30 พฤศจิกายน 2567

ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและคอร์สวิธีกินอาหาร

 คุณหมอคะ นี่คือเอกสารวิชาการของผลิตภัณฑ์ของเราค่ะ

ผมลองขอเอกสารอ้างอิงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและคอร์สวิธีกินอาหารของผู้ผลิตยี่ห้อหนึ่งมาดู ผมไม่ได้เฉพาะเจาะจงเอกสารชนิดใด ทำตัวเหมือนผู้สนใจคนหนึ่ง แล้วลองอ่านเอกสารจำนวน 5 ฉบับจากสองผลิตภัณฑ์และหนึ่งคอร์สอาหาร
ผมสรุปข้อสังเกตทั้งห้าเอกสารมาให้นะครับ เผื่อใครมีประสบการณ์แบบเดียวกัน จะได้นำไปใช้
1.การตรวจวัดสารเคมีใดในเลือด ไม่สามารถบอกถึงภาวะสุขภาพได้ครับ สารเคมี ยา หรืออาหาร เมื่อกินเข้าไประยะเวลาหนึ่งแล้วส่งผลต่อสารเคมีใดในเลือด อันนี้เราเรียก surrogate คือตัวกลางการศึกษา อาจจะพอบอกคร่าว ๆ ได้แต่ไม่ได้หมายความว่าสุขภาพดีขึ้นหรือโรคลดลง เช่น กินอาหารนี่แล้ว โคเลสเตอรอลลดลง เม็ดเลือดขาวที่บ่งชี้การอักเสบลดลง ก็อาจจะลดลงจริง แต่ยังไม่สามารถแปลผลไปมากกว่านี้ และแปลผลไม่ได้ว่าจะทำให้สุขภาพดี อัตราการป่วยหรือตายลดลง
2.การศึกษาทางวิทยาศาสตร์จะต้องเฉพาะเจาะจง อะไรที่มีรายละเอียดปลีกย่อย ต้องแจงแจงว่าแต่ละรายละเอียดปลีกย่อยมีผลต่อการศึกษาหรือคิดแยกแล้วมันไปทางเดียวกันกับการศึกษารวมหรือไม่ เช่น การกินมังสวิรัติ ก็ต้องแจงแจงชนิดให้ครบ เช่น มังสวิรัติแบบกินไข่ได้ มังสวิรัติแบบกินไข่และนมได้ มังสวิรัติเคร่งครัด มังสวิรัติยืดหยุ่น และความเป็นจริงแห่งการศึกษาจะจริงแค่กลุ่มที่ศึกษา จะแปลความมากกว่านั้นไม่ได้
3.การศึกษาทั้งหมดที่อ่าน (และส่วนมากที่ผมพบ) เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-section) เก็บข้อมูลย้อนหลัง (retrospective) รวบรวมข้อมูลผู้ที่ใช้สารแต่ไม่ได้มีการเปรียบเทียบ (case series) เช่นบอกว่ารวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้อาหารเสริมนี้ 20 ราย พบว่าสารนี้ในร่างกายดีขึ้น แบบนี้อาจมีอคติได้ เพราะไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเคย
4.ผมเคยอ่านการศึกษาแบบนี้ รูปแบบชุดอาหารที่เขานำเสนอ เปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่กินอาหารปกติ แล้ววัดเทียบมวลไขมัน ผลเลือด แล้วพบว่ากลุ่มที่กินอาหารที่เขานำเสนอมีผลดีกว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดคือ unblind และ allocation เพราะคนที่กินอาหารที่เขาบอกว่าเป็นอาหารสุขภาพก็มักจะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มคนกลุ่มนี้จึงมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าเนื่องจากเขาปฏิบัติตัวแง่อื่นด้วย หรือหากเขาเก็บข้อมูลกลุ่มคนที่กินอาหารสุขภาพตามคอร์ส เทียบกับประชากรปกติ ก็ต้องเข้าใจว่าคนที่จะมาเลือกอาหารสุขภาพ เขามีแนวโน้มจะรักษาสุขภาพดีอยู่แล้ว จึงอาจมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้
5.ก่อนที่เราจะนำผลการศึกษามาใช้กับตัวเรา ดูด้วยว่าเขาศึกษาในกลุ่มประชากรใด เอามาใช้กับเราได้ไหม ไม่ใช่ทำการศึกษาในผู้ป่วยทั่วไป คัดกรองแล้วไม่มีโรค แข็งแรงดี แล้วได้ผล แบบนี้จะมาใช้กับคนที่เป็นเบาหวาน เป็นโรคอ้วน กินยาโรคประจำตัวใด ๆ แบบนี้ผลการศึกษาจะแปลมาถึงคนที่ใช้โดยไม่ตรงกับประชากรที่ศึกษาไม่ได้นะครับ
6.ทั้งห้าเอกสาร ผมลองไปเปิด supplementaryซึ่งเจอแค่วารสารเดียว และไม่ได้อธิบายด้วยว่า คำนวณกลุ่มตัวอย่างแบบไหน แล้วที่ตีพิมพ์นี้ได้ตามเกณฑ์วิชาสถิติไหม เท่าที่อ่านวารสารกลุ่มนี้ มักจะมีกลุ่มตัวอย่างขนาดปริมาณไม่มาก 20-40 คนเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะได้เกณฑ์ตามวิชาสถิติก็ได้นะ แต่ควรจะมีการแสดงให้ดู ไม่อย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่ากรรมวิธีนั้นดีพอ
7.อาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เป็น ultra processed food อย่างแน่นอน สารอาหารที่ระบุในฉลากก็คงจะตรงตามที่แจ้งแน่นอน แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า องค์ประกอบอื่นที่เพิ่มเข้ามา กระบวนการอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้ามามันจะส่งผลหรือไม่ ไม่ว่าการเอาอาหารมาผ่านกรรมวิธี ย่อย ปั่น ผสม บด ใช้สารเคมี ความร้อน แรงดัน เพื่อให้ได้ตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ มันจะห่างไกลจากแนวทางอาหารที่นานาชาติแนะนำคือ ลด processed food ให้มากที่สุด ประเด็นนี้ก็น่าคิด
8.บางผลิตภัณฑ์ เอาเอกสารทางยาและการจดทะเบียนของ สารเดียวกันยี่ห้ออื่น เช่นเอาเอกสารรับรอง เบต้าแคโรทีน ให้ใช้เป็นอาหารเสริมได้จากต่างประเทศ แล้วมาบอกว่าผลิตภัณฑ์ฉันก็เบต้าแคโรทีนนะ อ้างอิงเหมือนกัน เอาล่ะ มันไม่ใช่ยาที่จะต้องทำการทดสอบความเท่ากัน (bio-equilavent study) และการจดทะเบียนอาหารเสริมก็ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนยา แต่จะมาอ้างอิงทุบดินแบบนี้ ผมว่าก็ไม่ดี เพราะรูปแบบไม่เหมือนกัน
มันก็คงไม่ใช่ทุกคนที่มาอ่านเอกสารแบบนี้ ผมก็ไม่ได้อยากจะไปแฉหรือวิจารณ์ใด ๆ แค่อยากรู้ว่าในฐานะคนทั่วไป เราจะสามารถรู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ระดับใดบ้าง เขาเอาอะไรมาให้เราผู้บริโภคดูบ้าง
ผมว่าอนาคต อาชีพ ที่ปรึกษาสุขภาพ แบบที่ต้องอบรมและสอบ คงจะต้องมาแน่ คล้าย ๆ ที่ปรึกษาการเงิน ท่ามกลางข้อมูลมหาศาลแบบนี้เราต้องมีสติ คิดวิเคราะห์แยกแยะให้ดีนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น