05 สิงหาคม 2558

หลอดเลือดแดงในสมองแตก

หลอดเลือดแดงในสมองแตก

เส้นเลือดในสมองแตก...ไม่กี่วันมานี้ท่านคงได้ยินข่าวอดีตนักร้องเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองแตก หลังจากนั้นก็มีบทความส่งกันมามากมายถึงวิธีการปฐมพยาบาลแปลกๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่เราอาจเข้าใจผิด ผมขอเป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่า

   เส้นเลือดฝอยในสมองแตกนั้นว่ากันจริงๆ เป็นอุบัติเหตุโดยแท้ครับคือคาดเดาไม่ได้ รู้แต่ว่าเสี่ยง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ เมื่อใด เรารู้แต่วิธีลดความเสี่ยงครับ และเมื่อเกิดเหตุจริงๆแล้วเราแยกยากมากครับว่าเป็นเส้นเลือดตีบหรือแตก โดยเฉพาะตีบน้อยๆหรือแตกน้อยๆนี้ แทบแยกไม่ได้เลย ในกลุ่มคุณหมอที่เจอปัญหานี้บ่อยๆ เช่น หมอห้องฉุกเฉิน อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ระบบประสาท ศัลยแพทย์ระบบประสาท อาจใช้ประวัติที่ดี ซักถี่ถ้วนในการแยกโรค  
     แต่ในชีวิตจริงมันมีข้อจำกัดคือเราต้องแยกเส้นเลือดตีบเฉียบพลันออกโดยเร็ว โดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อรีบรักษาอยู่แล้ว จึงทำให้เราได้แยกเส้นเลือดแตกได้โดยปริยาย ซึ่งวิธีแยกก็ถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ธรรมดาก็แยกได้ครับ

   โดยทั่วไปนั้นการรักษาเส้นเลือดแตกนั้นใช้การรักษาทางศัลยกรรมเป็นหลัก ทั้งการเปิดกระโหลกระบายความดัน เอาก้อนเลือดออก ใส่ท่อระบาย ใส่ขดลวดเข้าไปในจุดโป่งขยาย หรือในผู้ป่วยที่เป็นไม่มากอาจสังเกตอาการดูก่อนได้ การรักษาทางอายุรกรรมจะเป็นการประคับประคองครับ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความดัน น้ำตาล เกลือแร่ รักษาการสูดสำลักลงปอด แต่บทบาทของการรักษาทางอายุรกรรมจะเกิดก่อนหน้านี้ คือบทบาทของการป้องกันครับ
   ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของโรคหลอดเลือดสมองนั้น (ทั้งตีบและแตก) จะคล้ายๆกับโรคหลอดเลือดอื่นๆทั่วๆไป คือ อายุมาก เพศชาย สูบบุหรี่ โรคไตเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ ประวัติครอบครัว

    ในส่วนของโรคหลอดเลือดสมองนั้นที่อยากเพิ่มเป็นพิเศษคือ การควบคุมความดันโลหิตครับ โดยถ้าเราลดความดันโลหิตสูง ลดลงมาได้ 2 มิลลิเมตรปรอท ประมาณว่าเราจะลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 10 % ครับ ต่างจากหลอดเลือดหัวใจที่ไขมันเป็นตัวสำคัญมากกว่า การควบคุมความดันให้ไม่เกิน 140/90 เป็นสิ่งสำคัญครับ ไม่ได้หมายความว่าอย่างอื่นไม่สำคัญนะครับ การควบคุมน้ำตาลเฉลี่ย HbA1c ตามเกณฑ์ คุมระดับไขมันตามความเสี่ยง การควบคุมเพื่อปัองกันโรคที่จะเกิด (ตอนนี้ ยังไม่เกิด) อาจไม่มีผลมากนัก แต่การควบคุมโรคที่เกิดแล้วไม่ให้เกิดซ้ำสองนั้นมีประโยชน์มากทีเดียวครับ
      เราไม่ต้องไปตรวจภาพรังสีกันนะครับ อย่าตื่นกลัวเกินไป มีแค่กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องตรวจสอบและรักษาก่อนที่เส้นจะแตก เช่น โรคไตเป็นซิสต์จำนวนมากที่เคยมีญาติเป็นและแตกมาก่อน โรคหลอดเลือด fibromuscular dysplasia เพื่อแพทย์จะตรวจพบและใส่ขดลวดค้ำยันเอาไว้ครับ

อย่าลืมอย่าไรก็ตามโรคหลอดเลือดสมองต้องไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด‬ อย่าเสียเวลาปฐมพยาบาลแบบผิดๆที่แชร์กันมานะครับ‬‬

ปล.ขอแสดงความยินดีกับ อ.ปิยะมิตร ศรีธรา อาจารย์ที่เป็น idol ของผมในทุกๆเรื่อง ที่ได้รับเลือกเป็น คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น