22 กรกฎาคม 2558

โรคกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน

กระดูกพรุน...ทุกท่านเคยได้ยินไหมครับ กระดูกพรุนเป็นโรคที่โครงสร้างที่เป็นเกลือแร่ของกระดูกลดน้อยถอยลงโดยเฉพาะเกลือแร่แคลเซียมและฟอตเฟต เนื่องจากความไม่สมดุลกันของเซลในการรักษาสมดุลกระดูก. ฟังดูแล้วซับซ้อนนะครับ เอาเป็นว่า มันไม่แข็งแรงเหมือนเดิมก็แล้วกัน โรคนี้เป็นความเสื่อมแบบหนึ่งครับ จะพรุนมากขึ้น เสื่อมมากขึ้นตามอายุ แต่คนเราก็เสื่อมไม่เท่ากันก็เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง ก่อนไปถึงปัจจัยเสี่ยงเรามาดูว่ากระดูกพรุนมันอันตรายอย่างไร

เมื่อกระดูกพรุนสิ่งที่อันตรายคือมันหักง่ายเอามากๆเลยครับ กิจกรรมหรือมูลเหตุใดที่ไม่น่าจะหักก็หักง่าย เช่น ล้มเบาๆแต่สะโพกหัก ก้มหยิบของแล้วสันหลังหัก เอามือเท้าโต๊ะแรงๆแล้วข้อมือหัก คนแก่ๆบางคนนอนขยับๆก็หักยังไม่รู้ตัวเลยครับ แล้วที่แก่หลังโก่งๆนี่ สันหลังหักทั้งนั้นครับ และเมื่อหักแล้วต่อยากด้วยครับไม่ว่าจะเข้าเฝือก ผ่าตัด ดามเหล็ก ซีเมนต์ ทำยากทั้งสิ้น ดังนั้นเราจะป้องกันการหักได้จึงต้องป้องกันทั้งสองมิติคือ ลดกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงการหกล้ม จึงจะสำเร็จครับ รักษากระดูกพรุนอย่างดีแต่ห้องน้ำลื่นมากก็หกล้มได้ครับ

แล้วที่ว่าเสี่ยงๆน่ะมีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงและถ้าท่านมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ก็ควรระวังหรือเข้ารับการประเมินจากอายุรแพทย์ครับ คือ เมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนจากอื่นๆเช่นผ่าตัดเอารังไข่ออก ขาดอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมและวิตะมินดี(น่าแปลกที่ผลงานวิจัยในประเทศเราบอกว่าคนไทยเกือบ80% ขาดวิตะมินดี ทั้งๆที่ร่างกายสังเคราะห์ได้จากแสงแดด) พวกที่ใช้ชีวิตไม่ค่อยขยับ ขาดการออกกำลังกาย ไม่ต้องขั้นอัมพาตนอนติดเตียงหรอกครับ เราๆท่านๆนี่แหละระวังให้ดี. พวกดื่มเหล้าสูบบุหรี่. พวกที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาไทรอยด์ ก็มีโอกาสกระดูกพรุนได้ อันนี้เป็นความเสี่ยงคร่าวๆที่พบบ่อยๆครับ หรือบางทีท่านไปถ่ายภาพเอ็กซเรย์ มีหมออ่านผลว่ากระดูกบางก็มีนะครับ

ในท่านที่เสี่ยงหรือหมอเอ็กซเรย์อ่านฟิล์มว่ามีกระดูกบาง ก็ควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกด้วยเครื่อง dual energy X- ray absorptiometry (DXA) มาตรฐานแล้วเราจะวัดที่กระดูกสันหลังส่วนเอว lumbar spine และที่สะโพก hip bone. แล้วเอาค่าที่เราวัดมาเทียบกับค่ามาตรฐานของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน เพศเดียวกัน ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ตอนนั้นมวลกระดูกมากที่สุดในช่วงชีวิต ค่านั้นจะออกมาเป็นค่าสถิติเทียบค่าของเรากับกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว (t-score) ว่ากระดูกของเราบางหรือพรุน การอธิบายคงต้องใช้ความรู้ทางสถิติมากมาย ช่างมันครับ เอาว่าถ้าค่า t-score ของท่านต่ำกว่า -2.5 ถือว่ากระดูกพรุนครับ. แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาครับ เพราะว่าเรารักษานั้นเพื่อลดอัตราการตายและพิการ รวมทั้งลดโอกาสกระดูกหัก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักว่าที่กระดูกมันพรุนจะต้องดีขึ้น เราพิจารณารักษาถ้าคำนวณโอกาสเกิดอันตรายจากกระดูกหักในช่วง 10 ปีครับโดยใช้อุปกรณ์คือ WHO FRAX calculation tool ที่ใช้ได้ฟรีที่ www.shef.ac.uk ที่มีการคำนวณของเชื้อชาติไทยด้วยครับ หรือดาวน์โหลด app store ครับ ( เสียเงินนะครับ) ถ้าโอกาสกระดูกหักสูงมากกว่าปกติก็อาจพิจารณารักษาครับ

ส่วนการรักษานั้นมีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ยาแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกันทั้งการลดกระดูกหักและผลข้างเคียง ซึ่งจริงๆยังแบ่งออกเป็นกระดูกสันหลัง หรือกระดูกอื่นๆที่ไม่ใช่สันหลัง ยาตัวนี้ลดหลังหักนะ ยาตัวนั้นลดสะโพกหักนะ ยาโน่นลดได้สองแบบเลยนะ กินไอ้นั่นช่วย กินไอ้นี่ดี ผมว่าจะยกยอดไปวันหลังนะครับ เดี๋ยวมันจะเยอะเกินไป ขอให้มีความสุขกันทุกคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น