี ก็เท่ากับคุณได้เรียนอายุรศาสตร์‬‬

  โรค SLE นี้เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวเองเกิดการสับสน แทนที่จะทำลายสิ่งแปลกปลอม กลับมองเห็นร่างกายตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัด จึงเกิดการกัดกร่อนทำลายอวัยวะต่างๆ มากบ้างน้อยบาง ความบกพร่องนี้เป็นการเรียนรู้สิ่งแปลกปลอมของร่างกายที่ ไม่เข้าเรียนบ้าง ครูสอนไม่ดีบ้าง จึงเกิดเป็นภูมิที่ไม่ค่อยดี ค่อยๆทำลายตัวเองและเจ้าภูมิคุ้มกันเกเรๆนี้ก็ออกลูกหลานมา ก็สอนลูกหลานเหมือนที่ตัวเองรู้ มันจึงบกพร่องออกลูกหลานไปเรื่อยๆครับ สักวันหนึ่งรวบรวมกำลังพลได้มาก ก็จะเปิดฉากโจมตีร่างกายตัวเอง 
 
    อาการของโรค SLE มีหลากหลายมากครับ แต่ที่พบมากและเป็นอาการที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดคือ อาการและอาการแสดงทางผิวหนังครับ ผื่นที่ชวนให้คิดถึงโรคนี้ก็จะเป็นอย่างในภาพ เป็นผื่นแดงที่แก้ม ข้างจมูก ใต้ตา แต่จะไม่ข้ามเส้นที่ลากจากปีกจมูกมาที่มุมปาก ( nasolabial fold) ที่เห็นแล้วคิดถึงโรค SLE
    อาการของ SLE นั้นขึ้นกับว่าภูมิคุ้มกันนัันไปโจมตีร่างกายจุดใด เช่นไปโจมตีเม็ดเลือด ก็จะมีอาการซีดจางจากเม็ดเลือดแตกสลาย ไปโจมตีหน่วยกรองของไตก็จะมีอาการบวม ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นฟอง ไปโจมตีสมองก็จะชักเกร็ง หรือ คลุ้มคลั่งคล้ายคนเสียสติ หรือบางทีโจมตีพร้อมๆกันหลายอวัยวะก็จะเกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวพร้อมๆกันได้ครับ ภาวะนี้น่ากลัวมากครับเวลาผู้ป่วยโรคนี้กำเริบในทุกๆอวัยวะพร้อมๆกัน ต้องรักษาเร็วรักษาแรง จึงจะรอดครับ คุณพุ่มพวงก็เกิดเหตุแบบนี้นะครับ ดังนั้นเกณฑ์การวินิจฉัย SLE จึงใช้อาการต่างๆ หรือผลการตรวจเลือดในระบบต่างๆร่วมกัน (เนื่องจากเป็นโรคที่หลากหลายมาก) ในเกณฑ์ 4 ข้อ จาก 11 ข้อครับ เห็นไหมครับ ถ้ารู้โรคนี้โรคเดียวแทบจะจบวุฒิบัตรอายุรศาสตร์เลย รายละเอียดผมไม่ลงลึกนะครับ

    การรักษาและการดำเนินโรคนัั้น หลากหลายพอๆกับอาการเลยเนื่องจากรุนแรงมากน้อยต่างกัน โดยกลุ่มที่ไม่รุนแรงอาจใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาต้านมาเลเรีย chloroquine --ใช่แล้ว ท่านอ่านไม่ผิดครับ ยาต้านมาเลเรีย-- แล้วค่อยๆปรับยาตามอาการ แต่ถ้าท่านตกอยู่ในกลุ่มรุนแรงคือ อันตรายต่อชีวิต เป็นหลายๆอวัยวะ ระบบเลือด ระบบไต ระบบสมอง พวกนี้คงต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ในขนาดสูง แล้วค่อยๆปรับลดยาลง หรืออาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันแบบแรงร่วมด้วย เช่น เอนด็อกแซน ( cyclophosphomide)
     เช่นกินยาเม็ด prednisolone 12เม็ดแล้วปรับลดลงเป็นต้น. ปัจจุบันมียาใหม่ในการรักษา เพิ่งออกมาในปี 2011 คือ belimumab หวังผลไปทำลายเฉพาะภูมิคุ้มกันที่เกเร ซึ่งเป็นยาสังเคราะห์จากโมเลกุลมนุษย์เรา แต่พอออกมาจริงๆใช้จริง ผลกลับไม่ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด ใช้ได้ในบางกรณีเท่านัั้น

   โรคนี้ใช้เวลาในการปรับยากว่าโรคจะสงบ และบางครั้งก็กำเริบบ่อยๆ จึงต้องติดตามการรักษาต่อเนื่อง อีกประการที่สำคัญคือการรักษาโรคมันคือการไปกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งยาไปกดทั้งตัวที่ดีและตัวที่เกเร เมื่อไปกดตัวที่ดีก็เท่ากับทำให้มันทำหน้าที่ตัวเองบกพร่อง เราจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายมากและรุนแรง‬ จึงต้องระมัดระวังการกินให้สะอาดครับ‬

เนื้อหายาวไปเล็กน้อยแต่เพื่อให้เข้าใจและครอบคลุมครับ ศุกร์สดใสนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น