การตัดสินใจไม่กู้ชีวิต (do not resuscitation)
ในผู้ป่วยที่สติสัมปชัญญะดี อาจจะทำเป็น living will เมื่อถึงคราวจำเป็นแก่ตัวเอง
ในผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ทายาทผู้รับผิดชอบเช่น คู่สมรส บุตร บิดามารดา อาจให้คำมั่นลงชื่อกับทีมแพทย์ได้
แต่หากมีการกู้ชีพ การกดหน้าอก การใส่ท่อช่วยหายใจ การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า ก็จะไม่ทำ หรือหากตกลงไม่ทำหัตถการอันรุกล้ำ ก็จะงดทำ เช่น การฟอกเลือดทางหลอดเลือด การใส่สายสวนหลอดเลือด
โดยก่อนจะตกลง ทีมแพทย์ ทีมญาติ จะคุยตกลงข้อดีข้อเสีย และไต่ถามข้อสงสัยจนหมดสิ้นกระบวนความ จึงตกลงกัน
แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่บางครั้งการเปลี่ยนแปลงภายหลัง อาจทำได้ยากตามสภาพโรคที่เปลี่ยนไป จึงควรตกลงไตร่ตรองให้ดีก่อน
แล้วเราจะตัดสินใจไม่กู้ชีวิตในผู้ป่วยลักษณะใด ผมขอตอบตามประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตและจากประสบการณ์ส่วนตัว
1. ผู้ป่วยที่มีโรคอันไม่สามารถรักษาได้ ด้วยมูลเหตุใดก็ตาม ไม่แค่ตัวโรครุนแรงเท่านั้น อาจจะหมายถึงสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะรักษา หรือ ไม่สามารถพาไปรักษาได้
2. หากกู้ชีวิตแล้ว คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นจากเดิม เช่น ติดเตียงอยู่แล้ว หรือ ไม่สามารถถอดช่วยหายใจได้
3. การกู้ชีวิตนั้น เป็นการยื้อความตาย มากกว่ายื้อชีวิต เช่น ไม่สามารถลดยากระตุ้นความดันได้เลย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอด
ทั้งนี้ประเด็นที่สำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความสามารถของผู้ดูแลต่อเนื่อง เวลา สถานที่ เงินทอง สภาพร่างกาย
แพทย์และทีมผู้ดูแล จะไม่ทำการตัดสินใจ แต่จะให้ข้อมูลด้วยความเป็นกลาง วางอุเบกขาที่แท้จริง ลดอคติในการตัดสินใจของญาติ
และไม่มีการตัดสินใจใดหรือผู้ใด ตัดสินใจผิดพลาด คุยกันให้กระจ่าง แล้วเดินหน้า อย่าโทษกัน
แล้วชีวิตหลังความตายของผู้วายชนม์จะสันติสุข เพราะรอยยิ้มทั้งน้ำตาของผู้อยู่ด้านหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น