เมื่อเช้าเจองู เลยมาเล่าสู่กันฟัง
1.งูเขียวหางไหม้ มีพิษต่อระบบแข็งตัวเลือด นับว่าพิษอ่อน และการกัดทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดพิษ แต่มักจะบวมแดงจากการกัดและเอนไซม์สลายเนื้อเยื่อในน้ำลายงู
2.พิษงูเขียวหางไหม้ ทำหน้าที่คล้ายโปรตีน thrombin ในร่างกาย แล้วโปรตีนทรอมบิน ทำอะไร มันไปเปลี่ยนโปรตีน fibrinogen ที่ล่องลอยอยู่ ให้กลายเป็น fibrin เพื่อเอาไฟบรินไปเกาะที่รอยแผล เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดรอยแผลและหยุดเลือด
3.แต่พิษงูเขียวหางไหม้ มันแค่คล้าย มันสามารถไปเร่งการเปลี่ยน fibrinogen ให้เกิดเป็น fibrin อย่างมากมาย ที่สำคัญคือเป็น fibrin ไม่สมประกอบด้วย เจ้าไฟบรินที่ได้มานี้มันจะไม่มี fibrinopeptide A ส่วนสำคัญที่จะไปเกาะร่างประสานเป็นลิ่มเลือด
4.ทำให้เมื่อเกิดพิษจากงูเขียวหางไหม้ จะมีการสลาย fibrinogen มากมายจนเกิด hypofribrinogenemia หรือ fibrinogen ต่ำมาก การตรวจวัดระดับ fibrinogen จึงเป็นการตรวจว่าเกิดพิษหรือไม่ มีความไวความจำเพาะสูงมาก ข้อเสียคือทำยาก ทำได้ไม่กี่ที่ในไทย
5.และที่มันเลือดออก ก็เพราะ fibrinogen ก็หมด แถม fibrin ที่ได้ก็ไม่เกาะกลุ่มกัน ไม่ทำงานเสียอีก วัตถุดิบก็หมด ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็เสีย จึงเกิดภาวะขาดการแข็งตัวเลือดอย่างรุนแรง เลือดจึงออกง่าย หรือออกเองได้เลย
6.การตรวจเลือดที่ดีมากคือ ระดับ fibrinogen มันทำยาก ก็มาถึงการตรวจต่อไปคือการตรวจ thrombin clotting time หรือ thrombin time ที่หากเวลาการแข็งตัวเลือดยาวนานจากการทดสอบนี้ แสดงว่ากระบวนการ fibrinolysis ผิดปกติ หนึ่งในนั้นคือการขาด fibrinogen ซึ่งตรงกับข้อ 4 แต่การตรวจ thrombin time ก็นานและทำได้ไม่ทุกที่
7.ก็มาถึงการตรวจที่นิยมทำ คือ 20 minutes whole blood clotting time เจาะเลือดตั้งทิ้งไว้ 20 นาที ถ้าเลือดไม่แข็ง จะสัมพันธ์กับระดับ fibrinogen ที่ต่ำโดยเฉพาะถ้า fibrinogen ต่ำกว่า 100 อันนี้มีความจำเพาะถึงเกือบ 100% จึงบอกได้ว่าถ้างูเขียวหางไหม้กัด แล้วทำการทดสอบนี้และผลบวกคือเลือดไม่จับตัว โอกาสเกิดพิษสูงมาก แนะนำใช้ยาต้านพิษได้
Tongpoo A, Niparuck P, Sriapha C, Wananukul W, Trakulsrichai S. Utility of Thrombin Time in Management of Patients with Green Pit Vipers Bite. SAGE Open Med. 2020 Oct 21;8:2050312120966468. doi: 10.1177/2050312120966468. PMID: 35154756; PMCID: PMC8826260.
8.แต่การให้ยาต้านพิษ คือ แอนติบอดี ที่จะไปจับกับโปรตีนพิษงู เพื่อทำให้พิษงูไม่ทำงาน แอนติบอดีนี้มาจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ จึงมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง และรุนแรงกว่าพิษงูได้ การใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและใช้เมิ่อถึงที่สุดแห่งความจำเป็นเท่านั้น **ไม่จำเป็นต้องได้เซรุ่มต้านพิษงูทุกราย**
9.ในกรณีเกิดพิษ + เลือดออก + ไม่มียาต้านพิษ มีการรวบรวมการศึกษาอยู่บ้าง ปริมาณน้อยและไม่ได้เป็นการทดลอง พบว่า การใช้สารแข็งตัวเลือด FFP, PCC ช่วยหยุดเลือดได้ แต่ไม่ได้ทำให้กระบวนการเกิดพิษมันหยุดลง ต้องรอพิษหมดจึงจะดีขึ้น แต่ส่วนมากการศึกษาทำในงูแมวเซานะครับ เพราะความรุนแรงมากกว่างูเขียวหางไหม้
10. อ่านมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าทุกคนคงมีคำถามเดียวกัน ที่อยากรู้ที่สุดคือ …ทะเบียนรถผมเลขอะไร…ใช่ไหมครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น