20 มิถุนายน 2558

โรคงูสวัด

โรคงูสวัด

วันหลังจะมาเล่าความเป็นมาของยานี้ ท่านจะคาดไม่ถึงเลย ผมแนะนำให้ติดตามนะครับ ไม่อย่างนั้นพรุ่งนี้ท่านจะคุยกับเขา "ไม่รู้เรื่อง"

สวัสดีครับ วันนี้เป็นวันศุกร์ ต้องเคลียร์งานพอสมควร เลยเขียนล่าช้าครับ ยังมีอารมณ์ค้างจากโพสต์ที่แล้ว เรื่องความเข้าใจผิดของคนทั่วไป ยังมีอีกโรคครับที่คิดแล้วเสียดายโอกาสจริงๆ นั่นคือ งูสวัดครับ
โรคงูสวัดเป็นโรคที่วินิจฉัยง่ายมาก ชัดเจน ดูด้วยตาได้เลย เป็นตุ่มน้ำใสพาดตามตัวเป็นแนวยาวปวดแสบร้อน ตามชื่องูกระหวัด กร่อนเป็นงูสวัดนั่นเอง ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การวินิจฉัยครับ มันอยู่ที่ความเข้าใจผิด. ในเรื่องการรักษาครับ

1. โรคงูสวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสประเภทหนึ่งครับ ก็จะเป็นเหมือนโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไปคือ เป็นเองหายเอง งูสวัดนี่ก็หายเองได้ครับ แค่ประคับประคองอาการเท่านั้น จำเป็นต้องให้ยาเฉพาะในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น สูงอายุ ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

2. ถึงแม้ว่ารอยโรคที่ผิวหนังจะน่ากลัว และปวดมาก แต่มันก็ไม่ส่งผลรุนแรง ที่ต้องระวังจริงๆ คือ งูสวัดบริเวณใบหน้า ดวงตา ใบหู อวัยวะเพศ ซึ่งอาจ มีกระจกตาเสีย การทรงตัวเสีย หรือติดเชื้อรุนแรง

3. อันตรายที่ยิ่งใหญ่ของงูสวัดคือ การติดเชื้อแทรกซ้อน ส่วนมากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังจากการดูแลแผลไม่ถูกต้อง การดูแลแผลที่ถูกต้องตั้งแต่เป็นตุ่มน้ำใสๆ ตุ่มน้ำแตกออก จนถึงมีน้ำเหลืองซึมๆ ใช้วิธีเดียวกัน คือใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าบางๆ สะอาด ชุบน้ำเกลือล้างแผลที่หาซื้อได้ตามร้านยา หรือน้ำต้มสุก ชุบให้ฉ่ำๆ แล้วโปะแผลเอาไว้ 15 นาที แล้วเอาออก ทำซ้ำ 2 ครั้ง หลังจากนั้น เช็ดแห้ง ไม่ต้องปิดแผล หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ฝุ่นมาก สกปรก ก็ใช้ผ้าก๊อซบางๆ ปิดแผล ( ตอนลอกออก อย่าลืมราดน้ำเกลือก่อนนะครับ เจ็บมากกก) จะช่วยกระตุ้นการหาย และลอกเอาเนื้อตายออกมา

4. ห้ามเป่า อย่างเด็ดขาด เชื้อโรคในปากอาจทำให้ติดเชื้อรุนแรง เกิดแผลเป็น หรือ ปวดเรื้อรังได้. ข้อนี้พบมากที่สุด อันตรายที่สุดครับ

5. ถึงแม้รักษาดีเพียงใด ก็อาจเกิดภาวะ ปวดเรื้อรังตามหลังแผลหายได้ 30 % ส่วนมากเกิดในผู้สูงวัยครับ พวกนี้เป็นการปวดเส้นประสาทครับ ไม่มีอันตรายเท่าไหร่ แต่รำคาญมากๆ เพราะเป็นนาน บางครั้งก็ปวดมาก ต้องรักษาในระยะยาว อาจเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ครับ อย่าลืมว่ามันไม่อันตรายนะครับ จะใช้ยามากๆนานๆ จริงต้องชั่งน้ำหนักกับโทษที่อาจจะเกิดด้วย


ความจริงมีรายละเอียดและข้อมูลอีกมาก แต่ที่พบบ่อยๆและเข้าใจกันผิดมากๆ ก็จะมี 5 อย่างนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น